ระบบภูมิคุ้มกัน หมายถึง กลไกทางชีวภาพของร่างกายประกอบไปด้วยอวัยวะหลายส่วนซึ่งทำหน้าที่ป้องกัน ต่อสู้ กำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจึงควรหมั่นดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่เหมาะสม นอนหลับให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมต่อสู้กับเชื้อโรค
ส่วนประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน
ระบบภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (Innate Immunity) ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์จากเหล่าสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรค ประกอบด้วยอวัยวะและเซลล์ต่าง ๆ ดังนี้
- เซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของระบบภูมิคุ้มกัน เปรียบเสมือนกองกำลังซึ่งทำหน้าที่มองหาและทำลายสิ่งผิดปกติ โดยปกติ เซลล์เม็ดเลือดขาวจะไหลเวียนอยู่ในเลือดทั่วร่างกาย หรืออยู่ตามบริเวณเนื้อเยื่อ เซลล์เม็ดเลือดขาวหลายชนิด เช่น ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) ทำหน้าที่ผลิตแอนดิบอดีเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม (เซลล์บี หรือ B Cell) หรือทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสและเซลล์มะเร็ง (เซลล์ที หรือ T Cell) ฟาโกไซต์ (Phagocyte) หรือเซลล์กลืนกิน เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่คอยปกป้องร่างกายด้วยการกลืนกินสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตราย
- ต่อมน้ำเหลือง เป็นต่อมขนาดเล็กมีประมาณ 600 ต่อมอยู่บริเวณต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เช่น คอ รักแร้ หน้าท้อง หน้าอก ขาหนีบ มีเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกัน คัดกรองและทำลายเชื้อโรคที่ผ่านเข้ามาอยู่ในน้ำเหลือง
- ม้าม เป็นอวัยวะรูปทรงคล้ายเม็ดถั่ว เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและกักเก็บเซลล์เม็ดเลือดขาวของร่างกาย นอกจากนี้ ม้ามยังมีหน้าที่กรองและทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่าหรือได้รับความเสียหาย
- ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) ต่อมทอนซิลจะอยู่บริเวณปาก โพรงจมูก และโคนลิ้น ส่วนต่อมอะดีนอยด์จะอยู่ด้านหลังโพรงจมูก ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายทางจมูกหรือช่องปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อบริเวณลำคอหรือปอด
- ต่อมไทมัส อยู่บริเวณหน้าอก เป็นแหล่งผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ประเภทเซลล์ที
- ไขกระดูก เป็นเนื้อเยื่อข้างในกระดูก เป็นแหล่งผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว เช่นเดียวกับม้ามและต่อมไทมัส
- ผิวหนัง อวัยวะอยู่ชั้นนอกสุดซึ่งห่อหุ้มร่างกายและนับเป็นปราการด่านแรกในการดักจับสิ่งแปลกปลอม โดยการผลิตโปรตีนเฉพาะและเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้สิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคบางชนิดผ่านเข้าสู่ร่างกายได้
การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
เมื่อร่างกายสัมผัสสิ่งแปลกปลอมที่มีสารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจน (Antigen) เซลล์บี ซึ่งเป็นลิมโฟไซต์แบบหนึ่ง จะผลิตโปรตีนที่เรียกว่าแอนติบอดีขึ้นมา และจดจำสิ่งแปลกปลอมนั้น ๆ หลังจากนั้นเซลล์ทีหรือลิมโฟไซต์อีกประเภท จะรับหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเซลล์ที่ติดเชื้อ โดยบางครั้ง ลิมโฟไซต์อาจทำงานคู่กับฟาโกไซต์
ในกรณีที่ร่างกายป่วยเป็นโรคเพียงครั้งเดียว เช่น อีสุกอีใส เป็นเพราะร่างกายมีแอนติบอดีของเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุของโรคนั้นอยู่แล้ว เมื่อระบบภูมิคุ้มกันตรวจเจอเชื้อโรค ก็จะรีบทำลายเชื้อโรคทันทีก่อนที่จะเกิดอาการของโรคนั้นอีกครั้ง
วิธีดูแลระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีโอกาสอ่อนแอลงได้จากโรคภัยหรือการไม่ดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้ป่วยไข้บ่อยครั้งเนื่องจากร่างกายไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือและจัดการกับเชื้อโรคได้ เพื่อป้องกันระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่เพิ่มความแข็งให้ระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ผัก ผลไม้ เนื่องจากมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ทั้งวิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน สังกะสี และหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะการรับน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายปริมาณมาก สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายในช่วงเวลานั้นอาจทำให้เจ็บป่วยได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับอย่างเต็มอิ่มช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเป็นปกติ เนื่องจากระหว่างนอนหลับ ร่างกายจะซ่อมแซมและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงอีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน เพราะการนอนหลับจะช่วยลดความเครียดและรักษาระดับความดันให้เป็นปกติ ผู้ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานเป็นปกติ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน โดยใน 1 วัน ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังอาจช่วยช่วยให้หลับสบาย ทำให้ร่างกายพักผ่อนได้เพียงพอ
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หนึ่งในโรคซึ่งมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรงคือเอดส์ หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเชื้อเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV) สามารถแพร่กระจายผ่านเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้
- จัดการความเครียด การมีความเครียดอย่างต่อเนื่องจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง อาจสามารถจัดการความเครียดได้หลายวิธี เช่น ออกไปเดินเล่น ทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง นั่งสมาธิ ทำงานอดิเรก เล่นกีฬา ฟังเพลง พูดคุยระบายความในใจกับเพื่อนฝูง