การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มมึนเมาอย่างแอลกอฮอล์ มีทั้งประโยชน์และโทษต่อร่างกาย หากดื่มมากเกินไป การดื่มเหล้าจะกลายเป็นอันตรายต้นเหตุของการเกิดโรคได้หลากหลายชนิด การดื่มแอลกอฮอล์จึงสามารถดื่มได้ หากดื่มในปริมาณที่พอดี ไม่มากเกินไป การดื่มเหล้าจึงมีข้อควรระวังที่ต้องพิจารณาให้ดี
[embed-health-tool-heart-rate]
ประโยชน์ของการดื่มเหล้า
จากการศึกษา American College of Cardiology’s 70th Annual Scientific Session พบว่า การดื่มในปริมาณที่พอเหมาะอาจดีต่อหัวใจ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และลดระดับความเครียดลงได้ ส่งผลให้อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอาจลดลง โดยแนะนำปริมาณแอลกอฮอล์ต่อวัน ให้ผู้หญิงดื่ม 1 แก้ว ส่วนผู้ชายดื่ม 2 แก้ว ก็เพียงพอ และหากต้องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรเลือก ไวน์แดง มากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ในไวน์แดงมีสารที่ชื่อว่า Resveratrol อาจช่วยลดไขมันในเลือดได้
โทษของแอลกอฮอล์
แม้ว่าการดื่มเหล้าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่หากมีปริมาณแอลกอฮอล์มากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เฉพาะในประเทศไทยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพลำดับที่ 1 เกี่ยวข้องกับโรคและการบาดเจ็บกว่า 60 ประเภท
ดื่มเหล้าเป็นอันตรายต่อผู้อื่น
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป ส่งผลให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ เกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้เช่นกัน เพราะระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความคิดและการตัดสินใจผิดไปจากเดิม นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบประสาท ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะขณะมึนเมาจึงควบคุมรถได้ยากเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้
ดื่มเหล้าเป็นอันตรายต่อตัวเอง
การดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ดื่ม โดยแอลกอฮอล์เป็นพิษต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น
- ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด
- ส่งผลต่อสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ เลือดออกในเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง
- ส่งผลต่อตับ เช่น ไขมันสะสมในเนื้อตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย หรือเกิดมะเร็งตับ
- เสี่ยงต่อโรคมะเร็งในระบบต่าง ๆ เช่น ช่องปากคอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไส้ตรง ตับ ตับอ่อน เต้านม และต่อมลูกหมาก
- ทำให้โรคประจำตัวเดิมรุนแรงขึ้นได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคสมอง โรคไต โรคตับ
- เพิ่มความเสี่ยงโรคทางด้านจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า และโรคไบโพล่าร์
วิธีเลิกเหล้าให้ปลอดภัย
สำหรับผู้ที่ติดสุราไม่ควรเลิกเหล้าด้วยการหยุดทันที เพราะจะทำให้เกิดอาการขาดเหล้าหรือลงแดงได้ โดยอาการดังกล่าว ได้แก่
- ตัวสั่น มือสั่น
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลีย
- ชัก
- ประสาทหลอน
- สับสน
- หงุดหงิด
- นอนไม่หลับ
การเลิกเหล้าที่เหมาะสม สามารถทำได้ ดังนี้
- ค่อย ๆ ลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวันลง
- จิบเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช้า ๆ โดยดื่มน้อยกว่า 1 แก้วต่อชั่วโมง
- ดื่มเหล้าสลับกับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
- ขณะที่ดื่มเหล้าควรรับประทานอาหารควบคู่ไปด้วย ไม่ควรดื่มเหล้าในขณะที่ท้องว่าง
- ทำเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างต่อเนื่อง 1 สัปดาห์
- ลดปริมาณแอลกอฮอล์ลงเรื่อย ๆ จนหยุดดื่มในที่สุด