backup og meta

ทอรีน คือ อะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ทอรีน คือ อะไร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

ทอรีน (Taurine) คือ กรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้หรือที่เรียกว่า กรดอะมิโนชนิดไม่จำเป็น พบมากในเซลล์ประสาท จอประสาทตา และกล้ามเนื้อหัวใจ มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นประสาท ช่วยควบคุมระดับความดันเลือด และอาจช่วยต้านโรคเบาหวานและภาวะหัวใจวายได้ แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยทอรีน ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา และไข่ ทั้งนี้ ควรบริโภคทอรีนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

[embed-health-tool-bmr]

ทอรีน คือ อะไร

ทอรีน คือ กรดอะมิโนชนิดไม่จำเป็น หรือกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองได้ พบได้ทั่วไปในเนื้อเยื่อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทอรีนเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการทำงานของสมองและหัวใจ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยควบคุมระดับสารสื่อประสาท หากร่างกายมีทอรีนในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยรักษาความสมดุลของร่างกาย ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเนื่องจากทอรีนช่วยลดความดันเลือดและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับระบบประสาท

อาหารที่อุดมไปด้วย ทอรีน

อาหารที่อุดมไปด้วยทอรีน อาจมีดังนี้

  • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ตับหมู โดยเฉพาะเนื้อบริเวณน่องสัตว์ปีก
  • อาหารทะเล โดยเฉพาะหอย
  • ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว
  • สาหร่ายทะเล โดยเฉพาะสาหร่ายแดง
  • อาหารเสริมทอรีน ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจบริโภคอาหารเสริมทอรีน

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ทอรีน

ทอรีน อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ของทอรีน ดังนี้

อาจช่วยเรื่องสุขภาพหัวใจ

ทอรีนเป็นกรดอะมิโนที่อาจช่วยลดระดับความดันเลือดได้ เนื่องจากช่วยลดความต้านทานของการไหลเวียนของเลือดในผนังหลอดเลือด และช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยให้สุขภาพของหัวใจแข็งแรง อาจมีส่วนช่วยควบคุมความดันเลือด และช่วยปรับปรุงการทำงานของหัวใจและระดับไขมันในเลือดในผู้ที่มีภาวะหัวใจเช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Hypertension เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริมทอรีนเพื่อช่วยลดความดันเลือดและปรับปรุงการทำงานของหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันเลือดสูงก่อนวัยอันควร โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวน 120 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานทอรีน 1.6 กรัม/วัน และกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอก เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ผู้ที่มีระดับความดันเลือดเกือบสูงที่รับประทานทอรีน 1.6 กรัมต่อวัน มีความดันโลหิตลดลงมากกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก โดยความดันเลือดตัวบนหรือความดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว ลดลง 7.2 มิลลิเมตรปรอท ส่วนความดันเลือดตัวล่างหรือความดันเลือดที่ต่ำสุดขณะหัวใจคลายตัวเต็มที่ลดลง 4.7 มิลลิเมตรปรอท

จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานอาหารเสริมทอรีนมีส่วนช่วยปรับปรุงการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้หลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น และอาจใช้รักษาภาวะก่อนความดันเลือดสูง (Prehypertension) ได้

อาจช่วยต้านโรคเบาหวาน

ทอรีนอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ ด้วยการส่งเสริมการทำงานของหลอดเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้ด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Amino Acids เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับผลเชิงบวกของทอรีนในการรักษาโรคเบาหวาน โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยในมนุษย์และสัตว์ทดลองในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง พบว่า ทอรีนช่วยควบคุมความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยปรับปรุงการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน ทั้งยังช่วยปรับปรุงการทำงานของกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากตับอ่อนที่ช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต จึงอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานลดลงได้

อาจช่วยปกป้องดวงตา

ทอรีนเป็นกรดอะมิโนที่พบมากที่สุดในจอประสาทตา มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยลดการเกิดภาวะเครียดออกซิเดชันที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อดวงตาเสียหายและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม การได้รับทอรีนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกจากเบาหวานที่ทำให้เลนส์ตาทึบแสงจนผู้ป่วยตาบอดถาวร

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutritional Science and Vitaminology เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของทอรีนในการป้องกันความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันเมื่อเป็นโรคต้อกระจกจากระดับน้ำตาลกลูโคสสูง พบว่า ทอรีนอาจช่วยสำรองสำรองกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจกได้ด้วยการป้องกันเลนส์ตาเสียหายจากภาวะเครียดออกซิเดชันจากน้ำตาลลูโคสในเลือดสูง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการทดลองในสัตว์ จึงควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของทอรีนในการช่วยป้องกันดวงตาเสียหายจากภาวะเครียดออกซิเดชันเนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงได้

ข้อควรระวังในการบริโภคทอรีน

การบริโภคทอรีนในปริมาณที่เหมาะสมมักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยปริมาณในการบริโภคทอรีนในรูปแบบอาหารเสริมอยู่ที่ 3-6 กรัม/วัน และไม่ควรบริโภคร่วมกับยาลดความดันเลือด เนื่องจากทอรีนอาจไปเสริมฤทธิ์ยา จนทำให้ระดับความดันเลือดต่ำเกินไปได้ และไม่ควรรับประทานทอรีนในรูปแบบอาหารเสริมร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนด้วย นอกจากนี้ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของทอรีน เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง มักมีปริมาณน้ำตาลและคาเฟอีนสูง จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อป้องกันร่างกายได้รับน้ำตาลและคาเฟอีนมากเกินไป

การรับประทานทอรีนเกินขนาดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้

  • ภาวะสมดุลไนโตรเจนในร่างกายเป็นลบ (Negative nitrogen balance) คือ ภาวะที่ขับไนโตรเจนออกจากร่างกายมากกว่าปริมาณได้รับจากอาหาร ส่งผลให้ร่างกายนำโปรตีนในร่างกายมาใช้ ทำให้ไม่สามารถสร้างกล้ามเนื้อได้เท่าที่ควร
  • ปัญหาการเจริญเติบโตในเด็ก
  • ไตเสียหาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Is Taurine?. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/what-is-taurine. Accessed June 17, 2022

Taurine Supplementation Lowers Blood Pressure and Improves Vascular Function in Prehypertension: Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26781281/. Accessed June 17, 2022

Ameliorative effects of taurine against diabetes: a review. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29492671/. Accessed June 17, 2022

Taurine prevents oxidative damage of high glucose-induced cataractogenesis in isolated rat lenses. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17934237/. Accessed June 17, 2022

Taurine – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1024/taurine. Accessed June 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/07/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 อาหารสร้างภูมิคุ้มกัน มีอะไรบ้าง

ปัญหาสุขภาพตา ที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 12/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา