มีคนจำนวนไม่น้อยรับประทานโยเกิร์ตเพื่อช่วยในการขับถ่ายหรือระบายท้อง แต่การรับประทาน โยเกิร์ต ในรูปแบบและปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกายได้ด้วย
โยเกิร์ตช่วยลดคอเลสเตอรอล ได้จริงหรือไม่
งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโยเกิร์ตและคอเลสเตอรอลเผยว่า ส่วนประกอบสำคัญในโยเกิร์ตที่อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ คือ โพรไบโอติกส์ (Probiotics) โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัย University of McGill เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2013 ชี้ว่า การรับประทานโพรไบโอติกส์จำนวนสองโดสต่อวัน สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในร่างกายได้
ในการศึกษาดังกล่าว ได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูงจำนวน 127 รายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ได้รับอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ ที่มีค่าเทียบเท่ากับโยเกิร์ต 2 ถ้วย เป็นเวลา 2 ครั้งต่อวัน ภายใน 9 สัปดาห์ ในขณะที่กลุ่มที่สองไม่ได้รับประทานโพรไบโอติกส์ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มแรกมีระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลงร้อยละ 9 และคอเลสเตอรอล LDL หรือไขมันชนิดเลว ลดลงร้อยละ 12
ดังนั้น การเพิ่มโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์เป็นส่วนผสมสำคัญเข้าไปในมื้ออาหารจึงเป็นวิธีหนึ่งที่อาจช่วยลดคอเลสตอรอลในร่างกายได้ นอกจากนี้ ยังมีผลจากการวิจัยชิ้นอื่นที่พบว่า การรับประทานโยเกิร์ตส่งผลต่อความดันโลหิต และทำให้ผู้ที่รับประทานโยเกิร์ตมีการเผาผลาญพลังงานที่ดีกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทานโยเกิร์ต
ผู้ที่รับประทานโยเกิร์ตเป็นประจำ ยังมีแนวโน้มที่จะมีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) ลดลง ทั้งยังอาจมีระดับไตรกลีเซอไรด์และกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือดลดลงอีกด้วย ไม่เพียงแค่นั้น โยเกิร์ตยังช่วยเพิ่มระดับไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง (High-Density Lipoproteins) หรือ HDL ที่เป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกายได้อีกด้วย
ควรรับประทานโยเกิร์ตแบบไหน
โยเกิร์ตที่วางขายอยู่ในท้องตลาด และสามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น
- โยเกิร์ต ให้พลังงาน 104 กิโลแคลอรี่ มีน้ำตาล 7.9 กรัม และไขมัน 5.5 กรัม
- โยเกิร์ตรสผลไม้ ให้พลังงาน 194 กิโลแคลอรี่ มีน้ำตาล 19.4 กรัม และไขมัน 5.7 กรัม
- กรีกโยเกิร์ต ให้พลังงาน 100 กิโลแคลอรี่ มีน้ำตาล 5.5 กรัม และไขมัน 0.7 กรัม
โยเกิร์ตมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบตามธรรมชาติอยู่แล้ว นั่นคือ แลคโตส ซึ่งพบได้ในนมด้วย โยเกิร์ตรสผลไม้มีน้ำตาลผสมอยู่ประมาณ 12 กรัม ไม่รวมถึงน้ำตาลตามธรรมชาติที่พบได้ในนม จึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมในการรับประทานเพื่อช่วยลดคอเลสเตอรอล แนะนำให้เลือกโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลต่ำ อย่างไรก็ดี สามารถรับประทานโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลสูง เป็นอาหารว่าง หรือของหวานหลังมื้ออาหารได้
โยเกิร์ตที่ปราศจากไขมันเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด นอกจากนี้ อาจเลือกกรีกโยเกิร์ต เพราะนอกจากจะมีโพรไบโอติกส์และแคลเซียมแล้ว ยังมีโปรตีนสูงกว่า จึงอาจช่วยให้อิ่มได้นานกว่า
หากต้องการได้รับประโยชน์จากการรับประทานโยเกิร์ตเพื่อลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย ควรตรวจสอบก่อนว่าโยเกิร์ตนั้นมีแบคทีเรีย Lactobacillus acidophilus La5 และแบคทีเรีย Bifidobacterium lactis Bb12 เป็นส่วนประกอบหรือไม่ เพราะงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Dairy of Science ชี้ว่า แบคทีเรียโพรไบโอติกส์ทั้งสองชนิดนี้ สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คอเลสเตอรอลที่ไม่ดีหรือ LDL
[embed-health-tool-bmr]