backup og meta

มะเขือเปราะ ประโยชน์และความเสี่ยงในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/01/2022

    มะเขือเปราะ ประโยชน์และความเสี่ยงในการบริโภค

    มะเขือเปราะ เป็นผักที่คนไทยนิยมรับประทาน มีหลายสายพันธุ์และหลายสี ซึ่งต่างก็อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยปรับปรุง สุขภาพผิว ส่งเสริมระบบย่อยอาหาร ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขภาพผิว ระบบย่อยอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

    คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะ

    คุณค่าทางโภชนาการของมะเขือเปราะปริมาณ 100 กรัม ประกอบด้วย

    • พลังงาน 39 แคลอรี่
    • คาร์โบไฮเดรต 7.1 กรัม
    • โปรตีน 1.6 กรัม
    • ไขมัน 0.5 กรัม

    นอกจากนี้ มะเขือเปราะยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์อื่น ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส

    ประโยชน์ของมะเขือเปราะต่อสุขภาพ

    มะเขือเปราะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนสรรพคุณของมะเขือเปราะต่อการป้องกันและรักษาโรค ดังนี้

    ปรับปรุงสุขภาพผิว

    มะเขือเปราะอุดมไปด้วยวิตามินซีที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจสามารถช่วยปกป้องผิวจากสภาวะแวดล้อม เช่น แสงแดด ฝุ่น ควัน ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมให้ผิวแข็งแรงและสุขภาพดี

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2560  ทำการวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของวิตามินซีต่อสุขภาพผิว พบว่า วิตามินซีมีส่วนช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจน และปกป้องผิวจากรังสียูวี ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูงอย่างมะเขือเปราะ จึงอาจช่วยให้ผิวสวย สุขภาพดีได้

    ส่งเสริมระบบย่อยอาหาร

    มะเขือเปราะเป็นผักที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ที่ช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบย่อยอาหาร ช่วยส่งเสริมให้สารอาหารที่รับประทานสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มมวลอุจจาระทำให้ขับถ่ายง่ายซึ่งดีต่อสุขภาพลำไส้ และยังอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคริดสีดวงทวารหรือมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ปี พ.ศ. 2523  ซึ่งทำการวิจัยถึงกลไกการออกฤทธิ์ของใยอาหารในลำไส้ของมนุษย์ พบว่า ไฟเบอร์ส่งผลดีต่อการทำงานของลำไส้ โดยช่วยทำให้ปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น เจือจางของเสียในลำไส้ใหญ่ ช่วยทำให้การเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้เร็วขึ้น และอาจมีส่วนช่วยในการเผาผลาญแร่ธาตุ ไนโตรเจน และกรดน้ำดีในลำไส้ใหญ่

    นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันจากงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2563 พบว่า ใยอาหารประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตรูปแบบที่ไม่สามารถย่อยได้ ซึ่งส่งผลดีต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ และอาจส่งผลดีต่อการเผาผลาญในร่างกายซึ่งเชื่อมโยงกับสุขภาพโดยรวม อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งลำไส้ใหญ่

    ดีต่อสุขภาพหัวใจ

    การรับประทานมะเขือเปราะเป็นประจำอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือด ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2562  ทำการวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานมะเขือเพื่อช่วยปรับปรุงความดันโลหิตและสภาวะทางจิตใจของผู้ที่มีความเครียด พบว่า สารโคลีนเอสเทอร์ (Choline esters) และอะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ที่พบได้ในมะเขือ อาจสามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ การบริโภคมะเขืออย่างต่อเนื่องจึงอาจส่งผลดีต่อความดันโลหิต ความเครียด และสภาพจิตใจของมนุษย์

    นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันจากงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Basic Medical Sciences ปี พ.ศ. 2564  ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของการรับประทานมะเขือต่อกลุ่มอาการเมตาบอลิซึม พบว่า มะเขือมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต โดยการยับยั้งการทำงานของแองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์ (Angiotensin-Converting Enzyme: ACE ) ซึ่งช่วยลดการผลิตสารแองจิโอเทนซิน 2 (Angiotensin 2) ที่ทำให้เส้นเลือดหดตัวและลดการสลายตัวของสารแบรดีไคนิน (Bradekinin) ที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัว

    นอกจากนี้ อาจป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงและโรคอ้วนโดยลดการทำงานของไลโปโปรตีนไลเปส (Lipoprotein lipase) และไลเปสในตับอ่อน  ซึ่งมีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเปลี่ยนไตรกลีเซอไรด์ที่อยู่ในเลือดให้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอลเพื่อดูดซึมเข้าสู่เซลล์ไขมันและนำไปเก็บสะสมไว้

    อาจป้องกันโรคเบาหวาน

    มะเขือเปราะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟีนอลิก (Phenolic) และอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ซึ่งมีส่วนช่วยต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อจากการทำลายของอนุมูลอิสระ และอาจช่วยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จึงส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Basic Medical Sciences ปี พ.ศ. 2564 ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลของ การรับประทานมะเขือต่อกลุ่มอาการเมตาบอลิซึม  พบว่า สารประกอบฟีนอลิก และอัลคาลอยด์ ที่สามารถพบได้ในมะเขือ อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระ โรคเบาหวาน และความดันเลือดต่ำ รวมถึงอาจช่วยควบคุมโรคเบาหวานด้วยการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากการทำลายเซลล์ของอนุมูลอิสระและการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีผลต่อการย่อยสลายและดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด

    ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

    มะเขือเปราะอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมสุขภาพผิวแล้ว ยังมีส่วนช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และอาจช่วยป้องกันเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

    งานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2560 ทำการวิจัยเกี่ยวกับวิตามินซีและภูมิคุ้มกัน พบว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยในการป้องกันภูมิคุ้มกัน โดยสนับสนุนการทำงานของเซลล์ต่าง ๆ ของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการทำงานของเยื่อบุผิวที่ต่อต้านเชื้อโรคและส่งเสริมการขับออกซิเดชันของผิวหนัง ซึ่งอาจช่วยป้องกันความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันในสิ่งแวดล้อม และการเสริมวิตามินซียังสามารถป้องกันและรักษาการติดเชื้อทางเดินหายใจและระบบในร่างกายได้

    ข้อควรระวังในการรับประทานมะเขือเปราะ

    ข้อควรระวังในการรับประทานมะเขือเปราะ มีดังนี้

    • อาการแพ้ การรับประทานมะเขือเปราะดิบอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ในบางคนได้ เช่น ผื่นที่ผิวหนัง หายใจมีเสียงหวีด คันตา ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร อาการคันและเสียงแหบในลำคอ โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร World Allergy Organization Journal ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้จาการรับประทานมะเขือ พบว่า ในมะเขือมีสารก่อภูมิแพ้หลายชนิด เช่น โพรฟิลิน  (Profilin) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการผื่นที่ผิวหนัง หายใจมีเสียงหวีด คันตา ความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร อาการคันและเสียงแหบในลำคอ
    • อาจปวดขา การรับประทานมะเขือเปราะในปริมาณมากเป็นประจำอาจเกิดการสะสมของสารโซลานิน (Solanine) ในข้อกระดูกจนอาจทำให้เกิดอาการปวดขา ปวดข้อหรือเป็นตะคริวได้ ซึ่งสารโซลานินเป็นสารพิษธรรมชาติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase) ที่ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Arab Journal of Nuclear Sciences and Applications ปี พ.ศ. 2556  ทำการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของโซลานีนต่ออาการข้ออักเสบในหนูขาวเผือกวัยหมดประจำเดือน พบว่า สารโซลานิน ที่พบได้มากในพืชตระกูลไนท์เชดด์ (Nightshades) เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ และมะเขือยาว อาจก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบ ปวดขาและข้อบวมได้ จึงแนะนำให้วัยชราและวัยหมดประจำเดือนหลีกเลี่ยงการรับประทานพืชตระกูลไนท์เชดด์ เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อและช่วยลดการทำลายของเนื้อเยื่อ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/01/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา