backup og meta

ปิ้งย่าง จะเยียวยาทุกสิ่ง แต่ถ้ากินบ่อย ๆ อาจไม่ช่วยเยียวยาสุขภาพ!

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/06/2021

    ปิ้งย่าง จะเยียวยาทุกสิ่ง แต่ถ้ากินบ่อย ๆ อาจไม่ช่วยเยียวยาสุขภาพ!

    วันศุกร์หรรษา วันเงินเดือนออก วันเกิด วันฉลอง เป็นต้องรวมตัวกันที่ร้านปิ้งย่าง ลิ้มรสเนื้อเน้น ๆ น้ำจิ้มรสแซ่บ ยิ่งกินก็ยิ่งฟิน แต่…การกิน อาหารปิ้งย่าง บ่อยจนเกินไป อาจได้อันตรายต่อสุขภาพแฝงมาด้วย ดังนั้น เพื่อให้การ ปิ้งย่าง ยังคงไว้ซึ่งความอร่อย ขณะเดียวกันก็ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ Hello คุณหมอ มีวิธีกิน อาหารปิ้งย่าง อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพมาฝากค่ะ

    ความเสี่ยงสุขภาพจากการกิน อาหารปิ้งย่าง บ่อย ๆ

    อาหารปิ้งย่าง ไม่ว่าจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ บาร์บีคิว สเต็ก หมูกระทะ หรือปิ้งย่างเกาหลี แม้จะอร่อย สะใจ และได้ความเพลิดเพลิน แต่หากกินบ่อย ๆ ในระยะยาว อาหารปิ้งย่างที่กินเข้าไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายประการ ดังนี้

    อาหารปิ้งย่าง เสี่ยงต่อมะเร็ง

    อาหารปิ้งย่าง เป็นอาหารที่ต้องผ่านกระบวนการปรุงสุกด้วยความร้อนสูง การปิ้งหรือย่างจะทำให้อาหารที่ส่วนมากแล้วเป็นเนื้อสัตว์มีการไหม้หรือเกรียม และส่วนที่ไหม้เกรียมเหล่านี้มักจะพบสารพอลิไซคลิกแอโรแมติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbons หรือ PAHs) และสารเฮเทอโรไซคลิกเอมีนส์ (Heterocyclic Amines หรือ HCAs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเผาไหม้เนื้อสัตว์

    เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง

    อาหารปิ้งย่าง มักมีโซเดียมสูง โดยเฉพาะในเนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมักและปรุงรสด้วยซอสหรือเครื่องปรุงต่าง ๆ การกินเมนูปิ้งย่างบ่อย ๆ จึงเสี่ยงที่จะทำให้ระดับโซเดียมในร่างกายสูงเกินระดับปกติ เสี่ยงที่จะทำให้มีปัญหาต่อระดับความดันโลหิตในร่างกาย

    เสี่ยงต่ออาการท้องผูก

    เมนูปิ้งย่างส่วนมากจะเต็มไปด้วยอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ที่มีไฟเบอร์น้อย การกินอาหารปิ้งย่างบ่อย ๆ อาจทำให้ร่างกายได้รับไฟเบอร์น้อยหรือไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เสี่ยงที่จะเกิดอาการท้องผูกได้ เนื่องจากไฟเบอร์เป็นสารอาหารที่มีส่วนสำคัญช่วยในกระบวนการย่อยอาหารและระบบขับถ่าย หากกินไฟเบอร์น้อย ก็อาจจะท้องผูกได้

    เสี่ยงต่อโรคอ้วน

    อาหารปิ้งย่าง มีทั้งเกลือและไขมันในปริมาณสูง แต่มีไฟเบอร์และแร่ธาตุต่าง ๆ ในปริมาณที่น้อย การกินปิ้งย่างบ่อย ๆ จึงเป็นเหมือนการสะสมทั้งโซเดียมและไขมันเอาไว้ในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น หรือเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน

    กิน ปิ้งย่าง อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

    เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการกิน อาหารปิ้งย่าง สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินปิ้งย่างได้ง่าย ๆ ดังนี้

    เพิ่มผักและผลไม้

    อาหารปิ้งย่าง แม้จะยืนพื้นหลักด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่าง ๆ แต่เพื่อสุขภาพที่ดี เราสามารถเพิ่มผักและผลไม้เข้าไปด้วยได้ โดยอาจจะเป็นการนำเห็ด ผัก หรือผลไม้ไปปิ้งหรือย่าง ก็เป็นความคิดที่ดี เพราะความร้อนที่เผาไหม้ผักและผลไม้จะไม่ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งอย่าง PAHs และ HCAs หรือจะนำเนื้อที่ปิ้งย่างเสร็จแล้วมาม้วนห่อกับผักก็ได้เช่นกัน

    เลือกเนื้อให้ดี

    เพื่อให้ดีต่อสุขภาพ การเลือกเนื้อสัตว์สำหรับ อาหารปิ้งย่าง จึงเป็นเรื่องสำคัญ เลือกเนื้อที่ไม่ติดมัน หรือไม่มีหนัง เพื่อลดความเสี่ยงของการสะสมไขมัน และหากเป็นไปได้ ควรเลือกเนื้อที่ไม่ผ่านการหมักด้วยซอสที่มีโซเดียมหรือเกลือ หรือควรปรุงด้วยซอสที่มีโซเดียมหรือเกลือในปริมาณที่น้อยลง เพื่อลดการสะสมโซเดียมในปริมาณสูง แต่ถ้าจะให้ดี การกินปิ้งย่างที่บ้านอาจจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า เพราะสามารถที่จะทำการหมักเนื้อได้ด้วยตัวเอง สามารถปรับลดเครื่องปรุงที่ดีต่อสุขภาพได้ตามต้องการ และเพื่อให้เนื้อที่หมักดีต่อสุขภาพ ควรหมักด้วยวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางสารอาหาร เช่น ไวน์ น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว น้ำผึ้ง กระเทียม หอมหัวใหญ่ สมุนไพร เครื่องเทศต่าง ๆ หรือถ้าต้องการจะใช้ซอสในการหมักก็สามารถทำได้แต่ควรใช้ในปริมาณที่น้อย

    อย่าปิ้งหรือย่างนาน

    การปิ้งหรือย่างเนื้อสัตว์ไม่ควรใช้เวลาในการปิ้งหรือย่างนานจนเกินไป เพราะเนื้อที่ได้รับความร้อนเป็นเวลานาน เสี่ยงที่จะเกิดรอยไหม้เกรียม ซึ่งเสี่ยงต่อการเพิ่มสารก่อมะเร็งได้ ควรใช้ระยะเวลาในการทำให้เนื้อสัตว์สุกแต่พอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

    พลิกบ่อย ๆ

    นอกจากจะต้องใช้เวลาในการปิ้งหรือย่างอย่างเหมาะสมแล้ว การพลิกเนื้อสัตว์บ่อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการสร้างสารก่อมะเร็ง เพราะเนื้อที่ไม่ถูกพลิกไปมามักจะเกิดการไหม้เกรียม ทำให้มีความเสี่ยงต่อการได้รับสาร HCAs ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

    อย่ากิน อาหารปิ้งย่าง บ่อยเกินไป

    อาหารปิ้งย่าง กินได้ แต่ไม่ควรกินบ่อย การกินปิ้งย่างเดือนละครั้ง หรือสองครั้ง ถือเป็นระยะที่กำลังดี ไม่ควรกินทุกสัปดาห์ หรือในหนึ่งสัปดาห์กินปิ้งย่างหลายครั้ง เพราะอาจเสี่ยงที่ร่างกายจะมีการสะสมโซเดียม โปรตีน ไขมัน และสารก่อมะเร็งมากจนเกินไป ซึ่งอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 16/06/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา