backup og meta

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดไหม เพราะอะไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดไหม เพราะอะไร

    ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่แพร่ระบาดเป็นประจำในฤดูหนาว เมื่อเป็นแล้วมักมีอาการคล้ายโรคหวัดธรรมดา แต่บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่อาจป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน หากถามว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดไหม? คำตอบคือควร เพราะวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ รวมถึงความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิตได้ด้วย

    ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

    ไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ Flu) เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เช่น ไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ไข้ขึ้น เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ แต่ในระดับที่รุนแรงกว่า

    ทั้งนี้ ไข้หวัดใหญ่จัดเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในฤดูหนาว และมักหายเองได้ภายใน 7-14 วัน

    อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดใหญ่อาจเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดไหม

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่ควรฉีด เพราะช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ในอัตรา 40-60 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยลดความรุนแรงของอาการ รวมถึงโอกาสเสียชีวิตจากการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดทุกปี เพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้นมักมีการกลายพันธุ์ และการฉีดวัคซีนที่ผลิตใหม่ทุกปี จะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในปีนั้น ๆ ได้

    ทั้งนี้ ผู้ที่สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ควรมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไป ควรได้รับวัคซีนทุกปี ได้แก่

    • เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี
    • ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 50 ปี
    • ผู้ที่อาศัยอยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ
    • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ในช่วงที่โรคไข้หวัดใหญ่ระบาด
    • ผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • ผู้เป็นโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกาย 40 ขึ้นไป
    • ผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหอบหืด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง โรคเกี่ยวกับปอด

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดที่ไหน

    ทุกคนสามารถฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ ได้ตามสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้

    • โรงพยาบาลเอกชนและของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพของแต่ละตำบล
    • คลินิกเอกชน
    • ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ต่าง ๆ

    ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    หลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการข้างเคียงซึ่งมักหายไปเองภายใน 2-3 วัน ดังต่อไปนี้

    • ปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน
    • ปวดหัว
    • เป็นไข้
    • คลื่นไส้
    • ปวดกล้ามเนื้อ
    • หน้ามืด

    นอกจากนี้ บางรายยังอาจมีอาการแพ้ระดับรุนแรง ซึ่งมักพบหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง หากเกิดอาการควรไปพบคุณหมอทันที

    ทั้งนี้ สำหรับอาการแพ้ระดับรุนแรง ได้แก่

    • หายใจไม่ออก
    • เสียงแหบ
    • ดวงตาหรือปากบวม
    • ผื่นลมพิษ
    • ผิวซีด
    • ร่างกายอ่อนแรง
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • วิงเวียน

    ใครบ้างที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้

    แม้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะสามารถฉีดให้กับคนทุกกลุ่มและทุกช่วงอายุ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่ควรเข้ารับการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เช่น

  • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน
  • ผู้ที่มีอาการแพ้สารประกอบในวัคซีน อย่างเจลาตินหรือยาฆ่าเชื้อ ในระดับรุนแรงหรือระดับที่เป็นอันตรายถึงชีวิต
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนระดับรุนแรง จากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครั้งก่อนหน้า
  • การป้องกันโรค ไข้หวัดใหญ่ แบบอื่น

    นอกจากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ล้างมือสม่ำเสมอ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที/ครั้ง หรืออาจเลือกทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
    • หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสกับตา จมูก ปาก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แล้วทำให้ติดเชื้อได้
    • หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีคนหนาแน่นโดยเฉพาะในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่กำลังระบาด
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่
    • ทำความสะอาดจุดสัมผัสต่าง ๆ เช่น ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา