backup og meta

สูตรพายฟักทอง

สูตรพายฟักทอง

หากถามว่าฟักทองนำมาทำเป็นของหวานอะไรได้บ้าง หลายคนอาจจะนึกถึงขนมไทย เช่น ฟักทองแกงบวด ขนมฟักทอง ฟักทองเชื่อม แต่วันนี้ เราอยากชวนคุณมารังสรรค์ฟักทอง เป็นเมนูขนมอบสไตล์ฝรั่งนั่นก็คือ พายฟักทอง รสนุ่ม กลิ่นหอมยั่วน้ำลาย ยิ่งถ้าทำเป็นของหวานรับเทศกาลฮัลโลวีน…ที่ใกล้เข้ามา ยิ่งเข้ากับบรรยากาศสุดๆ มาติดตามสูตรพายฟักทองกันค่ะ

สูตร พายฟักทอง

ส่วนผสม

  • ขนมปังกรอบเอบีซีป่น            1 ½ ถ้วยตวง
  • เนยละลาย                    ⅓ ถ้วยตวง
  • น้ำตาลไอซิ่ง                2 ช้อนโต๊ะ
  • ฟักทองบดละเอียด      2 ถ้วยตรง
  • ไข่ไก่เบอร์สอง            2 ฟอง
  • น้ำตาลทรายแดง        ½ ถ้วยตวง
  • เกลือ              ½ ช้อนชา
  • อบเชยผง      1 ช้อนชา
  • ขิงผง             ½ ช้อนชา
  • กานพลูผง     ¼ ช้อนชา
  • น้ำกะทิ          1 ถ้วยตวง

วิธีทำ

ฐานพายหรือเปลือกพาย

  1. คลุกขนมปังกรอบเอบีซีป่น เนยละลาย น้ำตาลไอซิ่งให้เข้ากัน
  2. นำไปกรุในถาดพายขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 นิ้ว กดให้แน่นและเรียบเสมอกัน จากนั้นนำไปแช่ในตู้เย็นให้เช็ตตัว

ไส้พาย

  1. ใส่ฟักทองบดละเอียด ไข่ไก่เบอร์สอง น้ำตาลทรายแดง เกลือ อบเชยผง ขิงผง กานพลูผง ลงในชามผสม ใช้ตะกร้อไฟฟ้าตีด้วยความเร็วปานกลางจนส่วนผสมเป็นเนื้อเดียวกัน
  2. ค่อยๆ เทน้ำกะทิทีละนิด ขณะใช้พายซิลิโคนคนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันดี

เมื่อได้ฐานพายและไส้พายเรียบร้อยแล้ว เราก็มาลงมือประกอบร่างพายฟักทองของเรากันเลย

  1. เทส่วนผสมลงถาดแป้งพายที่เตรียมไว้
  2. นำเข้าเตาอบ ตั้งไฟบนล่าง ใช้ความร้อน 425 องศาฟาเรนไฮต์ (220 องศาเซลเซียส) ตั้งเวลาอบ 50 นาที
  3. พอครบ 15 นาที ให้ปรับความร้อนลงเหลือ 350 องศาฟาเรนไฮต์ (175 องศาเซลเซียส) อบต่อจนครบเวลา
  4. ยกถาดพายออกจากเตาอบ พักไว้ให้เย็นสนิท
  5. ตัดเป็นชิ้น จัดใส่จานเสิร์ฟ

พายฟักทองไส้นุ่มละมุนลิ้น หวานหอมกำลังดี ยิ่งถ้าเอาไปแช่เย็นสักนิดก่อนกินยิ่งอร่อยได้ใจ ใครอยากตกแต่งหน้าด้วยวิปครีม (แนะนำแบบดีต่อสุขภาพ เช่น วิปครีมกะทิ) โยเกิร์ตธรรมชาติ สตรอว์เบอร์รี่ อัลมอนด์ ถั่วพีแคนอบกรอบ ก็จัดเลย รับรองอร่อยคูณสอง แถมดีต่อสุขภาพสุดๆ

แต่อย่าลืมนะว่า พายฟักทองก็ขึ้นชื่อว่าเป็นของหวาน ฉะนั้นควรกินแต่พอดี อย่าเผลอกินเพลินจนหมดถาด ไม่อย่างนั้น ปัญหาน้ำหนักเกินอาจมาเยือนโดยไม่รู้ตัว

พายฟักทอง อร่อย แถมมีประโยชน์สุขภาพ

ประโยชน์ของฟักทอง

ฟักทองลูกโตผิวขรุขระ ภายนอกอาจดูไม่น่ากิน แต่รู้ไหมว่าอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญนานาชนิด เพราะมีทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไฟเบอร์ เหล็ก โฟเลต วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค โพแทสเซียม วิตามินบี 6 และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงมีเบต้าแคโรทีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดสารต้านอนุมูลอิสระด้วย

การกินฟักทองช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้เยื่อบุลำไส้แข็งแรง จึงต่อสู้กับการติดเชื้อ ไวรัส และโรคติดต่อได้ดีขึ้น ช่วยให้เรตินาหรือจอประสาทตารับแสงได้ดี เราจึงมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น และอาจช่วยป้องกันโรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อมจากอายุได้ด้วย

นอกจากนี้ ฟักทองยังช่วยบำรุงผิวให้แข็งแรงและสุขภาพดี ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล จึงดีต่อสุขภาพหัวใจ อีกทั้งไฟเบอร์ในฟักทองยังช่วยชะลอการย่อยอาหาร ทำให้คุณรู้สึกอิ่มนานขึ้น บวกกับมีแคลอรี่ต่ำ จึงถือเป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่คุณไม่ควรพลาดหากต้องการควบคุมน้ำหนัก

ข้อควรระวัง

แม้จะมีประโยชน์ดีๆ มากมาย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถกินฟักทองได้อย่างจุใจ เพราะฟักทองมีฤทธิ์คล้ายยาขับปัสสาวะอ่อนๆ ทำให้ร่างกายขับน้ำและโซเดียมออกมามากขึ้น ฉะนั้น ใครที่กำลังกินยาลิเทียม อาจต้องระวังอย่ากินฟักทองมากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายขับลิเทียมได้ไม่ดีนัก จนอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

พายฟักทอง. https://www.gourmetandcuisine.com/cooking_recipes/detail/513. Accessed October 25, 2019

9 Impressive Health Benefits of Pumpkin. https://www.healthline.com/nutrition/pumpkin#section10. Accessed October 25, 2019

6 Surprising Health Benefits of Pumpkin. https://www.webmd.com/food-recipes/features/6-surprising-health-benefits-of-pumpkin#1. Accessed October 25, 2019

Pumpkin: Nutrition, Benefits and How to Eat. https://www.healthline.com/nutrition/pumpkin-nutrition-review. Accessed October 25, 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเทียมดำ กับประโยชน์ต่อร่างกาย และข้อควรระวังในการบริโภค

ลูกฟันผุ สาเหตุ และวิธีรักษาที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา