backup og meta

ต้นตำแยแมว กับประโยชน์เชิงสมุนไพร

ต้นตำแยแมว กับประโยชน์เชิงสมุนไพร

ต้นตำแยแมว เป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กประเภทหนึ่ง ขึ้นอยู่ได้ทั่วไป ปล่อยกลิ่นคล้ายฟีโรโมน มักพบเห็นแมวชอบใกล้ต้นไม้ชนิดนี้  โดยต้นตำแยแมวมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยจัดเป็นพืชสมุนไพรประเภทหนึ่ง ใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ และยังใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmi]

ต้นตำแยแมว คืออะไร

ต้นตำแยแมว มีชื่อภาษาอังกฤษอยู่หลายชื่อ เช่น Indian acalypha, Indian nettle หรือ Tree-seeded mercury และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Acalypha indica L ต้นตำแยแมวนี้เป็นพืชไม้ล้มลุกขนาดเล็กประเภทหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันกับยางพารา (Euphorbiaceae)

ลักษณะของต้นตำแยแมวนั้น จะมีความสูงประมาณ 60-80 เซนติเมตร ใบเป็นวงรี ปลายใบมน สีเขียว ขอบใบหยักเล็กน้อย ด้านบนใบจะมีขนบางๆ ขึ้นปกคลุมอยู่ และออกดอกเป็นช่อ สามารถแพร่กระจายขึ้นตามที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแล จึงทำให้เรามักจะพบต้นตำแยแมวในลักษณะของวัชพืชตามสถานที่ต่าง ๆ นั่นเอง

ที่รากของต้นตำแยแมวนั้นจะมีกลิ่นบางอย่างคล้ายฟีโรโมน (Pheromone) จึงดึงดูดแมวเข้าไปหาที่ต้น ทำให้หลายคนมักจะเข้าใจผิด คิดว่าต้นตำแยแมวนั้นคือ “กัญชาแมว” (Catnip) แต่จริงๆ แล้วต้นตำแยแมวกับต้นแคตนิปนั้นเป็นพืชคนละสายพันธุ์กัน อีกทั้งแมวจะชอบกินรากของตำแยแมว ส่วนกับต้นแคตนิปนั้นจะกินที่ใบแทน

ประโยชน์สุขภาพของต้นตำแยแมว

มีการนำต้นตำแยแมวมาใช้เป็นสมุนไพร เพื่อบรรเทาอาการของโรคต่าง ๆ และยังใช้เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค

ส่วนต่าง ๆ ของต้นตำแยแมวนั้น สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพร เพื่อช่วยรักษาและบรรเทาอาการของสภาวะต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้

  • ส่วนใบ ใบตำแยสดนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำไปต้มกับน้ำ ใช้รับประทานเพื่อเป็นยาขับเสมหะ ยาระบาย ถ่ายพยาธิ หรือนำมารับประทานเป็นอาหารได้ นอกจากนี้ใบสดยังนำมาบดตำผสมกับเกลือ แล้วใช้ทาผิวหนังเพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคผิวหนังได้อีกด้วย
  • ส่วนต้น ส่วนลำต้นของตำแยแมว นำมาต้มคั้นน้ำ รับประทานเพื่อช่วยขับเสมหะ เป็นยาระบาย และใช้เป็นยาช่วยล้างเมือกและทำความสะอาดทางเดินอาหารได้
  • ส่วนราก ส่วนรากนำมาต้มกับน้ำ ดื่มเพื่อเป็นยาระบาย ถ่ายพยาธิ ช่วยบรรเทาอาการของโรคหอบหืด และช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ดื่มก่อนอาหารวันละแก้ว เพื่อใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ช่วยกระจายเลือด แก้ปวดเมื่อยได้อีกด้วย

ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2555 ในวารสาร International Journal of Research in Pharmacy and Science ชื่อว่า Evaluation of Anti Microbial Activity of Acalypha indica ได้ทำการทดลองในห้องทดลองโดยนำสารสกัดจากต้นตำแยแมวมาทดลองฆ่าเชื้อแบคทีเรีย  พบว่า สารสกัดที่ได้จากต้นตำแยแมวนั้น สามารถช่วยป้องกันและฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) เชื้อสเตรปโทคอกคัส ฟีคาลิส (Streptococcus faecalis) หรือเชื้ออีโคไล (Escherichia coli) ซึ่งล้วนแล้วแต่ก็เป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคในคนได้ เช่น อาหารเป็นพิษ ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน แต่ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาทางนำคุณสมบัติในป้องกันเชื้อแบคทีเรียของต้นตำแยแมวไปใช้ต่อไป

ข้อควรระวังในการใช้ต้นตำแยแมว

การรับประทานต้นตำแยแมว ไม่ว่าจะเป็นส่วนลำต้น ส่วนราก และส่วนใบ ในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และทำให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร เพื่อความปลอดภัย ควรบริโภคแต่เพียงพอเหมาะ และปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนจะใช้สมุนไพรใด ๆ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Tylophora – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1524/tylophora. Accessed December 16, 2021.

ตำแยแมว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตำแยแมว 17 ข้อ ! https://medthai.com/%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A7/. Accessed December 16, 2021.

Acalypha Indica. https://www.sciencedirect.com/topics/pharmacology-toxicology-and-pharmaceutical-science/acalypha-indica. Accessed December 16, 2021.

Antibacterial activity of Acalypha indica L. https://www.europeanreview.org/wp/wp-content/uploads/533.pdf. Accessed December 16, 2021.

Evaluation of Anti Microbial Activity of Acalypha indica. https://www.researchgate.net/publication/235925327_Evaluation_of_Anti_Microbial_Activity_of_Acalypha_indica. Accessed December 16, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/09/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เก๋ากี้ ประโยชน์สุขภาพ และข้อควรระวัง

สมุนไพร คลายเครียด ลดความวิตกกังวล มีอะไรบ้างนะ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 13/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา