backup og meta

ประโยชน์ของสับปะรด และข้อควรระวังในการบริโภค

ประโยชน์ของสับปะรด และข้อควรระวังในการบริโภค

สับปะรดเป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีรูปร่างของผลเป็นเอกลักษณ์ นิยมนำมารับประทานทั้งแบบสดและแบบประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ข้าวผัดสับปะรด ซุปไก่สับปะรดขิง น้ำสับปะรด สับปะรดอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น วิตามินบี วิตามินซี แคลเซียม แมกนีเซียม ประโยชน์ของสับปะรด ต่อร่างกาย เช่น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ทั้งนี้ ควรบริโภคสับปะรดในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

คุณค่าโภชนาการของสับปะรด

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า สับปะรด 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 50 กิโลแคลอรี่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 86 กรัม และอุดมไปด้วยสารอาหาร  เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 13.1 กรัม
  • น้ำตาลซูโครส 5.99 กรัม
  • โปรตีน 0.54 กรัม
  • ไขมัน 0.12 กรัม
  • วิตามินซี 47.8 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ สับปะรดยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น โซเดียม ทองแดง ซีลีเนียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังเป็นแหล่งของบรอมีเลน (Bromelain) ซึ่งเป็นเอนไซม์ตามธรรมชาติที่สามารถพบได้ทุกส่วนของสับปะรด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการบวมของอวัยวะในร่างกายได้

ประโยชน์ของสับปะรด

สับปะรดอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของสับปะรด ดังนี้

อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้

ประโยชน์ของสับปะรด มาจากสารโบรมีเลน ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านการอักเสบ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Pharmacy and Bioallied Sciences เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเรื่องฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของโบรมีเลนในสับปะรด พบว่า โบรมีเลนในสับปะรดช่วยปกป้องร่างกายจากโรคที่เกิดจากอนุมูลอิสระ และการบริโภคโบรมีเลนในสับปะรดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีผลข้างเคียงเลย สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่พบในสับปะรดสามารถช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชันได้ ด้วยการยุติปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation reaction) ทำให้ลูกโซ่ของการเกิดอนุมูลอิสระสิ้นสุดลง ส่งผลให้ความเสียหายของเซลล์ที่เกิดจากออกซิเดชันลดลง

อาจช่วยในการบรรเทาอาการปวดข้อเข่าได้

โบรมีเลนที่สกัดจากสับปะรดมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและแก้ปวดได้ และสามารถนำไปใช้รักษาอาการปวด อาการเนื้อเยื่ออ่อนบวม และอาการข้อตึงที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเข่าเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 ศึกษาเรื่อง การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยโบรมีเลน โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง พบว่า โบรมีเลนที่สกัดจากสับปะรดมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้ออักเสบที่หัวเข่าและไหล่ได้ โดยกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีที่มีอาการปวดเข่าเฉียบพลันระดับเล็กน้อยในระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือนมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับโบรมีเลนจำนวน 400 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน แต่ทางผู้วิจัยแนะนำว่าควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลต่อไป

อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้

จากการทดสอบในหลอดทดลองที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biomedical Reports เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเรื่อง บทบาทที่เป็นไปได้ของโบรมีเลนในการใช้งานทางการแพทย์ และการรักษาโรค พบว่า สารโบรมีเลน เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายโปรตีนและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยลดการอักเสบเรื้อรังของเซลล์ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งและยับยั้งการลุกลามของมะเร็งได้ แต่คงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภคสับปะรด

ข้อควรระวังในการบริโภคสับปะรด อาจมีดังนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคไต ควรรบริโภคสับปะรดในปริมาณที่พอเหมาะ เนื่องจากสับปะรดมีโพแทสเซียมสูง หากบริโภคมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่ไตทำงานได้ไม่เต็มที่และขับไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้
  • ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ควรบริโภคอย่างระมัดระวัง เนื่องจากสับปะรดเป็นอาหารที่มีกรดสูง หากบริโภคสับปะรดในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้อาการโรคกรดไหลย้อนกำเริบ เช่น อาการเสียดท้อง แสบร้อนกลางอก
  • แม้สับปะรดจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ควรบริโภคสับปะรดมากกว่าอาหารชนิดอื่น ๆ ควรรับประทานอาหารและผลไม้ต่าง ๆ ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหาร เช่น วิตามิน เกลือแร่ อย่างครบถ้วนและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Pineapple. https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-health-benefits-pineapple/. Accessed May 19, 2022

Pineapple, raw, all varieties. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/169124/nutrients. Accessed May 19, 2022

Antioxidant Activity of Crude Bromelain of Pineapple (Ananas comosus (L.) Merr) Crown from Subang District, Indonesia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7020843/. Accessed May 19, 2022

Bromelain as a Treatment for Osteoarthritis: a Review of Clinical Studies. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC538506/#b30. Accessed May 19, 2022

Potential role of bromelain in clinical and therapeutic applications (Review). https://www.spandidos-publications.com/10.3892/br.2016.720#b62-br-0-0-720. Accessed May 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/07/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กินสับปะรด มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

สูตรแยมสับปะรด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 26/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา