backup og meta

ขมิ้น ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ขมิ้น ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ขมิ้น เป็นพืชล้มลุกในตระกูลขิง มีเหง้าสีเหลืองสด จัดเป็นเครื่องเทศที่นิยมนำมาใช้ปรุงเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงชนิดต่าง ๆ รวมถึงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะในแถบทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย ไทย จีน ญี่ปุ่น ตุรกี ทั้งสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ผงขมิ้น อาหารเสริม

ทั้งนี้ ขมิ้นประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น แมงกานีส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี โดยสารสำคัญในขมิ้นคือ เคอร์คิวมิน (Curcumin) ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่า อาจมีคุณสมบัติช่วยต้านมะเร็ง ลดอาการอักเสบของร่างกาย และป้องกันโรคอัลไซเมอร์

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ ขมิ้น

ขมิ้น 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 312 กิโลแคลอรี ประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 67.1 กรัม
  • โปรตีน 9.68 กรัม
  • ไขมัน 3.25 กรัม
  • โพแทสเซียม 2,080 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 299 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 208 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 168 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 55 มิลลิกรัม
  • โคลีน (Choline) 42.9 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 27 มิลลิกรัม
  • แมงกานีส 19.8 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ขมิ้น ยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น ซีลีเนียม (Selenium) สังกะสี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค โฟเลต (Folate)

ประโยชน์ของขมิ้นต่อสุขภาพ

ขมิ้น ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของขมิ้น ดังนี้

  1. อาจช่วยต้านมะเร็ง

สารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ในขมิ้นมีคุณสมบัติชะลอการแพร่กระจายเนื้อร้าย เหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง และยับยั้งวัฏจักรของเซลล์มะเร็ง การบริโภคขมิ้น จึงอาจช่วยต้านมะเร็งได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยการค้นพบและคุณสมบัติของเคอร์คิวมิน ที่เผยแพร่ในวารสาร Clinical and Experimental Pharmacology and Physiology ปี พ.ศ. 2555 ได้ทำการวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการและในกลุ่มอาสาสมัครทั้งผู้ที่เป็นเนื้องอกและผู้ที่เป็นมะเร็งตับอ่อน นักวิจัยพบว่า เคอร์คิวมินอาจมีคุณสมบัติเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยกลไกการทำงานหลัก ๆ คือ การกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง รวมถึงยับยั้งพัฒนาการและการเพิ่มจำนวนของเซลล์ อีกทั้งเคอร์คิวมินยังมีคุณสมบัติกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อการรักษาแบบยาเคมีบำบัดได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ชนิดของเซลล์มะเร็งที่เคอร์คิวมินอาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตได้ ประกอบด้วยเซลล์ของมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งช่องปาก และเซลล์ของเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูก ดังนั้น การบริโภคเคอร์คิวมินจึงอาจช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณสมบัติของเคอร์คิวมินในขมิ้นในการต้านมะเร็ง

  1. อาจช่วยบรรเทาโรคข้อเข่าเสื่อม

ขมิ้นอุดมไปด้วยสารเคอร์คิวมินที่มีคุณสมบัติยับยั้งการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย การบริโภคขมิ้นจึงอาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย รวมถึงความปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อมซึ่งพบได้ทั่วไปในผู้สูงอายุ

การศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของเคอร์คิวมินและยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Trials ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยสุ่มให้กลุ่มอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม 139 รายบริโภคเคอร์คิวมินในรูปแบบอาหารเสริม วันละ 3 ครั้ง หรือยาไดโคลฟีแนค วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 28 วันเท่า ๆ กัน เพื่อวัดผลเปรียบเทียบ เมื่อครบกำหนดเวลา นักวิจัยพบว่า ในวันที่ 14 และ 28 ของการทดลอง อาการเจ็บหัวเข่าของอาสาสมัครกลุ่มที่บริโภคเคอร์คิวมินดีขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มที่บริโภคยาไดโคลฟีแนค นักวิจัยให้ข้อเสนอแนะว่า เคอร์คิวมินอาจใช้เป็นตัวเลือกในการบรรเทาโรคข้อเข่าเสื่อมได้

อาจสรุปได้ว่า เคอร์คิวมิน มีคุณสมบัติต้านการอักเสบของร่างกาย เช่นเดียวกับยาแก้ปวดซึ่งใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ดังนั้น การบริโภคขมิ้นจึงอาจมีส่วนช่วยบรรเทาโรคข้อเข้าเสื่อมได้

  1. อาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

สารเคอร์คิวมินในขมิ้น มีคุณสมบัติส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือดสมองและจุดประสานประสาทให้ดำเนินไปอย่างปกติ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ การบริโภคขมิ้นจึงอาจช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับกลไกของเคอร์คิวมินในโรคอัลไซเมอร์ ที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Alzheimer’s Disease ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยศึกษาข้อมูลจากผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการหลาย ๆ ชิ้น ได้ข้อสรุปว่า เคอร์คิวมินและสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) จากขมิ้นอาจมีกลไกป้องกันโรคอัลไซเมอร์

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของขมิ้นในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์นั้นยังมีข้อจำกัด เนื่องจากปริมาณของตัวยาจากสารเคอร์คิวมินและสารโพลีฟีนอลที่สามารถบริโภคเข้าสู่ร่างกายได้นั้นค่อนข้างต่ำ หากสามารถหาวิธีแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวได้ การใช้ประโยชน์จากสารเคอร์คิวมินต่อโรคอัลไซเมอร์อาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  1. อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

เคอร์คิวมินในขมิ้น มีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระซึ่งก่อให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชั่น (Oxidative Stress) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ เคอร์คิวมินยังมีคุณสมบัติเสริมสร้างการทำงานของผนังเส้นเลือด (Endothelium) ให้แข็งแรง การบริโภคขมิ้นจึงอาจช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการบริโภคเคอร์คิวมินและการออกกำลังกายเพื่อส่งเสริมการทำงานของผนังหลอดเลือดในผู้หญิงวัยทอง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition Research ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยได้แบ่งอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้หญิงวัยทองจำนวน 32 รายออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคเคอร์คิวมิน กลุ่มที่ 2 ให้ออกกำลังกายแบบหนักปานกลาง กลุ่มที่ 3 ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์เท่า ๆ กัน

เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทดลอง นักวิจัยได้ตรวจการขยายตัวของหลอดเลือด พบว่า ผลตรวจของกลุ่มที่บริโภคเคอร์คิวมินและกลุ่มที่ออกกำลังกาย เป็นไปในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับผลตรวจก่อนทำการทดลอง ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคเคอร์คิวมินหรือออกกำลังกาย ไม่พบการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

นักวิจัยจึงสรุปว่า การบริโภคเคอร์คิวมินและการออกกำลังกายช่วยเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือดที่ถูกปิดกั้นการไหลเวียน และอาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือดซึ่งมักแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น และอาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ในเวลาเดียวกัน

ข้อควรระวังในการบริโภค ขมิ้น

แม้ขมิ้นจะมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงร่างกายและอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ แต่การบริโภคขมิ้น มีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

  • ไม่ควรบริโภคขมิ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมในการบริโภค คือ วันละ 8 กรัม เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน หรือวันละ 3 กรัม เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ ผลข้างเคียงที่อาจพบได้เมื่อบริโภคขมิ้นติดต่อกันเป็นเวลานานหรือในปริมาณที่มากเกินไป ได้แก่ ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ และมึนงง
  • การบริโภคขมิ้นอาจทำให้เลือดจาง ดังนั้น จึงไม่ควรบริโภคขมิ้นควบคู่กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน (Warfarin) นอกจากนี้ ขมิ้นอาจทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง ซึ่งจะส่งผลให้เสียเลือดมากกว่าปกติระหว่างผ่าตัด ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดจึงควรงดเว้นการบริโภคขมิ้น และควรปรึกษาคุณหมอหากกำลังรับประทานอาหารเสริมขมิ้น
  • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การบริโภคขมิ้นในปริมาณมาก อาจกระตุ้นการทำงานของมดลูก และส่งผลเสียต่อครรภ์ นอกจากนี้ หญิงในระยะให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคขมิ้นในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนว่าการบริโภคขมิ้นระหว่างให้นมบุตรนั้นปลอดภัย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Spices, turmeric, ground. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/172231/nutrients. Accessed June 1, 2022

Discovery of Curcumin, a Component of the Golden Spice, and Its Miraculous Biological Activities. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3288651/. Accessed June 1, 2022

Safety and efficacy of curcumin versus diclofenac in knee osteoarthritis: a randomized open-label parallel-arm study.

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30975196/. Accessed June 1, 2022

Use of curcumin in diagnosis, prevention, and treatment of Alzheimer’s disease. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5950688/#:~:text=For%20prevention%20and%20treatment%20of,the%20risk%20of%20Alzheimer’s%20disease. Accessed June 1, 2022

งานวิจัยล่าสุดที่อาจนำไปสู่ยารักษาโรคอัลไซเมอร์. https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30139. Accessed June 1, 2022

The Mechanisms of Action of Curcumin in Alzheimer’s Disease. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28527218/. Accessed June 1, 2022

เข้าใจและเข้าถึงผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์. https://he01.tci-thaijo.org/index.php/CUTJ/article/view/241503. Accessed June 1, 2022

Curcumin ingestion and exercise training improve vascular endothelial function in postmenopausal women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23146777/. Accessed June 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/04/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขมิ้นกับข้ออักเสบ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

บำรุง ขอบตาดำ ให้กลับมาไบรท์ ด้วยสูตรนมเปรี้ยวผสมขมิ้น


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา