backup og meta

สูตรน้ำมะตูม

สูตรน้ำมะตูม

อาการร้อน ๆ อาจทำให้หลายคนอยากดื่มน้ำอัดลมเย็น ๆ สักแก้ว แต่เดี๋ยวก่อน! คุณรู้ไหมว่าการดื่มน้ำอัดลมมาก ๆ สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ถ้าอยากคลายร้อนแบบได้สุขภาพด้วย เราแนะนำให้คุณลองทำน้ำสมุนไพรดื่มเองดีกว่า วันนี้ Hello คุณหมอ เลยมีสูตรน้ำสมุนไพรอย่าง สูตรน้ำมะตูม มาฝาก รับรองว่า ดื่มแล้วดับกระหาย คลายร้อน แก้ร้อนใน แถมยังได้ประโยชน์สุขภาพอีกเพียบ

สูตรน้ำมะตูม

ส่วนผสมสำหรับ น้ำมะตูม

(สำหรับ 6-8 แก้ว)

มะตูมแห้ง 4-5 แว่น
น้ำเปล่า 1.5 ลิตร
น้ำตาลทรายแดงตามชอบ

วิธีทำ น้ำมะตูม

  1. ทำความสะอาดมะตูมแห้ง ด้วยการล้างแบบให้น้ำไหลผ่าน
  2. ต้มน้ำให้เดือด ใส่มะตูมแห้งลงไปต้ม ลดไฟลงเป็นไฟกลาง ต้มประมาณ 10 นาที
  3. ครบ 10 นาทีแล้ว ให้ตักกากออก ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายตามชอบ
  4. จัดเสิร์ฟแบบร้อนหรือเย็นตามต้องการ

เพียงแค่นี้ คุณก็จะได้น้ำมะตูมกลิ่นหอมชวนดื่มไว้ดื่มดับกระหาย แถมแก้ร้อนในได้ด้วย ยิ่งหากมีขนมเค้ก หรือขนมอบอร่อย ๆ สักชิ้นกินคู่กัน ก็ยิ่งฟินเข้าไปใหญ่ แต่แนะนำว่า ควรเป็นขนมคลีนนะ จะได้ดีต่อสุขภาพ แคลอรี่น้อย กินแล้วไม่ต้องกลัวน้ำหนักขึ้น

มะตูม พืชสมุนไพร กลิ่นหอมชื่นใจ กินแล้วได้ประโยชน์

เวลาพูดถึงมะตูม หลายคนน่าจะนึกออกแต่ตอนเป็นมะตูมแห้ง ไม่ค่อยคุ้นเคยกับลูกมะตูมสดเท่าไหร่นัก มะตูมเป็นไม้ยืนต้น ดอกมีกลิ่นหอม ผลมีเปลือกเรียบแต่แข็งมาก เมื่อกะเทาะเปลือกออกจะพบเนื้อมะตูมลักษณะเหนียวข้น สีเหลืองหรือส้มอมเหลือง มีกลิ่นหอม และมีเม็ดแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก คนนิยมเอาไปทำเป็นมะตูมเชื่อม และมะตูมแห้ง รวมถึงทำขนมหวานอย่างเค้กมะตูม รวมถึงน้ำมะตูมที่เรานำสูตรมาฝากกันในวันนี้ด้วย

นอจากความหอม อร่อยแล้ว มะตูมยังอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน วิตามินซี วิตามินบีบางชนิด เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) โพแทสเซียม (Potassium) แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก สังกะสี ทองแดง ซึ่งสารอาหารนานาชนิดในมะตูมนี่เอง ที่ทำให้มะตูมเป็นผลไม้สมุนไพรที่มีประโยชน์สุขภาพหลากหลาย เช่น

  • ดีต่อกระเพาะอาหาร งานศึกษาวิจัยในสัตว์ชิ้นหนึ่งพบว่า สารสกัดจากมะตูมช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารของสัตว์ทดลองได้ นอกจากนี้ สารต้านอนุมูลอิสระในมะตูมยังช่วยปกป้องทางเดินอาหารไม่ให้ถูกอนุมูลอิสระทำลายด้วย
  • ช่วยป้องกันโรคบิดจากเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากในมะตูมมีสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้ เช่น แบคทีเรียชิเกลลา ดิสเซนเทอรี (Shigella dysenteriae) ที่ทำให้เกิดโรคบิด และมีอาการคือ ท้องเสีย มีไข้ และปวดท้อง
  • อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง อย่างที่บอกไปแล้วว่า ในมะตูมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกอนุมูลอิสระทำลาย จึงส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเซลล์อย่างโรคมะเร็งบางชนิดลดลงไปด้วย
  • อาจดีต่อผู้ป่วยเบาหวาน ในเปลือกของผลมะตูมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า Umbelliferone β-D-galactopyranoside หรือยูเอฟจี (UFG) ซึ่งมีผลงานศึกษาวิจัยชี้ว่า สารประกอบตัวนี้ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูทดลองที่เป็นเบาหวานได้ นอกจากนี้ สารยูเอฟจียังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ที่อาจช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรักษาเบาหวานด้วย

ข้อควรระวังในการบริโภค มะตูม

การทำ น้ำมะตูม นิยมใช้มะตูมแห้ง ซึ่งในบางครั้งก็อาจปนเปื้อนเชื้อก่อโรคอย่างเชื้อราได้ หากไม่แห้งสนิทจริง ๆ ฉะนั้น เวลาเลือกซื้อมะตูมแห้ง คุณต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่ามีเชื้อราปนเปื้อนหรือไม่ เวลาเก็บมะตูมแห้งก็ควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิดและแห้งสนิท อากาศในที่เก็บรักษาต้องถ่ายเทได้ดี ไม่ร้อนเกินไป และก่อนนำมะตูมแห้งมาใช้ก็อย่าลืมล้างทำความสะอาดก่อนด้วย

และเนื่องจากมะตูมอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยเบาหวานที่กำลังใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจบริโภคมะตูม เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณลดลงอย่างรวดเร็วเกินไปได้

สูตรน้ำมะตูม

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bael Fruit Nutrition Facts and Health Benefits. https://www.verywellfit.com/the-health-benefits-of-bael-fruit-89602. Accessed October 7, 2020

BAEL. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-164/bael. Accessed October 7, 2020

น้ำมะตูม Bael Juice. http://www.foodtravel.tv/recipe.aspx?viewid=3256. Accessed October 7, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/10/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

7 สมุนไพรต้านไวรัส ที่คุณควรรีบหามาดูแลสุขภาพด่วน!

คุณประโยชน์ของมะตูม ต้นไม้ศักสิทธิ์แห่งชมพูทวีป


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 14/10/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา