backup og meta

ไตรกลีเซอไรด์ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

ไตรกลีเซอไรด์ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

ไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่พบได้ในเลือด ส่วนใหญ่อยู่ในอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ไขมัน เช่น คุกกี้ พาย ของทอด รวมถึงเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา น้ำเชื่อม กาแฟที่ใส่น้ำตาล ซึ่งหากร่างกายได้รับมากเกินไปและขาดพฤติกรรมการดูแลตัวเอง เช่น ไม่ออกกำลังกาย เครียด ไม่นอนหลับพักผ่อน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิต คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ที่อาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน เพื่อรักษาสุขภาพที่ดีควรลดการรับประทานอาหารที่มีไตรกลีเซอไรด์สูง และเข้ารับการตรวจไตรกลีเซอไรด์อย่างสม่ำเสมอ และรักษาระดับไตรกลีเซอไรด์ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ไตรกลีเซอไรด์ คืออะไร

ไตรกลีเซอไรด์ คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ในกระแสเลือด ส่วนใหญ่มาจากอาหารในชีวิตประวัน โดยผ่านกระบวนการการย่อยอาหารของกระเพาะอาหาร ผ่านเข้าสู่ลำไส้ที่ผลิตเกลือน้ำดี ช่วยดูดซึมไขมันและถูกสังเคราะห์นำออกผ่านทางตับเป็นไตรกลีเซอไรด์ ส่งไปเก็บไว้ในเซลล์ไขมันตามส่วนต่าง ๆ ที่ร่างกายต้องการ เช่น สะโพก แขน ขา หน้าท้อง เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน ไตรกลีเซอไรด์จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่อร่างกายเกิดการเผาผลาญเท่านั้น ซึ่งถ้าหากไม่มีการเผาผลาญก็อาจก่อให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์จำนวนมาก จนสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น น้ำหนักเพิ่ม อ้วนขึ้น ไขมันพอกบริเวณส่วนต่าง ๆ

ไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล แตกต่างกันอย่างไร

ไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล คือ ไขมันต่างชนิดกันที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด โดยไตรกลีเซอไรด์จะกักเก็บแคลอรี่ที่ไม่ได้ใช้มาเผาผลาญเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่สำหรับคอเลสเตอรอลนั้น เป็นไขมันที่สร้างเซลล์และฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย

ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด

การตรวจ ไตรกลีเซอไรด์ สามารถตรวจได้ผ่านการเก็บตัวอย่างเลือด โดยการเข้ารับการตรวจจากคุณหมอ หรือซื้อเครื่องตรวจไขมันในเลือดมาตรวจด้วยตัวเอง จากนั้นให้อ่านผลลัพธ์ของค่าไตรกลีเซอไรด์บนหน้าจอ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ได้ ดังนี้

  • ไตรกลีเซอไรด์ระดับปกติ น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไตรกลีเซอไรด์ระดับปานกลาง 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไตรกลีเซอไรด์ระดับสูง 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ไตรกลีเซอไรด์ระดับสูงมาก 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป

ระดับไตรกลีเซอไรด์สูง ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

หากร่างกายมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง อาจส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะก่อนเบาหวาน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ตับอ่อนอักเสบ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคอ้วน

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้ ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพราะอาจทำให้สุขภาพได้รับผลกระทบจากระดับไตรกลีเซอไรด์สูง

  • ผู้ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่มีระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) มากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นเบาหวาน หรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดในสมอง และมีระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี 70-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • ผู้ใหญ่ที่มีอาการหัวใจวาย เส้นเลือดตีบ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดอื่น ๆ จากการรักษาด้วยการผ่าตัดบายพาส การทำเคมีบำบัด

ควรตรวจ ไตรกลีเซอไรด์ บ่อยแค่ไหน

การตรวจไตรกลีเซอไรด์สำหรับเด็กอายุ 9-11 ปี ควรตรวจอย่างน้อย 1 ครั้ง และเข้ารับการตรวจอีกครั้งเมื่ออายุ 17-21 ปี และสำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีควรตรวจทุก ๆ  4-6 ปี

วิธีการลดไตรกลีเซอไรด์ด้วยตัวเอง

สำหรับวิธีลดไตรกลีเซอไรด์ด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

1. ไม่ควรอดอาหารและรับประทานอาหารมากเกินไป ยิ่งรับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเท่าไหร่ ก็อาจทำให้ร่างกายได้รับไตรกลีเซอไรด์มากเท่านั้น ควรรับประทานอาหารแต่พอดี หากรับประทานไม่หมดควรเก็บไว้รับประทานภายหลัง นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 3 มื้อ เพราะการอดอาหารอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร พลังงาน และไม่ช่วยให้ไตรกลีเซอไรด์ลดลง ดังนั้น ควรแก้ไขปัญหาโดยการควบคุมอาหารและเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

2. เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพิ่มปริมาณผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไร้ไขมันในแต่ละมื้อ เช่น ผักใบเขียว ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ถั่วเหลือง ขนมปังโฮลเกรน ข้าวกล้อง อัลมอนด์ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และลดปริมาณอาหารประเภทไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น เนื้อแดง เนื้อหมู เนย อาหารทอด ครีม ข้าวขาว ขนมปังขาว

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยกระตุ้นการเผาผลาญไขมันจากอาหารเปลี่ยนเป็นพลังงาน รักษาระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงรักษาน้ำหนักตัวให้สมดุล ควรออกกำลังกายวันละ 30 นาที อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เช่น การเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษาถึงรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ

4. จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เช่น เบียร์ ไวน์ ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการบริโภค ผู้หญิงอาจดื่มได้วันละ 1 แก้ว ผู้ชายวันละ 2 แก้ว ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวาน น้ำอัดลม เพื่อป้องกันการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดที่อาจทำให้คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูง โดยควรดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น

5. งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจสร้างความเสียหายต่อหลอดเลือด สำหรับผู้ที่มีไตรกลีเซอไรด์อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้

6. ยาลดไตรกลีเซอไรด์ อาจช่วยควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ โดยคุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยา ดังต่อไปนี้

  • ไนอะซิน (Niacin) หรือกรดนิโคตินิก (Nicotinic Acid) เป็นวิตามินบี 3 ชนิดละลายน้ำได้ เพื่อช่วยลดคอเลสเตอรอลไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์
  • กลุ่มยาไฟเบรต (Fibrate) เช่น ฟีโนไฟเบรต (Fenofibrate) เจมไฟโบรซิล (Gemfibrozil) อาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ แต่อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคไตและตับ เพราะอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติรุนแรง
  • กลุ่มยาสแตติน (Statins) เช่น อะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) โรซูวาสแตติน (Rosuvastatin) เป็นยาลดคอเลสเตอรอล เหมาะสำหรับผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลต่ำ เพื่อลดการอุดตันในหลอดเลือดแดง
  • น้ำมันปลา หรือกรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพที่อาจช่วยขัดขวางการแข็งตัวของเลือด เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Triglycerides: Why do they matter?. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-cholesterol/in-depth/triglycerides/art-20048186 . Accessed January 21, 2022

Triglycerides. https://medlineplus.gov/triglycerides.html . Accessed January 21, 2022

How to Lower Your Triglycerides. https://www.webmd.com/cholesterol-management/lowering-triglyceride-levels . Accessed January 21, 2022

High Triglycerides: What You Need to Know. https://www.webmd.com/cholesterol-management/high-triglycerides-what-you-need-to-know . Accessed January 21, 2022

Should you worry about high triglycerides?. https://www.health.harvard.edu/heart-health/should-you-worry-about-high-triglycerides . Accessed January 21, 2022

The Truth About Triglycerides. https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=56&contentid=2967 . Accessed January 21, 2022

LOWERING YOUR TRIGLYCERIDES. https://www.umassmed.edu/nutrition/Cardiovascular/handouts/lowering-triglycerides/ . Accessed January 21, 2022

Digestion of dietary fatty acids. https://www.britannica.com/science/lipid/Digestion-of-dietary-fatty-acids . Accessed January 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/02/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประเภทของไขมันในร่างกาย ที่สามารถพบเจอ พร้อมวิธีกำจัดไขมันส่วนเกิน

วิธีลดไขมันในเลือด แบบธรรมชาติ ไม่ต้องพึ่งยา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา