backup og meta

ตรวจโควิด มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร

ตรวจโควิด มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร

ตรวจโควิด เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในร่างกาย หากทราบผลของการตรวจได้เร็วและรีบทำการรักษา ก็อาจช่วยหยุดการแพร่กระจายเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบัน การตรวจโควิดนั้นง่ายและทราบผลได้รวดเร็วขึ้น มีชุดทดสอบที่สามารถตรวจเองได้ที่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบด้วยวิธีการ RT-PCR เพื่อยืนยันผลได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อควรเข้ารับการตรวจโควิด เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ตัวได้ทัน สามารถกักตัวเองก่อนแพร่เชื้อสู่คนรอบข้าง และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

การตรวจโควิด 19 คืออะไร

ตรวจโควิด คือ การตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงไปจนถึงมีความเสี่ยงต่ำ ทั้งในผู้ที่แสดงอาการ เช่น มีไข้ เจ็บคอ หายใจลำบาก สูญเสียการรับรู้กลิ่นและรส และในผู้ที่ไม่แสดงอาการ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด 19 และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการตรวจโควิดในปัจจุบันมีชุดทดสอบที่สามารถใช้ตรวจเองเบื้องต้นได้ที่บ้าน เห็นผลรวดเร็วหรือการตรวจแบบ RT-PCR ที่สามารถเข้ารับตรวจตามคลินิกและโรงพยาบาล​ ซึ่งให้ผลที่แม่นยำขึ้น การตรวจโควิด ทำให้ผู้ป่วยสามารถรู้ตัวว่าตนเองติดโควิดหรือไม่ สามารถแยกตัวออกจากผู้คนเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ และช่วยให้ได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มลดความรุนแรงของโรคโควิด 19 และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

ประเภทของการตรวจโควิด 19

การตรวจโควิด 19 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. การทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid Test)

การใช้ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen Test Kit) ตรวจหาโปรตีนแอนติเจน (Antigen) ของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 เป็นชุดทดสอบเบื้องต้นที่สามารถใช้ตรวจเองได้ที่บ้าน โดยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในจมูกหรือคอ รู้ผลภายใน 15-30 นาที หากผลออกมาเป็นบวกแสดงว่าติดเชื้อ ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลและทำการรักษา แต่หากผลตรวจเป็นลบแสดงว่าไม่ติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตาม ควรตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันเพื่อยืนยันผล เนื่องจากการตรวจในครั้งแรกจำนวนเชื้ออาจมีไม่มากพอ ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ

วิธีใช้ชุดทดสอบแอนติเจน ให้ผู้ทดสอบแยงไม้สวอปเข้าไปในโพรงจมูกประมาณ 2.5 เซนติเมตร จนชนเยื่อบุจมูก จากนั้นหมุนก้านสวอป 4-5 รอบ เพื่อเก็บตัวอย่าง จากนั้น น้ำก้านสวอปออกมาและทำแบบเดิมอีกครั้งในจมูกข้างถัดไป เมื่อเสร็จเรียบร้อยนำก้านสวอปด้านที่เป็นสำลีจุ่มลงไปในหลอดทอดสอบที่มีน้ำยาสกัด แช่ทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที เมื่อครบเวลาให้กดข้างหลอด บีบปลายสำลีเพื่อให้ได้ตัวอย่างมากที่สุด นำตัวอย่างในหลอดทดสอบไปหยดในหลุมอุปกรณ์ตรวจเชื้อ รอผลประมาณ 15 นาที หากมีขีดสีแดงขึ้นที่ C และ T แสดงว่าผลเป็นบวกมีการติดเชื้อ แต่ถ้าหากขีดสีแดงขึ้นที่ C ตัวเดียว แสดงว่าผลเป็นลบไม่ติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลจะเป็นลบผู้ทดสอบก็ควรตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วัน เพื่อยืนยันผล เพราะชุดทดสอบแอนติเจนเป็นเพียงการทดสอบเบื้องต้น ดังนั้นผลลัพธ์อาจคลาดเคลื่อนได้

  1. ตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อด้วยวิธี RT-PCR

ตรวจโควิด แบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด 19 ซึ่งต้องเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล โดยการเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งในจมูกหรือลำคอ (Swab) และทดสอบด้วยสารละลายเคมีในห้องปฏิบัติการ เป็นการทดสอบที่มีความแม่นยำสูง แต่อาจต้องใช้เวลาและรอผลประมาณ 24-48 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและปริมาณของผู้เข้ารับการตรวจ

ผลตรวจโควิด

ผลเป็นบวก หมายถึง ติดเชื้อ หากพบว่าผลเป็นบวกให้รีบแยกตัวเองออกจากผู้อื่นทันทีเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย จากนั้นโทรติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ เพื่อเข้ารับการตรวจสอบเชื้อเพิ่มเติมและทำการรักษาในขั้นตอนต่อไป

  • กักตัวเองในห้องอย่างน้อย 10 วัน โดยแยกตัวให้ห่างจากคนอื่น ๆ
  • พักผ่อนและดื่มน้ำมาก ๆ
  • ติดต่อสถานพยาบาลโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ติดเชื้อหรือผู้ที่มีภาวะสุขภาพอื่น ๆ

ผลตรวจเป็นลบ หมายถึง ไม่ติดเชื้อ หากใช้ชุดทดสอบแอนติเจนแล้วพบว่า ไม่ติดเชื้อ ให้รอ 3-5 วันแล้วตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อยืนยันผล แต่หากผู้ทดสอบมีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสเชื้อ ให้เข้ารับการตรวจด้วยเทคนิค RT-PCR ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำสูงสุด

  • แยกตัวออกจากผู้อื่นหากไม่มีอาการโควิด 19 และสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
  • กักตัวเองที่บ้าน 14 วันหลังจากที่สัมผัสเชื้อ
  • หากได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วอาจไม่ต้องกักตัว
  • ติดต่อสถานพยาบาลหรือหน่วยงานทันทีเกี่ยวกับผลตรวจเป็นลบ แต่ผู้ทดสอบอาจมีความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ

ใครควรได้รับการตรวจโควิด

ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับเชื้อไวรัสโควิด 19 ควรได้รับการทดสอบ ดังนี้

  • ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 เนื่องจากมีความจำเป็นไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ เช่น การเดินทางในรถประจำทาง การเข้าร่วมงานสังคม อยู่ในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
  • ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนและสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด 19
  • ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ ควรได้รับการทดสอบ 5-7 วันหลังการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย
  • ผู้ที่มีอาการบ่งชี้ว่าติดเชื้อไวรัส ได้แก่ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียการรับรสชาติหรือได้กลิ่น ปวดหัว หนาวสั่น วิงเวียนศีรษะ
  • ผู้ที่ต้องเดินทางต่างประเทศ โดยต้องใช้ผลตรวจเป็นลบ
  • ผู้ที่ต้องทำงานกับคนหมู่มาก เช่น กองถ่ายละคร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/570/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%97/. Accessed December 7, 2021

Why COVID-19 testing is the key to getting back to normal. https://www.nia.nih.gov/news/why-covid-19-testing-key-getting-back-normal. Accessed December 7, 2021

Coronavirus Disease 2019 Testing Basics. https://www.fda.gov/consumers/consumer-updates/coronavirus-disease-2019-testing-basics. Accessed December 7, 2021

How is the COVID-19 Virus Detected using Real Time RT-PCR?. https://www.iaea.org/newscenter/news/how-is-the-covid-19-virus-detected-using-real-time-rt-pcr. Accessed December 7, 2021

SAR-CoV-2: Real-Time Polymerase Chain Reaction (PCR). https://www.tm.mahidol.ac.th/tmdr-lab/?q=COVID_RealTime. Accessed December 7, 2021

Testing Overview. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/symptoms-testing/testing.html. Accessed December 7, 2021

What Your Test Results Mean. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/downloads/What-Your-Test-Results-Mean.pdf. Accessed December 7, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/12/2021

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

กักตัว 14 วัน เช็กอาการโควิด-19 และการดูแลตัวเอง

อาการโควิด-19 มีอะไรบ้าง เราติดแล้วหรือยัง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 08/12/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา