การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างในสังคมไทย สังคมโลก รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก บางคนต้องพักงาน บางคนต้องตกงาน รายได้หดหาย บางคนถึงไม่ป่วยเป็นโควิด-19 ก็ต้องเผชิญกับโรคเครียดหรือโรควิตกกังวล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจส่งผลร้ายมากกว่าที่ใครหลายคนคิด เพราะมีงานศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ที่ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำคน เสี่ยงฆ่าตัวตาย มากขึ้นด้วย
ผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำคน เสี่ยงฆ่าตัวตาย มากขึ้น
ผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Brain, Behavior, and Immunity ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เยอรมนี อินเดีย บังกลาเทศ และซาอุดิอาระเบีย ชี้ว่า อัตราการฆ่าตัวตายเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 นั้นมีตัวเลขสูงขึ้น และปัญหานี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาระดับโลก
โดยนักวิจัยเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น มาจากผลกระทบที่มาจากการระบาดของเชื้อโควิด ดังนี้
ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในช่วงปิดเมือง
การปิดเมือง หรือ Lockdown เป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศเลือกใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่มาตรการนี้ก็กลายมาเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติเช่นกัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องตกงานเพราะเพราะโควิด-19 ไหนจะต้องมานั่งเครียดเรื่องการเงินและรายได้ที่ลดลง ทั้งยังรู้สึกสิ้นหวัง และไร้ค่า จึงทำให้อัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในหลายพื้นที่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ยกตัวอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศเยอรมนี ก็ฆ่าตัวตายเมื่อปลายเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2563 โดยรายงานระบุว่า ที่เขาตัดสินใจเช่นนี้เพราะรู้สึกสิ้นหวังกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การเว้นระยะห่างทางสังคม และความโดดเดี่ยว
อีกหนึ่งมาตรการที่ทั่วโลกใช้ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ก็คือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ทำให้ผู้คนที่เครียดและหวาดกลัวโควิด-19 อยู่แล้ว ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว และเครียดหนักกว่าเดิมได้เช่นกัน โดยผู้เชี่ยวชาญเผยว่า ความโดดเดี่ยวจากการเว้นระยะห่างทางสังคมนี้ ทำให้ผู้คนมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นหลายอย่าง รวมถึงโรคซึมเศร้า และความคิดอยากฆ่าตัวตายด้วย
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่นักศึกษาชาวจีนที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตาย เนื่องจากต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเพราะต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ความโดดเดี่ยวหรือการที่ต้องถูกแยกตัวจากสังคมที่คุ้นเคยนั้น ทำให้คนเราเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจริง ๆ แถมบางคนยังฆ่าตัวตายได้สำเร็จด้วย
ความเครียดและบาดแผลทางใจของบุคลากรทางการแพทย์
มีหลักฐานที่ยืนยันว่า ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นอัตราการป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความเครียดจัด ความกลัวติดโรค ความรู้สึกสิ้นหวัง รวมถึงบาดแผลทางใจที่ต้องมาเห็นผู้ป่วยตายอย่างเดียวดายเพราะโควิด-19 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างการเสียชีวิตของนางพยาบาลแผนกผู้ป่วยหนักประจำโรงพยาบาลลอนดอน ที่ฆ่าตัวตายในช่วงที่กำลังดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพราะผู้ป่วยที่เธอดูแลเสียชีวิตไปแล้วถึง 8 ราย
สัญญาณของความคิดฆ่าตัวตาย
สัญญาณของความคิดฆ่าตัวตาย หรือความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่คุณควรรู้ มีดังนี้
- เศร้าหรือรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์แปรปรวนมากเกินไป หรือนานเกินไป
- อยู่ ๆ ก็รู้สึกสงบขึ้น จากที่เคยซึมเศร้าหรืออารมณ์แปรปรวน อยู่ ๆ ก็ใจเย็นหรือสงบลงอย่างกะทันหัน ซึ่งนั่นอาจเป็นสัญญาณว่าคน ๆ นั้นตัดสินใจแล้วว่าจะจบชีวิตตัวเอง
- รู้สึกสิ้นหวังอย่างที่สุด
- มีปัญหาในการนอนหลับ
- ชอบอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร แม้แต่คนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท อยู่ ๆ ก็เบื่อกิจกรรมที่ตัวเองเคยชื่นชอบ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าที่เป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตาย
- นิสัยหรือรูปลักษณ์เปลี่ยนไป ซึ่งคนที่คิดฆ่าตัวตายอาจมีนิสัยเปลี่ยนไป เช่น จากที่เคยพูดเร็วก็พูดช้าจนผิดสังเกต และคนที่ตัดสินใจจะฆ่าตัวตายส่วนใหญ่มักจะละเลยรูปลักษณ์ของตัวเองด้วย
- แสดงพฤติกรรมอันตรายที่ทำร้ายตัวเอง เช่น ขับรถเร็ว มีเซ็กส์แบบไม่ป้องกัน ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้น ซึ่งนี่อาจเป็นตัวบ่งชี้ว่า คน ๆ นี้ไม่เห็นค่าของคุณชีวิตตัวเองแล้ว
- ชอบพูด หรือชอบขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเผยว่า 50-75% ของคนที่คิดจะฆ่าตัวตายจะส่งสัญญาณให้คนใกล้ตัวรู้ว่าเขาอยากฆ่าตัวตาย
วิธีลดความ เสี่ยงฆ่าตัวตาย ในช่วงโควิด-19 ระบาด
คุณสามารถลดความเสี่ยงฆ่าตัวตายในช่วงที่โควิด-19 ระบาดได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- จำกัดการรับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 และต้องรับข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น
- ฝึกควบคุมสภาพจิตใจของตัวเองให้ดี เช่น ฝึกนั่งสมาธิ ฝึกหายใจลึก ๆ รวมถึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตให้แข็งแรงด้วย
- มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นเสมอ เช่น วิดีโอคอลคุยกัน ติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวจนเกินไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย
- ใส่ใจคนที่คุณรักอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก หากเขาต้องอยู่ตามลำพังหรือแยกจากผู้อื่นนาน ๆ ก็อย่าลืมติดต่อพูดคุย หรือให้กำลังใจเขาเป็นประจำด้วย