backup og meta

น้ำเต้า ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

น้ำเต้า ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

น้ำเต้า เป็นพืชล้มลุกในตระกูลแตง เช่นเดียวกับฟักทอง ฟัก เป็นต้น มีใบหยัก ผลเป็นสีเขียว เปลือกหนา รูปร่างแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงคล้ายขวดน้ำ ทรงกลม ทรงรียาว น้ำเต้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ เปลือก และเนื้อ น้ำเต้ามีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย มีสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งน้ำเต้ายังมีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันในเลือด ช่วยขับปัสสาวะ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตได้ ทั้งนี้ ควรบริโภคน้ำเต้าในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

คุณค่าทางโภชนาการของ น้ำเต้า

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า น้ำเต้าปริมาณ 100 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 95.5 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 14 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 3.39 กรัม
  • ไฟเบอร์ 0.5 กรัม
  • โปรตีน 0.62 กรัม
  • ไขมัน 0.02 กรัม
  • เหล็ก 26 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ในน้ำเต้ายังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลากหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 สังกะสี ทองแดง แมงกานีส ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย

ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำเต้า

น้ำเต้า อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของน้ำเต้า ดังนี้

ช่วยลดระดับไขมันในเลือด

น้ำเต้ามีสารประกอบ เช่น สารฟลาโวนอยด์ ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และลดคอเลสเตอรอลในเลือด อีกทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ ในน้ำเต้า เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ยังช่วยควบคุมความดันโลหิต รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Evidence-Based Integrative Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ศึกษาเรื่อง ความสามารถในการลดไขมันและต้านอนุมูลอิสระในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงของสารสกัดจากน้ำเต้า พบว่า สารฟลาโวนอยด์ในน้ำเต้าช่วยควบคุมไขมันในเลือด โดยสารฟลาโวนอยด์ที่กินเข้าไปจะถูกย่อยสลายเป็นกรดฟีนอลิก (Phenolic acid) ที่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ และช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้

มีส่วนช่วยลดภาวะนิ่วในไต

การรับประทานน้ำเต้าทำให้ปริมาณโซเดียมออกซาเลต (Sodium oxalate) ลดลง ป้องกันการสะสมของผลึกในท่อไตที่ทำให้เกิดนิ่วได้ ซึ่งออกซาเลต (Oxalate) เป็นสารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม และทำให้มีหินปูนแคลเซียมและสารเคมีอื่น ๆ เช่น กรดยูริก (Uric acid) สะสมในปัสสาวะมากเกินไป อันเป็นสาเหตุของภาวะนิ่วในไต

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Saudi Journal of Biomedical Research เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ศึกษาเรื่อง สรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการของน้ำเต้า พบว่า การรับประทานน้ำเต้าช่วยให้ตับทำงานได้เป็นปกติ ช่วยลดระดับยูเรีย และควบคุมระดับของกรดยูริก จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับ และโรคระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากระดับแคลเซียมและสารเคมีผิดปกติได้

มีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ

น้ำเต้าเป็นพืชฉ่ำน้ำ การรับประทานน้ำเต้าในปริมาณที่เหมาะสมจึงส่งผลดีต่อการขับปัสสาวะ อีกทั้งสารพฤกษเคมีในน้ำเต้า เช่น สารสติกมาสเตอรอล (Stigmasterol) สารไอโซฟูคอสเตอรอล (Isofucosterol) ยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติที่ช่วยขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ayurveda and Integrative Medicine ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเรื่อง สารพฤกษเคมีและสรรพคุณทางยาของน้ำเต้า พบว่า น้ำเต้าอบแห้งและสารสกัดเมทานอล (Methanol) ที่สกัดมาจากน้ำเต้าช่วยกระตุ้นการขับปัสสาวะ เมื่อประเมินปริมาณปัสสาวะและความเข้มข้นของโซเดียม โพแทสเซียม และคลอไรด์ในปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้เป็นผลการทดลองในสัตว์ ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ในการขับปัสสาวะในมนุษย์ของน้ำเต้าต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภค น้ำเต้า

ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำเต้า อาจมีดังนี้

  • น้ำเต้ามีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรระมัดระวังในการบริโภค เมื่อรับประทานในเวลาใกล้เคียงกับยารักษาโรคเบาหวาน เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  • หากลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นมากเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำเต้าดิบหรือน้ำเต้าคั้นสด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการอาเจียน ปวดท้อง หรือท้องร่วงได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lipid-lowering and antioxidant functions of bottle gourd (Lagenaria siceraria) extract in human dyslipidemia. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24647091/. Accessed April 27, 2022

Diuretic activity of Lagenaria siceraria fruit extracts in rats. https://www.ijcap.org/journal-article-file/5004. Accessed April 27, 2022

Lagenaria siceraria (bottle gourd). https://www.cabi.org/isc/datasheet/30556. Accessed April 27, 2022

Bottle Gourd (Lagenaria siceraria). https://onlinelibrary.wiley.com/doi/pdf/10.1002/9781119158042.ch42. Accessed April 27, 2022

Medicinal and nutritional importance of Lagenaria siceraria (Lauki). https://saudijournals.com/media/articles/SJBR_72_67-73.pdf. Accessed April 27, 2022

Gourd, white-flowered (calabash), raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/169232/nutrients. Accessed April 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/05/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อยากให้สมองมีสุขภาพดี ไม่ยาก แค่ใช้ สมุนไพรบำรุงสมอง

กินผักตามฤดูกาล หลักในการกินง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณมีสุขภาพดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา