ใบกระท่อม มักใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด คลายกล้ามเนื้อ และกระตุ้นให้ร่างกายกระฉับกระเฉง มีประโยชน์ต่อสุขภาพเมื่อบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การบริโภคกระท่อมมีข้อควรระวังที่ควรศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากกระท่อมประกอบไปด้วยสารกลุ่มแอลคาลอยด์ (Alkaloids) และมีฤทธิ์คล้ายโอปิออยด์ (Opioid-like effects) หากบริโภคในปริมาณมากและใช้เป็นเวลานานอาจส่งผลให้เสพติดใบกระท่อมและเกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลียง่าย นอนไม่หลับ
สรรพคุณทางยาของ ใบกระท่อม
ใบกระท่อม เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ถูกวิธี โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณในการส่งเสริมสุขภาพของใบกระท่อม ดังนี้
อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้
ใบกระท่อมมีส่วนประกอบของสารไมทราไจนีน (Mitragynine) และสาร 7-อัลฟา ไฮดรอกซีมิทราจินีน (7-alpha-hydroxy mitragynine) เป็นสารอัลคาลอยด์ที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดได้ จากงานวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง รูปแบบของการใช้กระท่อมและผลกระทบต่อสุขภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า กระท่อมมีประสิทธิภาพการทำงานคล้ายฝิ่น มีสรรพคุณในการบรรเทาความเจ็บปวดและลดความผิดปกติทางอารมณ์ และกลุ่มตัวอย่างอายุ 31-50 ปีใช้ใบกระท่อมเพื่อบรรเทาปวด และลดอาการผิดปกติทางอารมณ์ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังใช้กระท่อมรักษาอาการขาดยาสำหรับผู้เสพติดยาแก้ปวดด้วย
อาจช่วยบำรุงกำลัง
ใบกระท่อมมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นระบบประสาท ซึ่งเกิดจากส่วนประกอบของกระท่อม ได้แก่ สารอัลคาลอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ที่บริโภคสามารถทำงานหนักติดต่อกันได้โดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Pain and Therapy เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณทางยา ผลกระทบทางคลินิก และแนวโน้มในการใช้กระท่อมเพื่อรักษาโรค พบว่า ใบกระท่อมมีส่วนประกอบของสารกลุ่มอัลคาลอยด์ เช่น ไมทราไจนีน สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) โครแนนทีดีน (corynantheidine) สูงถึง 66% ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้น นิยมนำใบกระท่อมมาเคี้ยว รมควัน หรือต้มดื่ม เพื่อชูกำลัง ลดอาการเหนื่อยล้า
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับการใช้กระท่อมของผู้ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย โดยให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 562 คน ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้กระท่อม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นจำนวน 88% มีการใช้กระท่อมเป็นประจำทุกวัน ด้วยเหตุผลส่วนตัวหลายประการ รวมไปถึงการใช้กระท่อมเพื่อเสริมสร้างพละกำลัง เสริมความอดทนของร่างกาย และบรรเทาอาการปวด
อาจช่วยรักษาภาวะทางอารมณ์ได้
ใบกระท่อม มีส่วนประกอบของสารไมทราไจนีน ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองในลักษณะเดียวกับอัลคาลอยด์จากยางฝิ่นอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลได้ จากงานวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่อง กระท่อม : ประชากรศาสตร์ รูปแบบการใช้งาน และการแพร่ระบาดของการใช้สารโอปิออยด์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,798 คนที่ใช้กระท่อมในการรักษาโรค พบว่า กระท่อมมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเจ็บป่วยสูง โดยมีผู้ใช้กระท่อมเพื่อลดอาการปวด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 91 67 และ 65 ตามลำดับ
ข้อควรระวังในการบริโภค ใบกระท่อม
ใบกระท่อม อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็ควรใช้และบริโภคอย่างระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากใช้มากไปหรือใช้ผิดวิธี อาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพได้ ข้อควรระวังในการบริโภคใบกระท่อม อาจมีดังนี้
- การบริโภคใบกระท่อมในปริมาณมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น มึนเมา พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร มีอาการชัก ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การบริโภคใบกระท่อมเป็นเวลานาน อาจก่อผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ
- การบริโภคใบกระท่อมจนเสพติดเรื้อรัง เมื่อหยุดบริโภคทันทีอาจมีอาการถอนยา (Withdrawal symptoms) เช่น ก้าวร้าว แขนขากระตุก ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกกระวนกระวาย ซึมเศร้า
- การบริโภคใบกระท่อมร่วมกับสารประกอบอื่น ๆ เช่น สี่คูณร้อย (ยังเป็นสารเสพติดที่ผิดกฎหมายในปัจจุบัน) จะทำให้ออกฤทธิ์กดระบบประสาทรุนแรงขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าการบริโภคแบบปกติ
ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ได้ประกาศปลดพืชกระท่อมจากยาเสพติดให้โทษ และกลับสู่สถานะพืชที่ประชาชนทั่วไปสามารถใช้พืชกระท่อมด้วยการเคี้ยว การต้มทำน้ำกระท่อม หรือทำชากระท่อมดื่มได้ตามวิถีท้องถิ่น โดยยังมีข้อจำกัดด้านอายุ อนุญาตให้เพียงผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถปลูก กิน ซื้อขายและครอบครองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ด้วยฤทธิ์ที่ทำให้เสพติดได้เมื่อบริโภคในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จึงควรบริโภคใบกระท่อมด้วยความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้
[embed-health-tool-bmr]