backup og meta

น้ำเต้า ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

    น้ำเต้า ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    น้ำเต้า เป็นพืชล้มลุกในตระกูลแตง เช่นเดียวกับฟักทอง ฟัก เป็นต้น มีใบหยัก ผลเป็นสีเขียว เปลือกหนา รูปร่างแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น ทรงคล้ายขวดน้ำ ทรงกลม ทรงรียาว น้ำเต้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ เปลือก และเนื้อ น้ำเต้ามีวิตามินและแร่ธาตุมากมาย มีสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งน้ำเต้ายังมีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันในเลือด ช่วยขับปัสสาวะ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตได้ ทั้งนี้ ควรบริโภคน้ำเต้าในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

    คุณค่าทางโภชนาการของ น้ำเต้า

    ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2562 ระบุว่า น้ำเต้าปริมาณ 100 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 95.5 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 14 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 3.39 กรัม
  • ไฟเบอร์ 0.5 กรัม
  • โปรตีน 0.62 กรัม
  • ไขมัน 0.02 กรัม
  • เหล็ก 26 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ ในน้ำเต้ายังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลากหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 สังกะสี ทองแดง แมงกานีส ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำเต้า

    น้ำเต้า อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของน้ำเต้า ดังนี้

    ช่วยลดระดับไขมันในเลือด

    น้ำเต้ามีสารประกอบ เช่น สารฟลาโวนอยด์ ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และลดคอเลสเตอรอลในเลือด อีกทั้งแร่ธาตุอื่น ๆ ในน้ำเต้า เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ยังช่วยควบคุมความดันโลหิต รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานด้วย

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Evidence-Based Integrative Medicine เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ศึกษาเรื่อง ความสามารถในการลดไขมันและต้านอนุมูลอิสระในผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงของสารสกัดจากน้ำเต้า พบว่า สารฟลาโวนอยด์ในน้ำเต้าช่วยควบคุมไขมันในเลือด โดยสารฟลาโวนอยด์ที่กินเข้าไปจะถูกย่อยสลายเป็นกรดฟีนอลิก (Phenolic acid) ที่สามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ และช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้

    มีส่วนช่วยลดภาวะนิ่วในไต

    การรับประทานน้ำเต้าทำให้ปริมาณโซเดียมออกซาเลต (Sodium oxalate) ลดลง ป้องกันการสะสมของผลึกในท่อไตที่ทำให้เกิดนิ่วได้ ซึ่งออกซาเลต (Oxalate) เป็นสารที่ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม และทำให้มีหินปูนแคลเซียมและสารเคมีอื่น ๆ เช่น กรดยูริก (Uric acid) สะสมในปัสสาวะมากเกินไป อันเป็นสาเหตุของภาวะนิ่วในไต

    จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Saudi Journal of Biomedical Research เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ศึกษาเรื่อง สรรพคุณทางยาและคุณค่าทางโภชนาการของน้ำเต้า พบว่า การรับประทานน้ำเต้าช่วยให้ตับทำงานได้เป็นปกติ ช่วยลดระดับยูเรีย และควบคุมระดับของกรดยูริก จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคตับ และโรคระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดจากระดับแคลเซียมและสารเคมีผิดปกติได้

    มีส่วนช่วยในการขับปัสสาวะ

    น้ำเต้าเป็นพืชฉ่ำน้ำ การรับประทานน้ำเต้าในปริมาณที่เหมาะสมจึงส่งผลดีต่อการขับปัสสาวะ อีกทั้งสารพฤกษเคมีในน้ำเต้า เช่น สารสติกมาสเตอรอล (Stigmasterol) สารไอโซฟูคอสเตอรอล (Isofucosterol) ยังมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติที่ช่วยขับน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ayurveda and Integrative Medicine ฉบับเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2553 ศึกษาเรื่อง สารพฤกษเคมีและสรรพคุณทางยาของน้ำเต้า พบว่า น้ำเต้าอบแห้งและสารสกัดเมทานอล (Methanol) ที่สกัดมาจากน้ำเต้าช่วยกระตุ้นการขับปัสสาวะ เมื่อประเมินปริมาณปัสสาวะและความเข้มข้นของโซเดียม โพแทสเซียม และคลอไรด์ในปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้เป็นผลการทดลองในสัตว์ ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ในการขับปัสสาวะในมนุษย์ของน้ำเต้าต่อไป

    ข้อควรระวังในการบริโภค น้ำเต้า

    ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำเต้า อาจมีดังนี้

    • น้ำเต้ามีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรระมัดระวังในการบริโภค เมื่อรับประทานในเวลาใกล้เคียงกับยารักษาโรคเบาหวาน เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
    • หากลำไส้ไวต่อสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นมากเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำเต้าดิบหรือน้ำเต้าคั้นสด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการอาเจียน ปวดท้อง หรือท้องร่วงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา