อาการท้องอืดเนื่องจากแก๊สในระบบทางเดินอาหาร เป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยอาจเกิดจากการที่คุณได้รับอากาศมากเกินไป จากการกินอาหารหรือดื่มน้ำเร็วเกินไป รวมถึงการพูดไปด้วย กินไปด้วย ซึ่งการมีแก๊สในร่างกายอาจเกิดจากการกิน อาหารที่ทำให้ท้องอืด บางประเภท และสามารถบรรเทาอาการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการท้องอืดเนื่องจากแก๊ส ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาคุณหมอเพราะอาจหมายถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง
ถั่ว
ถ้านึกถึงอาหารที่ทำให้มีแก๊ส ‘ถั่ว’ ถือเป็นอันดับแรกที่หลายคนจะนึกถึง เนื่องจากถั่วมีแรฟฟิโนส (Raffinose) มาก ซึ่งเป็นโมเลกุลน้ำตาลเชิงซ้อนที่ร่างกายย่อยยาก โดยเมื่อแรฟฟิโนสเคลื่อนที่ผ่านลำไส้เล็กไปสู่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียจะสลายโมเลกุลน้ำตาล สามารถทำให้เกิดการผลิตไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และแก๊สมีเทน ซึ่งแก๊สเหล่านี้จะออกจากร่างกายทางทวารหนัก ดังนั้นการกินถั่วในปริมาณที่พอดีสามารถช่วยลดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้การแช่ถั่วไว้ข้ามคืนก่อนนำมาปรุงอาหาร ก็สามารถช่วยลดแก๊สได้เช่นกัน
ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว
น้ำตาลแลคโตส พบมากในผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ตและไอศกรีม สำหรับผู้ที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเอนไซม์แลคเตสได้เพียงพอ ก็จะยากต่อการย่อยน้ำตาลแลคโตส ซึ่งสามารถเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) โดยการมีแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ถือเป็นหนึ่งในอาการของภาวะแพ้แลคโตส ซึ่งถ้าคุณสงสัยว่าอาจเป็นเพราะสาเหตุนี้ ควรปรึกษาแพทย์ และอาจลดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมวัว
ธัญพืชเต็มเมล็ด
ธัญพืชเต็มเมล็ด เช่น โฮลวีต ข้าวโอ๊ต ที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ แรฟฟิโนส (Raffinose) และแป้ง โดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะสลายสารอาหารเหล่านี้ ซึ่งทำให้เกิดแก๊ส แต่อย่างไรก็ตาม ข้าว ถือเป็นธัญพืชเต็มเมล็ดประเภทเดียวที่ไม่ทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร
ผัก
ผักบางชนิด เช่น กะหล่ำดาว (Brussels sprouts) บล็อกโคลี กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง และกะหล่ำดอก ต่างก็เป็นผักที่สามารถทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งผักเหล่านี้จะคล้ายกับถั่ว ที่มีแรฟฟิโนส (Raffinose) จึงอาจทำให้คุณมีแก๊สมากขึ้นได้
โซดา
โซดาและเครื่องดื่มที่ผสมโซดา สามารถทำให้ร่างกายได้รับอากาศเพิ่ม และเมื่ออากาศผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร จึงอาจทำให้เกิดอาการเรอ และมีแก๊สในกระเพาะเพิ่มขึ้น ดังนั้นอาจเปลี่ยนเครื่องดื่มที่มีโซดา เป็นการดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ อาจช่วยลดอาการท้องอืด เนื่องจากแก๊สในกระเพาะได้
ผลไม้
ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล ลูกพีช ลูกแพร และลูกพรุน มีน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) ตามธรรมชาติที่เรียกว่า ซอร์บิทอล (Sorbitol) ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาต่อการย่อย นอกจากนี้ผลไม้ยังมีไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ โดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จะสลายซอร์บิทอล และไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และแก๊สมีเทน
หัวหอม
ในหัวหอมมีน้ำตามธรรมชาติที่เรียกว่า ฟรุกโตส ซึ่งน้ำตาลฟรุกโตสก็เหมือนกับแรฟฟิโนส และซอร์บิทอล ที่แบคทีเรียในลำไส้จะย่อย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร
หมากฝรั่ง
การเคี้ยวหมากฝรั่ง ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เกิดแก๊ส แต่การเคี้ยวหมากฝรั่งสามารถทำให้คุณกลืนอากาศเข้าไปมาก นอกจากนี้หมากฝรั่งที่ไม่มีน้ำตาล หรือที่มีน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) เช่น ซอร์บิทอล แมนนิทอล และไซลิทอล จะยากต่อการย่อย ดังนั้นถ้าคุณเคี้ยวหมากฝรั่ง และมีอาการเรอมากผิดปกติ คุณหมออาจแนะนำให้หยุดกินหมากฝรั่งเพื่อลดแก๊สในระบบทางเดินอาหาร
อาหารแปรรูป
อาหารแปรรูป เช่น ขนมปัง ของหวาน และน้ำสลัด ต่างก็มีส่วนผสมหลายอย่าง โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตส และแลคโตส ที่สามารถทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้
[embed-health-tool-bmr]