backup og meta

ผงขมิ้น ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/10/2022

    ผงขมิ้น ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ผงขมิ้น คือ ผงที่สกัดจากขมิ้นซึ่งเป็นพืชในวงศ์ขิง มีเหง้าสีเหลือง มีกลิ่นหอมรุนแรง นิยมใช้เป็นเครื่องเทศและใช้เป็นสมุนไพรขัดผิว โดยเฉพาะในประเทศอินเดียและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขมิ้นมีสารที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) เคอร์คูมินอยด์ (Curcuminoids) จึงอาจมีประโยชน์ในการใช้รักษาโรคที่เกิดจากอักเสบเรื้อรังต่าง ๆ

    คุณค่าทางโภชนาการของ ผงขมิ้น

    ผงขมิ้น 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 312 กิโลแคลอรี และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 67.1 กรัม
    • โปรตีน 9.68 กรัม
    • ไขมัน 3.25 กรัม
    • โพแทสเซียม 2,080 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 299 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 208 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 168 มิลลิกรัม
    • เหล็ก 55 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ ผงขมิ้นยังมีสังกะสี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค ทั้งยังอุดมไปด้วยเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์หลักในขมิ้นที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ผงขมิ้น

    ผงขมิ้น ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของผงขมิ้น ดังนี้

    อาจลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

    ผงขมิ้นมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลักชื่อว่า เคอร์คูมิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีส่วนช่วยเสริมสร้างการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือด จึงอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition and Metabolism เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับเคอร์คูมินในขมิ้นที่ช่วยปรับปรุงการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือดในคนวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวน 59 คน ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานเคอร์คูมิน 50 มิลลิกรัม กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานเคอร์คูมิน 200 มิลลิกรัม ส่วนกลุ่มที่ 3 ให้รับประทานยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า เยื่อบุผนังหลอดเลือดของกลุ่มที่รับประทานเคอร์คูมินในปริมาณ 200 มิลลิกรัมทำงานได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจสรุปได้ว่า ผงขมิ้นอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพดีได้เนื่องจากช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเยื่อบุผนังหลอดเลือด

    อาจมีประโยชน์ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์

    เคอร์คูมินในผงขมิ้นอาจช่วยรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาโครงสร้างและการทำงานของหลอดเลือดในสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีคุณสมบัติต้านโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยทั่วไปโรคอัลไซเมอร์เกิดจากมีโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์สะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของสมองมากเกินไป จนเกิดเป็นคราบที่ส่งผลให้สมองเสื่อมและเซลล์สมองฝ่อลง การบริโภคผงขมิ้นในปริมาณที่เหมาะสมจึงอาจช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neural Regeneration Research เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้เคอร์คูมินในการวินิจฉัย การป้องกัน และการรักษาโรคอัลไซเมอร์ พบว่า เคอร์คูมินอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์เนื่องจากช่วยให้ทราบปริมาณคราบโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ที่สะสมในสมอง ทั้งยังอาจช่วยป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้เพราะมีคุณสมบัติในการลดการผลิต ยับยั้งการจับตัวกันเป็นกลุ่ม และช่วยกวาดล้างโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ นอกจากนี้ เคอร์คูมินยังช่วยลดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระกับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเสียสมดุล จึงอาจเป็นประโยชน์ในการใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

    อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบ

    ผงขมิ้นมีสารเคอร์คูมินที่เป็นสารต้านอนมูลอิสระและต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยบรรเทาโรคข้ออักเสบ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันไปทำลายข้อต่อกระดูก ส่งผลให้ข้อต่ออักเสบและมีอาการปวดข้อต่อตามมา

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้เคอร์คูมินในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 45 คน ออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้รับสารเคอร์คูมิน 500 มิลลิกรัม กลุ่มที่ 2 ได้รับยาไดโคลฟีแนคโซเดียม 50 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ 3 ได้รับทั้งสารเคอร์คูมินและยาไดโคลฟีแนคโซเดียม ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับสารเคอร์คูมินมีอาการดีขึ้นกว่ากลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การใช้ผงขมิ้นจึงเป็นวิธีรักษาโรคข้ออักเสบที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสารเคอร์คูมิน การอักเสบ และโรคเรื้อรัง พบว่า สารเคอร์คูมินซึ่งสกัดได้จากขมิ้น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ควบคุมการอักเสบ การเจริญเติบโตของเซลล์ และการตายของเซลล์ จึงอาจสรุปได้ว่า คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของเคอร์คูมินมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังได้หลายโรค เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคข้ออักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคม่านตาอักเสบเรื้อรัง โรคมะเร็ง

    ข้อควรระวังในการบริโภค ผงขมิ้น

    แม้ผงขมิ้นอาจช่วยบำรุงร่างกายและช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพได้ แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม และปฏิบัติตามข้อควรระวังในการบริโภคผงขมิ้นดังต่อไปนี้

    • โดยทั่วไปสามารถบริโภคผงขมิ้นได้อย่างปลอดภัย แต่หากใช้ในปริมาณมากและใช้ติดต่อกันนานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และท้องร่วงได้
    • การใช้ผงขมิ้นทาผิวหนัง อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ หากใช้แล้วมีอาการแพ้ เช่น ลมพิษขึ้น หายใจลำบาก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม ควรหยุดใช้และไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด
    • เคอร์คูมินในผงขมิ้นมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานและฉีดอินซูลินจึงควรระมัดระวังในการบริโภคผงขมิ้นเป็นพิเศษ เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำเกินไป จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
    • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรไม่ควรรับประทานอาหารเสริมผงขมิ้น เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานเพียงพอถึงความปลอดภัยในการบริโภค
    • ผงขมิ้นมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด จึงควรหยุดใช้ผงขมิ้นอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกมากทั้งในระหว่างผ่าตัดและหลังผ่าตัดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/10/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา