หลายคนที่ติดตามข่าวการฉีด วัคซีนโควิด -19 ในช่วงนี้ อาจจะได้ยินเกี่ยวกับคำแนะนำเรื่องการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกัน ระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สอง เช่น ฉีดวัคซีนซิโนแวค (sinovac) ก่อนในเข็มที่ 1 แล้วเข็มที่ 2 ค่อยไปฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จนอาจทำให้เกิดข้อสงสัยที่ว่า ฉีดวัคซีนโควิด-19 สองชนิดที่แตกต่างกัน เป็นอันตรายหรือไม่ มาหาคำตอบพร้อมกันกับ Hello คุณหมอ ได้เลยค่ะ
ทำไมถึงมีการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่างชนิดกัน
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนที่เพิ่งคิดค้นมาได้ไม่นาน ทำให้การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเหล่านี้ยังคงมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับวัคซีนป้องกันโรคอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ความใหม่ของวัคซีนนี้เองทำให้ศึกษาค้นพบข้อมูลที่น่าสนใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับ วัคซีนโควิด-19 ออกมาให้เห็นเรื่อย ๆ
หนึ่งในงานวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ ก็คือ การทดลอง ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่แตกต่างกัน 2 ชนิด เพื่อดูว่าระดับการสร้างภูมิคุ้มกันจะมีประสิทธิภาพแตกต่างจากการฉีดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรือไม่
ยกตัวอย่าง งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่กำลังดำเนินในสหราชอาณาจักร (UK) ได้ทำการเปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมการทดสอบฉีด วัคซีนโควิด-19 สองชนิดที่แตกต่างกัน โดยให้ผู้เข้าทดสอบได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ในเข็มที่ 1 แล้วจึงค่อยฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเข็มที่ 2 จากนั้นจึงวัดผลดูว่า ระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในร่างกายของอาสาสมัครเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานว่า การฉีดวัคซีนที่ต่างชนิดกันแบบนี้ อาจทำให้ร่างกายมีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมารับมือกับโรคได้ดีมากกว่าการพึ่งพาวัคซีนชนิดเดียวกัน และอาจจะกลายเป็นแนวทางใหม่ในการฉีด วัคซีนโควิด-19 ในอนาคต
นอกเหนือจากนี้ ในหลาย ๆ ประเทศก็ได้ทดลองการฉีดวัคซีน 2 ชนิดที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศจีนที่เริ่มทดลองให้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในเข็มแรก ต่อด้วยวัคซีนซิโนแวคในเข็มที่สอง หรืออย่างในประเทศไทยที่เริ่มมีการพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีน 2 ชนิด คือซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน
การฉีดวัคซีนโควิด-19 สองชนิด อันตรายหรือไม่
เนื่องจากงานวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สองชนิดที่แตกต่างกันที่มีอยู่ส่วนใหญ่เพิ่งเริ่มดำเนินการทดลองไปได้ไม่นาน จึงยังไม่อาจหาข้อสรุปเกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายจากการฉีดวัคซีน 2 ชนิดได้ ผู้เข้ารับการทดลองจะได้รับการเฝ้าระวังดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เผื่อในกรณีที่เกิดอาการผิดปกติหรืออันตรายใด ๆ
นอกจากนี้ การฉีด วัคซีนโควิด-19 ที่ต่างกันก็ยังมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้
- ปวดศีรษะ
- ตัวร้อน
- เป็นไข้
- ปวดท้อง
ผู้ที่ได้รับ วัคซีนโควิด-19 จะต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการของตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภายในช่วง 24 ชั่วโมงแรก หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ในทันที