backup og meta

อาการปอดอักเสบ และการดูแลตัวเองเมื่อปอดอักเสบ

อาการปอดอักเสบ และการดูแลตัวเองเมื่อปอดอักเสบ

ปอดอักเสบหรือปอดบวม เป็นโรคจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย หรือไวรัสที่ปอด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงของโรค ได้แก่ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สำหรับ อาการปอดอักเสบ นั้น มักมีไข้ ไอ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ไม่อยากอาหาร เป็นต้น

[embed-health-tool-heart-rate]

ปอดอักเสบคืออะไร

ปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือบางครั้งเรียกว่าปอดบวม เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ที่ปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ซึ่งส่งผลให้ปอดมีอาการอักเสบหรือบวม และมีของเหลวหรือหนองอยู่ข้างใน

โดยทั่วไป หากป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ มักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส มากกว่าเชื้อรา และโรคปอดอักเสบจากแบคทีเรีย ยังพบได้บ่อยกว่าโรคปอดอักเสบจากไวรัส และเมื่อเป็นแล้ว มักมีอาการป่วยที่รุนแรงกว่าด้วย

นอกจากนี้ ปอดอักเสบอาจเป็นสาเหตุของอาการป่วยขั้นรุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยเป็นทารก เด็กเล็ก คนชรา หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2562 ปอดอักเสบคร่าชีวิตเด็กไป 740,180 ราย หรือคิดเป็น 14 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั้งหมดที่เสียชีวิตในปีดังกล่าว

ในประเทศไทย สถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม พ.ศ. 2565 ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 มีจำนวนทั้งสิ้น 179,211 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ 176 ราย

อาการปอดอักเสบ เป็นอย่างไร

โดยทั่วไป เมื่อป่วยเป็นปอดอักเสบ ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการหลังปอดติดเชื้อแล้วประมาณ 24-48 ชั่วโมง และในบางครั้ง อาจใช้เวลาหลายวันกว่าร่างกายจะแสดงอาการ

เมื่อเป็นโรคปอดอักเสบ จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีไข้ ซึ่งอาจสูงถึง55 องศาเซลเซียส
  • ไอ มีเสมหะ
  • หมดแรง อ่อนเพลีย
  • หายใจเร็วกว่าปกติ
  • หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • เหงื่อออกหรือหนาวสั่น
  • เจ็บหน้าอกหรือเจ็บท้อง โดยเฉพาะเมื่อไอหรือหายใจเข้าลึก
  • ไม่อยากอาหาร
  • ผิวหนังเป็นสีเขียวหรือน้ำเงิน เนื่องจากการขาดออกซิเจน
  • มึนงง หรือมีสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป

ทั้งนี้ นอกจากอาการข้างต้นแล้ว โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ยังมีอาการเริ่มต้นคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย คือ ไอแห้ง ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ โดยอาการดังกล่าวมักแย่ลงภายใน 1-2 วัน

นอกจากนี้ หากทารกหรือเด็กเล็กป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ มักมีอาการแตกต่างจากเด็กที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่ ดังนี้

  • คำราม และอาจหายใจเสียดัง
  • ไม่สบายตัว
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • ผิวซีด
  • ปวกเปียก ไม่มีแรง
  • ร้องไห้มากกว่าปกติ
  • ไม่อยากอาหาร

ใครเสี่ยงต่อโรคปอดอักเสบบ้าง

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรค ปอดอักเสบ มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

  • เด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอดและหัวใจ
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งทำให้กลืนอาหารลำบาก เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน
  • ผู้ที่นอนโรงพยาบาลหรือต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • หญิงตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการติดเชื้อเอชไอวี รับยาเคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน หรือเคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ

ปอดอักเสบ หายเองได้หรือไม่

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบระดับไม่รุนแรงหรือไม่รบกวนดำเนินชีวิตประจำวัน อาจหายเองได้ภายใน 3-5 วันหรือ 1 เดือน หากดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ควรไปพบคุณหมอ หากพบอาการปอดอักเสบ และอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่ออาการป่วยระดับรุนแรงรวมถึงการเสียชีวิตจากโรค

ทั้งนี้ หากไปพบคุณหมอ คุณหมอจะรักษาด้วยการจ่ายยาลดไข้ ยาแก้อักเสบ รวมถึงยาฆ่าเชื้อรา ไวรัส หรือแบคทีเรียให้

นอกจากนี้ ในบางราย คุณหมออาจรักษาเพิ่มเติม ด้วยการให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ หรือดูดของเหลวออกจากปอดให้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

ปอดอักเสบ ป้องกันได้อย่างไร

เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคปอดอักเสบ ควรปรับพฤติกรรมดังนี้

  • ล้างมือสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้ปอดเสียหาย อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเพราะสารนิโคตินทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเป็นประจำทุกวัน มีผลทำให้ระบบป้องกันโรคของปอดทำงานแย่ลง
  • ออกกำลังกาย เลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อรักษาระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ รวมถึงโรคที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เป็นโรคปอดอักเสบ เช่น วัคซีนโรคโควิด-19 วัคซีนโรคนิวโมคอคคัล (Pneumococcal Disease)

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pneumonia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pneumonia/diagnosis-treatment/drc-20354210. Accessed January 13, 2023

What Are the Symptoms of Pneumonia?. https://www.lung.org/lung-health-diseases/lung-disease-lookup/pneumonia/symptoms-and-diagnosis. Accessed January 13, 2023

Pneumonia in children. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/pneumonia. Accessed January 13, 2023

ผนึกกำลังเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่การป้องกัน ‘โรคปอดอักเสบ’ หลังโควิด 19. http://nvi.go.th/2022/11/11/prnews-2565-pneu-1/. Accessed January 13, 2023

Pneumonia. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/pneumonia. Accessed January 13, 2023

Pneumonia. https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/lungs-and-airways/pneumonia#:~:text=Symptoms%20of%20pneumonia&text=a%20cough%20%E2%80%93%20which%20may%20be,fever. Accessed January 13, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/01/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคปอดอักเสบ และ โรคหอบหืด มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร

โรคปอดอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial Pneumonia)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา