ภูมิคุ้มกัน เป็นระบบที่มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยหรือโรคต่าง ๆ ซึ่งการดูแลตัวเองอยู่เสมออาจช่วยส่งเสริมความแข็งแรงและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นปกติ รวมทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของภูมิคุ้มตั้งแต่กำเนิด ดังนั้น การเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องจึงอาจช่วยป้องกันการกำเริบของโรค และส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้นได้
[embed-health-tool-vaccination-tool]
คำจำกัดความ
ภูมิคุ้มกัน คืออะไร
ภูมิคุ้มกัน คือ ระบบที่ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และปรสิตจากภายนอก โดยมีส่วนประกอบของระบบอวัยวะ เซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีนแอนติบอดี และสารเคมีในร่างกายที่ทำงานร่วมกันเป็นระบบภูมิคุ้มกันขนาดใหญ่ ซึงอาจช่วยปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อที่นำไปสู่ความเจ็บป่วยและโรคต่าง ๆ
ภูมิคุ้มกัน ทำงานอย่างไร
ภูมิคุ้มกันมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากการเชื้อโรคภายนอก ด้วยการทำลายหรือกำจัดความเป็นอันตรายของเชื้อโรคแต่ละชนิดหากภูมิคุ้มกันทำงานอย่างถูกต้อง ซึ่งภูมิคุ้มกันจะสามารถแยกแยะได้ว่าเซลล์ใดผิดปกติ เป็นอันตรายควรทำลาย และเซลล์ใดเป็นเซลล์ร่างกายตามปกติไม่ควรทำลาย โดยระบบภูมิคุ้มกันจะเรียนรู้เชื้อโรคใหม่ที่เข้าสู่ร่างกายอยู่เสมอ และจะสร้างแอนติบอดีชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อต้านเชื้อโรคแต่ละชนิด หากในอนาคตร่างกายได้รับเชื้อโรคชนิดเดิมอีกระบบภูมิคุ้มกันก็จะปล่อยแอนติบอดีที่เคยจดจำไว้ออกมาเพื่อกำจัดเชื้อโรคชนิดนั้นอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากภูมิคุ้มกันทำงานไม่ถูกต้องก็จะไม่สามารถต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้และนำไปสู่การติดเชื้อ หรือในบางกรณีภูมิคุ้มกันจะทำลายเซลล์ตามปกติในร่างกายเหมือนกันโจมตีเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น อาการแพ้ โรคภูมิแพ้ตัวเอง
ประเภทของภูมิคุ้มกัน
ภูมิคุ้มกันอาจมี 3 ประเภท ดังนี้
- ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) ทุกคนเกิดมาพร้อมกับภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด เช่น ผิวหนังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีตั้งแต่กำเนิดจะทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคที่อาจเป็นอันตราย
- ภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ (Adaptive Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่สามารถปรับตัวได้ตลอดชีวิต เมื่อร่างกายสัมผัสหรือได้รับเชื้อโรคใหม่ โดยร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันตัวใหม่ขึ้นมาเพื่อต้านเชื้อโรคนั้น ๆ
- ภูมิคุ้มกันแบบรับมา (Passive Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาจากแหล่งอื่นและจะอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคอย่างทันที เช่น ทารกที่กินนมแม่ร่างกายจะได้รับภูมิคุ้มกันจากน้ำนมแม่ การรับภูมิคุ้มกันจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
อาการ
อาการความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
อาการความผิดปกติของภูมิคุ้มกันอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของโรค แต่อาการของความผิดปกติของภูมิคุ้มกันที่อาจพบได้บ่อย มีดังนี้
- ผื่นแดง ตุ่มแดง ลมพิษ ผิวหนังแดง หรือผิวซีด
- คันตามผิวหนัง
- ลิ้น ปาก และคอบวม
- แน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจติดขัด หายใจมีเสียงหวีด
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม
- อ่อนล้า อ่อนเพลีย
- ไอ จาม คลื่นไส้ อาเจียน น้ำตาไหล คัดจมูก น้ำมูกไหล
- ปวดท้อง ท้องเสีย
- ความดันโลหิตต่ำ
สาเหตุ
สาเหตุความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยากขึ้น ภาวะสุขภาพบางอย่างที่ทำให้ภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์ปกติของร่างกาย หรือทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจนไม่สามารถต้านเชื้อโรคได้เต็มที่ เช่น
- โรคภูมิแพ้ บางคนร่างกายอาจทำปฏิกิริยาต่อสารบางชนิดมากเกินไปจนทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น ขนสัตว์ อาหาร (เช่น ถั่ว ธัญพืช ปลา กุ้ง นม) เกสรดอกไม้ สารเคมี ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารเหล่านี้ด้วยการปล่อยฮีสตามีนที่เป็นสาเหตุของอาการภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก ไอ จาม คัน ผื่นแดง บวม หายใจติดขัด หมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Diseases) เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่ถูกต้อง เข้าโจมตีเซลล์ตามปกติของร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคลูปัส โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) โรคต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน (Hashimoto’s Thyroiditis) โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) โรคสะเก็ดเงิน
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) มักเกิดจากโรคทางพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือมะเร็ง ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย และป่วยง่าย รวมทั้งอาจเพิ่มโอกาสในการเจ็บป่วยร้ายแรงได้มากขึ้น
- การติดเชื้อ เช่น เชื้อเอชไอวี โรคโมโนนิวคลิโอซิส (Infectious Mononucleosis) จากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr Virus หรือ EBV) สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง และอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยรุนแรง นอกจากนี้ ภาวะติดเชื้อในเลือด (Sepsis) ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่อาจทำให้อวัยวะเสียหาย และล้มเหลวจนเสียชีวิตได้
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เกิดขึ้นเมื่อเซลล์ภูมิคุ้มกันเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง
- การใช้ยาบางชนิด เช่น คอร์ตอโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เคมีบำบัด ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) สามารถทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ซึ่งอาจเสี่ยงที่ร่างกายจะติดเชื้อได้ง่าย
นอกจากนี้ การดูแลตัวเองที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ นอนไม่เพียงพอ ความเครียด ก็อาจส่งผลต่อความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันในร่างกายได้เช่นกัน
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
การวินิจฉัยความผิดปกติของภูมิคุ้มกันอาจทำได้ ดังนี้
- สอบถามประวัติ เกี่ยวกับอาการ การใช้ชีวิตประจำวัน และประวัติครอบครัวว่าเคยมีความผิดปกติที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันหรือไม่
- ตรวจร่างกาย เพื่อตรวจดูความผิดปกติและอาการที่แสดงทางผิวหนัง รวมถึงประเมินชนิดของโรคและความรุนแรงของโรค
- ตรวจเลือด เพื่อหาระดับโปรตีนแอนติบอดีที่มีหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อ วัดระดับเซลล์เม็ดเลือดและเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อประเมินความบกพร่องของภูมิคุ้มกัน
- การตรวจก่อนคลอด สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เคยมีประวัติภูมิคุ้มกันบกพร่อง คุณหมอจะตรวจน้ำคร่ำ เลือด หรือเซลล์เนื้อเยื่อ เพื่อหาความผิดปกติที่อาจสืบทอดสู่ทารกในครรภ์เพื่อเตรียมการรักษาทันทีหลังคลอด
การรักษาความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
การรักษาความผิดปกติของภูมิคุ้มกันอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุหลัก ความรุนแรง และอาการของโรค โดยคุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้
การรักษาโรคภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เพราะสารก่อภูมิแพ้สามารถกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้
- หลีกเลี่ยงยาบางชนิด ที่อาจลดประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกัน โดยพูดคุยกับคุณหมอเพื่อเปลี่ยนตัวยาหรือวิธีการรักษาแบบอื่น
- ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการบำบัดด้วยการให้สารก่อภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2-3 ปี
- อะดรีนาลีนฉุกเฉิน สำหรับผู้มีอาการแพ้รุนแรง ซึ่งอาจช่วยลดอาการในระหว่างการรอเข้ารับการรักษากรณีฉุกเฉิน
การรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง
- ยาต้านการอักเสบ ช่วยลดอาการอักเสบ และบรรเทาความเจ็บปวด
- คอร์ติโคสเตียร์รอยด์ (Corticosteroid) ช่วยลดการอักเสบ และรักษาอาการวูบวาบเฉียบพลัน
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล โคเดอีน
- ยากดภูมิคุ้มกัน ช่วยยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- กายภาพบำบัด ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย
- การรักษาความบกพร่อง เช่น การฉีดอินซูลินในกรณีของโรคเบาหวาน การให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง
- การผ่าตัด เช่น การรักษาลำไส้อุดตันในกรณีของโรคโครห์น
การรักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- รักษาการติดเชื้อ ในกรณีติดเชื้อควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อรุนแรง
- ป้องกันการติดเชื้อ บางคนอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะในระยะยาว เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเดินหายใจ
- การบำบัดด้วยอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ที่ประกอบด้วยโปรตีนแอนติบอดีที่จำเป็นต่อระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับการติดเชื้อ
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ใช้รักษาสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่กระทบต่อการใช้ชีวิต
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
การดูแลตัวเองเพื่อส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอาจทำได้ ดังนี้
- งดสูบบุหรี่และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นรับประทานผักและผลไม้ โปรตีนไม่ติดหนังและมัน ธัญพืช เมล็ดพืช นมและผลิตภัณฑ์จากนมไขมันต่ำ และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ โซเดียมและน้ำตาลสูง เช่น เบคอน ไส้กรอก เค้ก คุกกี้ อาหารแปรรูป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกาย ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นในระยะยาว ด้วยการออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน ประมาณ 5 วัน/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ เต้นแอโรบิก
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพเป็นประจำ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการอดนอนอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งระบบภูมิคุ้มกันด้วย
- เข้ารับการรักษาอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น