ผัดกะเพราเป็นอาหารไทยอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย มีรสชาติเผ็ดร้อนจากพริกและสมุนไพร โดยทั่วไปนิยมเติมเนื้อสัตว์ เช่น หมูกรอบ หมูสับ ไก่ อาหารทะเล แต่สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ หรือรับประทานมังสวิรัติ ก็สามารถทำตาม สูตรกะเพราเต้าหู้กรอบ ได้ เพื่อให้ได้รับโปรตีนจากเต้าหู้ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ทั้งยังอาจช่วยลดระดับไขมันเลวหรือคอเลสเตอรอลแอลดีแอล (LDL) ได้ด้วย ทั้งนี้ ควรเลือกน้ำมันสำหรับผัดและทอดให้เหมาะสม และไม่ควรใช้น้ำมันมากเกินไป เพื่อไม่ให้ร่างกายมีไขมันเลวและไตรกลีเซอไรด์สูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-bmi]
สูตรกะเพราเต้าหู้กรอบ
ส่วนผสมสำหรับ กะเพราเต้าหู้กรอบ
- เต้าหู้แข็งสีขาวหั่นชิ้น 200 กรัม
- พริกขี้หนูสดสีแดง 7-10 เม็ด
- กระเทียม 5 กลีบ
- น้ำมันพืช 2 ช้อนโต๊ะ
- ซอสหอยนางรม 1 ½ ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส 1 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
- ใบกะเพรา ½ ถ้วยตวง
- พริกชี้ฟ้าสีแดงหั่นแฉลบ 1 เม็ด
- น้ำเปล่า 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมันพืชสำหรับทอด
วิธีทำ กะเพราเต้าหู้กรอบ
- โขลกพริกขี้หนูกับกระเทียมให้ละเอียด เตรียมไว้สำหรับผัด
- นำกระทะตั้งไฟปานกลาง ใส่น้ำมันพืช พอน้ำมันร้อน ใส่เต้าหู้ลงทอดจนเหลืองกรอบ ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
- ใบกะเพรา ¼ ถ้วยตวงลงทอดจนกรอบ ตักขึ้นพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
- นำกระทะตั้งไฟปานกลาง ใส่น้ำมันพืชลงไป พอน้ำมันร้อน ใส่พริกขี้หนูกับกระเทียมที่โขลกไว้ลงไป แล้วผัดพอหอม
- ปรุงรสด้วยซอสหอยนางรม ซอสปรุงรส และน้ำตาลทราย เติมน้ำเปล่า ผัดให้เข้ากันดีกับเนื้อหมู
- ใส่ใบกะเพราที่เหลือและเต้าหู้ทอดลงผัดให้เข้ากัน ยกลง ตักใส่จาน โรยใบกะเพราทอดกรอบที่ทอดไว้ จัดตกแต่งจานให้สวยงาม พร้อมเสิร์ฟ
ประโยชน์สุขภาพจากเต้าหู้
เต้าหู้ทำมาจากถั่วเหลือง เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ โดยทั่วไปมักปราศจากกลูเตน (Gluten) ทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ เต้าหู้ยังอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและแคลเซียม (Calcium) และเป็นแหล่งของโปรตีนจากพืชที่ดี ผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์และไม่แพ้ถั่วเหลืองจึงสามารถบริโภคเต้าหู้เพื่อรับโปรตีนแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ได้
นอกจากนี้ ในเต้าหู้ยังมีสารกลุ่มที่เรียกว่าไอโซฟลาโวน (Isoflavones) เช่น ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) ซึ่งเป็นสารอาหารจากพืชที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับผลทางชีวภาพของสารไอโซฟลาโวนในถั่วเหลืองต่อการป้องกันโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตหรือโรคพฤติกรรม พบว่า ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองมีแนวโน้มว่าสามารถช่วยป้องกันโรคจากวิถีชีวิตหรือโรคพฤติกรรมได้ เช่น โรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน (เช่น โรคมะเร็งเต้านม) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน
ใบกะเพรากับประโยชน์ต่อร่างกาย
กะเพราเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะส่วนใบที่มีรสชาติเผ็ดร้อน โดยมีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่เผยว่า กะเพรามีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น งานศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพทางคลีนิกและความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์ของกะเพรา โดยการรวบรวบและทบทวนข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 1,553 ชิ้น พบว่า กะเพรา โดยเฉพาะใบกะเพรามีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น ยูเจนอล (Eugenol) กรดยูโซลิก (Ursolic acid) จัดเป็นสมุนไพรที่นำมาใช้งานด้านสุขภาพได้อย่างปลอดภัย อาจช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับไขมันในเลือดให้เป็นปกติ รวมถึงใช้ในการบรรเทาภาวะเครียดทางจิตใจหรือปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งใบกะเพรายังมีน้ำมันหอมระเหยที่อาจช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ด้วย