การบริโภคน้ำมันปลาเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ผู้บริโภคควรทราบว่า น้ำมันปลา ไม่ควรกินคู่กับ อะไร เพราะอาหาร อาหารเสริม หรือยาบางชนิดอาจส่งผลให้ร่างกายดูดซึมน้ำมันปลาไปใช้ประโยชน์ได้น้อยลง และทำให้เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้ที่แพ้อาหารทะเลหรือปลาไม่ควรกินน้ำมันปลาโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้
[embed-health-tool-bmi]
น้ำมันปลา คืออะไร
น้ำมันปลา (Fish Oil) คือ น้ำมันที่สกัดมาจากเนื้อเยื่อ หนัง หัว หางของปลาที่มีน้ำมัน (Oliy fish) เช่น ปลาเทราต์ ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาแฮร์ริ่ง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ กรดโดโคซะเฮกซะอีโนอิก (Docosahexaenoic acid) หรือที่มักเรียกว่า ดีเอชเอ (DHA) และกรดอิโคซะเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic acid) หรืออีพีเอ (EPA) ที่ช่วยในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างการทำงานของกล้ามเนื้อ ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น โดยกรดไขมันเหล่านี้เป็นสารอาหารที่ยังพบได้ในอาหารตามธรรมชาติอื่น ๆ เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม ปู ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีอาหารเสริมน้ำมันปลาชนิดของเหลว แคปซูล หรือเม็ด ที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ลดอาการปวดข้อ ช่วยเพิ่มปริมาณไขมันดี (HDL) และลดระดับคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเลือด จึงอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และบรรเทาอาการของโรคเรื้อรังอย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
น้ำมันปลา ไม่ควรกินคู่กับ อะไร
ผู้ที่กินน้ำมันปลาในรูปแบบอาหารเสริม ควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำมันปลาคู่กับยาต่อไปนี้
- ยาลดความดันโลหิต น้ำมันปลาอาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลง เมื่อกินพร้อมยาลดความดันโลหิตอาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำกว่าปกติ
- ยาคุมกำเนิด น้ำมันปลาจะออกฤทธิ์ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ หากใช้ยาคุมกำเนิดในเวลาใกล้เคียงกันอาจทำให้ประสิทธิภาพในการลดไตรกลีเซอไรด์ของน้ำมันปลาลดลง
- ออลิสแตท (Orlistat) หรือยาช่วยลดการดูดซึมไขมันจากอาหาร การกินน้ำมันปลาคู่กับยาลดการดูดซึมไขมัน อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมกรดไขมันที่มีประโยชน์ในน้ำมันปลาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงควรกินยา 2 ชนิดนี้ห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ไซโรลิมัส (Sirolimus) ทาโครลิมัส (Tacrolimus)เนื่องจากน้ำมันปลาอาจไปเพิ่มประสิทธิภาพของตัวยา จนอาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำเกินไปและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงเมื่อใช้ยา
ปริมาณการบริโภคน้ำมันปลาที่แนะนำ
ปริมาณในการบริโภคอาหารเสริมน้ำมันปลาที่แนะนำต่อวัน เพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ คือ ไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัม หรือ 3 กรัม โดยควรรับประทานพร้อมมื้ออาหาร หากกินมากกว่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพ เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) ภาวะเลือดออกผิดปกติ (โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้มีแผลในกระเพาะอาหารหรือผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดภายใน 2 สัปดาห์) จึงควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนกินน้ำมันปลาเพื่อให้ทราบปริมาณที่เหมาะสม
นอกจากนี้ การบริโภคน้ำมันปลาจากแหล่งธรรมชาติในปริมาณมากก็อาจไม่ปลอดภัย เนื่องจากปลาบางชนิดอาจปนเปื้อนสารปรอทหรือสารเคมีอื่น ๆ จึงควรบริโภคปลาแต่พอดี ในปริมาณไม่เกิน 340 กรัม (12 ออนซ์) หรือไม่เกิน 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำมันปลา
น้ำมันปลาเป็นอาหารที่อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำมันปลา ได้แก่ ผู้ที่แพ้อาหารทะเลหรือแพ้ปลา เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยอาการแพ้ที่พบได้บ่อย คือ การเกิดลมพิษ และอาจมีอาการอื่น ๆ เช่น หายใจมีเสียงหวีด หายใจลำบาก เป็นตะคริว คลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เกิดภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งจะกระทบต่อการทำงานของระบบในร่างกายหลายส่วนพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้
ผู้ที่ไม่สามารถกินน้ำมันปลาได้ อาจไปเลือกกินอาหารประเภทอื่น ๆ ที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่นเดียวกับน้ำมันปลาเป็นการทดแทน เช่น กรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-Linolenic Acid) หรือเอแอลเอ (ALA) ซึ่งเป็นกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดหนึ่งที่พบในพืชอย่างถั่วเหลือง ใบงา เมล็ดฟักทอง และน้ำมันที่สกัดจากพืชอย่างน้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ น้ำมันคาโนลา น้ำมันวอลนัท เป็นต้น
นอกจากนี้ การกินน้ำมันปลา ยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น
- ท้องอืด และเรอเป็นกลิ่นคาวปลา (Fish Burps)
- ปากเหม็น
- คลื่นไส้
- เลือดกำเดาไหล
- ท้องไส้ปั่นป่วน
- แสบร้อนบริเวณหน้าอก
- มีผดผื่น