backup og meta

มะขามเทศ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    มะขามเทศ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    มะขามเทศ เป็นพืชพื้นเมืองที่พบได้ทั่วไป นิยมนำผลและเมล็ดแก่มาบริโภค ผลของมะขามเทศมีลักษณะเป็นฝัก เปลือกฝักมีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู และจะกลายเป็นสีแดงแก่จัด เนื้อมะขามเทศมีสีขาวขุ่น รสออกหวานหรือหวานอมฝาด โดยทั่วไปนิยมนำเนื้อมะขามเทศไปประกอบอาหาร เช่น แกงคั่วมะขามเทศ ยำมะขามเทศ และนำไปทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหาย นอกจากนี้มะขามเทศยังมีประโยชน์หลายประการ เช่น ป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย

    คุณค่าโภชนาการของมะขามเทศ

    มะขามเทศ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 78 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

    • โพแทสเซียม 222 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 42 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 19 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
    • เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม

    นอกจากนี้ ในมะขามเทศยังมีวิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 ไฟเบอร์ คาร์โบไฮเดรต ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย เช่น ซาโปนิน (Saponin) แทนนิน (Tannins) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) สารประกอบฟีนอล (Phenolics) ที่ช่วยขับอนุมูลอิสระออกจากเซลล์ร่างกาย ทั้งยังช่วยป้องกันหรือลดความเสียหายที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ มะขามเทศ

    มะขามเทศมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของมะขามเทศในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

    อาจช่วยในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวาน

    มะขามเทศมีซาโปนิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำหน้าที่ช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress) ช่วยปรับปรุงการเผาผลาญไขมัน ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ และอาจป้องกันเบาหวานและโรคอ้วน จึงถือว่ามีศักยภาพในการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้

    จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Pharmacognosy Research เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง ประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของสารซาโปนินที่สกัดจากเมล็ดมะขามเทศ พบว่า สารสกัดซาโปนินจากเมล็ดมะขามเทศมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสและแอลฟาอะไมเลส ซึ่งเป็นเอนไซม์ย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ทำหน้าที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล ฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์เหล่านี้ของสารซาโปนินจึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ และมีส่วนช่วยในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้

    อาจช่วยต้านมะเร็งได้

    มะขามเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น แทนนิน ฟลาโวนอยด์ สารประกอบฟีนอล ซาโปนิน โดยเฉพาะสารฟลาโวนอยด์ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตในหลายด้าน เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเนื้องอก ต้านไวรัส ต้านการอักเสบ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด มะขามเทศจึงสามารถใช้เป็นตัวเลือกในการบรรเทาความเครียดจากสารต้านอนุมูลอิสระและอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Biotechnology Progress เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดของใบต่อการทำลายเซลล์มะเร็งเต้านม พบว่า สารสกัดจากใบมะขามเทศเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านมในมนุษย์ ทำให้เซลล์มะเร็งตายโดยไม่รบกวนเซลล์ปกติ

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ศึกษาเรื่องประสิทธิภาพการกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งและการลดปริมาณเซลล์มะเร็ง (Tumor burden) พบว่า สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่อยู่ในมะขามเทศ เช่น นารินจีนิน (Naringenin) นุตคาโทน (Nootkatone) กรดแกลลิก (Gallic acid) มีสรรพคุณเป็นยา เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง ลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอก ทั้งยังช่วยลดระดับของไซโตไคน์ (Cytokine) ที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะขามเทศในการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

    อาจมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้

    มะขามเทศ มีสารพฤษเคมีหลายชนิดที่มีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราและต้านอนุมูลอิสระ เช่น อัลคาลอยด์ (Alkaloids) ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน คูมาริน (Coumarin) แทนนิน แอนโธไซยานิน (Anthocyanin) โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Asian Journal of Pharmaceutical and Clinical Research เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง การวิเคราะห์องค์ประกอบทางพฤกษเคมี ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านเชื้อราของสารสกัดจากใบมะขามเทศ พบว่า สารสกัดจากใบมะขามเทศมีกลไกการออกฤทธิ์ต้านเชื้อราที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับยารักษาเชื้อราแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B) ซึ่งอาจเกิดจากสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่อยู่ในมะขามเทศ

    ข้อควรระวังในการบริโภคมะขามเทศ

    แม้มะขามเทศจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ควรปริมาณในปริมาณที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารพฤษเคมีที่ให้รสฝาด หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ท้องอืดได้ นอกจากนี้ หากต้องการใช้มะขามเทศเป็นยาสมุนไพรบรรเทาอาการต่าง ๆ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ เพราะหากใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา