backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โควิด 19 อาการ สาเหตุ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/11/2021

โควิด 19 อาการ สาเหตุ และการรักษา

โควิด 19 (COVID-19) เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) เป็นโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง คือ ลำคอ จมูก ปอด และหลอดลม อาจทำให้มีอาการไข้ ไอแห้ง เหนื่อยล้า ไม่รู้รสหรือไม่ได้กลิ่น การติดเชื้ออาจมีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงเสียชีวิต และการรักษาในปัจจุบันอาจเป็นเพียงการประคับประคอง หรือบรรเทาอาการให้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งในขณะนี้โควิด 19 ระบาดใหญ่ไปทั่วโลก การป้องกันตัวเองและผู้อื่นจึงอาจเป็นวิธีที่จะช่วยลดการแพร่กระจายโรคได้

คำจำกัดความ

โควิด 19 คืออะไร

โควิด 19 เป็นโรคที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เรียกว่า SARS-CoV-2 สามารถกระตุ้นการติดเชื้อทางเดินหายใจ ส่งผลต่อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง คือ จมูก ลำคอ หลอดลม และปอด ระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนเมื่อเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2019 และแพร่กระจายเข้าสู่คนทำให้เกิดโรคระบาดใหญ่ไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน เชื้อไวรัสโคโรนาได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ อัลฟา (Alpha) เบต้า (Beta) เดลต้า (Delta) แกมม่า (Gamma) มิว (Mu) และ R.1

อาการ

อาการโควิด 19

อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคโควิด 19 คือ มีไข้ ไอแห้ง และเหนื่อยล้า รวมถึงอาการอื่น ๆ ของโควิด 19 ที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้

  • สูญเสียการรับรสชาติหรือการได้กลิ่น
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจลำบาก
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อต่าง ๆ
  • เจ็บคอ เจ็บหน้าอก
  • ปวดศีรษะ หนาวสั่นหรือวิงเวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการตาแดง
  • ผื่นผิวหนังชนิดต่าง ๆ
  • ภาวะสมองล้า (Brain Fog)
  • อาการของโควิด 19 ขั้นรุนแรงที่ควรรีบพบคุณหมอเพื่อให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน ดังนี้

    • หายใจถี่
    • ไม่อยากอาหาร
    • มึนงง สับสน
    • เจ็บหรือรู้สึกกดทับที่หน้าอกอย่างต่อเนื่อง
    • อุณหภูมิสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส
    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
    • ความผิดปกติของการนอนหลับ
    • สติลดลง อาจมีอาการชัก
    • ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า
    • ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่รุนแรง เช่น อาการเพ้อ ความเสียหายของเส้นประสาท โรคหลอดเลือดสมอง และสมองอักเสบ

    สำหรับผู้ที่ได้รับการรักษาโควิด 19 อาจยังคงมีอาการที่เป็นผลกระทบระยะยาวเกิดขึ้น เช่น อาการเหนื่อยล้า อาการระบบทางเดินหายใจ และระบบประสาท ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเชื้อเข้าทำลายปอดและระบบประสาท

    สาหตุ

    สาเหตุโควิด 19

    โควิด 19 เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสชนิดใหม่ของสายพันธุ์โคโรนาไวรัส อาจมีสาเหตุเริ่มต้นจากสัตว์ที่เป็นตัวกลางแพร่กระจายมาสู่คน เช่น ค้างคาว อูฐ แมว วัว และควาย มีการเก็บตัวอย่างจากสิ่งแวดล้อมในตลาดอาหารทะเล Huanan ในอู่ฮั่น พบเชื้อไวรัสมากที่สุดในบริเวณที่ค้าสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม จึงสันนิษฐานว่าตลาดอาจเป็นต้นกำเนิดของไวรัส หรืออาจมีส่วนในการระบาดของเชื้อไวรัสในระยะแรก ในขณะนี้เชื้อไวรัสโคโรนาได้มีการกลายพันธุ์ ดังนี้

    • อัลฟา พบในช่วงปลายปี ค.ศ. 2020 การกลายพันธุ์นี้ทำให้ไวรัสสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและมากขึ้นถึง 70% เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตที่สูงขึ้น
    • เบต้า แพร่กระจายได้ง่ายกว่าไวรัสดั้งเดิม แต่อาจไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงขึ้น
    • เดลต้า พบในอินเดียเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 ทำให้เกิดกรณีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันอาจเสี่ยงอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น
    • แกมม่า พบในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 ติดต่อได้ง่ายกว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้า และอาจแพร่เชื้อไปยังผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 แล้ว
    • มิว พบครั้งแรกในเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 การกลายพันธุ์นี้อาจทำให้วัคซีนโควิด 19 และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อไวรัสน้อยลง ไวรัสอาจแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ทำให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้น
    • R.1 พบในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021 อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์ในอนาคต มีความรุนแรงและการแพร่เชื้อคล้ายกับเชื้อไวรัสก่อนหน้า

    โรคโควิด 19 จะแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านละอองสารคัดหลั่งที่มาจากจมูกหรือปาก ผ่านการไอหรือจาม และรับเชื้อผ่านการสูดดมละอองเหล่านั้น หรือสัมผัสกับพื้นผิวที่ปนเปื้อนละอองแล้วมาจับตามใบหน้า ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสอาจนับจากการติดเชื้อและการแสดงอาการ ตั้งแต่ 1-14 วัน ผู้ป่วยเกิน 97% จะมีอาการภายใน 5-6 วัน

    การเพิ่มจำนวนของไวรัสเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง คือ จมูก ลำคอ ปอด และหลอดลม ซึ่งการแพร่เชื้อมากที่สุดจะเกิดขึ้นในช่วงแรกที่แสดงอาการ

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยงโควิด 19

    ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อและเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ดังนี้

    • เด็กและวัยรุ่น มีความเสี่ยงติดเชื้อและสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ แต่เด็กมักมีความเสี่ยงต่ำที่ไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง
    • ความเสี่ยงอาการรุนแรงมักเพิ่มตามอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
    • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพมักมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงสูงเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนา ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ภาวะสมองเสื่อม ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการปลูกถ่ายไขกระดูก เอชไอวี หรือใช้ยาบางชนิด ความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด หรือผู้ที่ตั้งครรภ์

    การวินิจฉัยและการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัยโควิด 19

    หากมีอาการของดควิด 19 หรือเคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ให้ติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ คุณหมออาจสอบถามประวัติการติดเชื้อหรือระยะเวลาสัมผัสกับผู้ติดเชื้อเพื่อประเมินระยะของโรค และทำการทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อ โดยคุณหมอจะเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูก ลำคอ หรือน้ำลาย เพื่อทำการทดสอบหาเชื้อไวรัสโคโรนา อาจใช้วิธีการตรวจ ดังนี้

    • การตรวจสารพันธุกรรม (Nucleic Acid Amplification Test) ใช้เพื่อตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อในระยะเฉียบพลัน การตรวจรูปแบบนี้เป็นการตรวจแบบ Real Time หรือ RT-PCR เป็นการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ในการตรวจจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เฉพาะทาง เช่น เทคนิค Realtime RT-PCR
    • การตรวจหาแอนติเจน ใช้ตรวจหาแอนติเจนของไวรัส และอาจใช้เพื่อการวินิจฉัยการติดเชื้อเฉียบพลัน เช่น ใช้ชุดตรวจ แอนติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit) ที่สามารถตรวจเองได้ที่บ้าน รู้ผลภายใน 15-30 นาที
    • การตรวจหาแอนติบอดี ใช้การตรวจหาแอนติบอดี IgM และ IgG ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต้านไวรัส ใช้เวลตรวจประมาณ 15 นาที ซึ่งอาจไม่สามารถตรวจพบในสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ เช่น วิธี Immunoassay ชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Antibody Rapid Test) เทคนิค Enzyme Linked Immunosorbent Assay วิธี Antibody Neutralizing Assay

    การรักษาโควิด 19

    ในขณะนี้ยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับโควิด 19 ในผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเล็กน้อย คุณหมออาจแนะนำให้พักฟื้นที่บ้าน สามารถรักษาได้ด้วยวิธีดูแลประคับประคองอาการ และเพื่อบรรเทาอาการ ดังนี้

    • กักตัวแยกกับผู้อื่นโดยแยกห้องนอน ห้องนํ้า ของใช้ส่วนตัวจากผู้อื่น มีอุปกรณ์ป้องกันการติดและแพร่เชื้อ เช่น ปรอทวัดไข้ แอลกอฮอล์เจลเข้มข้นอย่างน้อย 70% หน้ากากอนามัย สบู่
    • มีอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ถุงขยะและถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิดไว้นอกบ้าน สารฟอกขาว และนํ้ายาทําความสะอาด
    • รับประทานยาฟ้าทลายโจร ลดอาการอักเสบ ไข้ ไอ เจ็บคอ ปรับภูมิคุ้มกัน ยังยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส รับประทานวันละ 180 กรัม/วัน มื้อละ 60 มิลลิกรัม 3 มื้อ และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พบคุณหมอ
    • รับประทานยาแก้ปวด ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือ อะซิตามิโนเฟน (Acetaminophen)
    • รับประทานยาแก้ไข
    • พักผ่อนให้เพียงพอ
    • ดื่มน้ำมาก ๆ

    ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

    ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องได้รับการดูแลเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำมาก ๆ  และควบคุมอาการไข้ รับประทานยาที่บรรเทาอาการเจ็บคอ บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีไข้ แต่ไม่ควรให้ยาแอสไพรินกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 19 ปี

    องค์การอาหารและยา (FDA) อนุมัติยาต้านไวรัสเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) เพื่อรักษาโควิด 19 ในผู้ใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และอนุญาตให้ใช้ยาบาริซิทินิบ (Baricitinib) เพื่อรักษาโควิด 19 ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในบางกรณีอาจช่วยต้านโควิด 19 โดยลดการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านไวรัส

    ในประเทศไทยองค์การเภสัชกรรมได้ทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีฤทธิ์ต่อต้านอาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด ที่อยู่ในสูตรยารักษาโควิด 19 ของไทย สามารถลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโควิด 19 ได้ ยาฟาวิฟิราเวียร์จะออกฤทธิ์ 2 แบบ คือ ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสและทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์จนภูมิต้านทางสามารถทำลายไวรัสจนหมด หรือเหลือจำนวนน้อยจนไม่สามารถก่อโรคได้ คุณหมอจะพิจารณาให้ยาฟาวิฟิราเวียร์ในผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบและอาการรุนแรง รวมทั้งผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรครุนแรง ได้แก่

    • อายุมากกว่า 60 ปี
    • มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดเรื้อรัง โรคตับ ไตเรื้อรัง เบาหวาน ภาวะอ้วน ะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

    สำหรับการรักษาโควิด 19 ระดับอ่อนถึงปานกลาง มีความเสี่ยงสูงที่จะพัฒนาเป็นอาการรุนแรง อาจใช้ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) หลายชนิด รวมถึงโซโตรวิแมบ (Sotrovimab) คาซิริวิแมบ (Casirivimab) และอิมเดวิแมบ (Imdevimab) ด้วยวิธีฉีดเข้าเส้นเลือดดำ ซึ่งต้องได้รับทันทีหลังจากเริ่มมีอาการของโควิด 19

    นอกจากนี้ องค์การอาหารและยา (FDA) ยังอนุมัติการรักษาด้วยพลาสมาของผู้ที่ฟื้นจากโรค (Convalescent Plasma) ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นวิธีถ่ายเลือดจากผู้ที่เคยหายจากโควิด 19 ใช้สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยหรือมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่จะช่วยจัดการกับโควิด 19

    การป้องกันตัวเองและคนรอบข้างเพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด 19 สามารถทำได้ดังนี้

    • รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร หลีกเลี่ยงการอยู่ในฝูงชนและการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่นถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม
    • เข้ารับการฉีดวัคซีนทันทีและปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เพื่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรค
    • ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดอยู่ที่มือ
    • สวมหน้ากากอนามัยที่พอดีและปิดสนิทเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    • หากไอหรือจามให้ปิดปากและจมูกด้วยข้อศอกหรือกระดาษทิชชู่ ควรทิ้งกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วทันทีและล้างมือให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ  หากมีอาการหรือผลตรวจโควิด 19 เป็นบวกให้กักตัวเอง  14 วัน หรือจนกว่าจะหายดี และได้รับการตรวจยืนยันอีกครั้ง

    การรักษาสุขอนามัยที่ดีเพื่อกำจัดเชื้อโรคและป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่นและตนเอง ดังนี้

    • ทำความสะอาดมือบ่อยครั้งด้วยสบู่และน้ำ หากไม่สามารถล้างมื้อได้ให้ใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อ วิธีนี้จะช่วยกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงไวรัสด้วย
    • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวภายในบ้านหรืออาคารบ่อย ๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ต้องสัมผัสเป็นประจำ เช่น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ และหน้าจอโทรศัพท์

    การใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีช่วยป้องกันการเชื้อไวรัสได้ ดังนี้

    • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนสวมหน้ากาก และหลังถอดหน้ากากหรือหลังจากสัมผัสหน้ากาก
    • เมื่อใส่หน้ากากควรตรวจสอบว่าหน้ากากปิดปาก จมูก และคาง เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างที่เชื้อโรคอาจเข้ามาได้
    • หากหน้ากากเป็นแบบผ้าหลังจากใช้งานควรซักทำความสะอาดทันที หรือหากเป็นหน้ากากการแพทย์หลังจากการใช้งานให้แยกใส่ถุงพลาสติกและทิ้งถังขยะทันที

    เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโควิด 19 ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ในห้องออกกำลังกาย ร้านอาหาร สำนักงาน หรือห้องฝึกร้องเพลง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ต้องพูดเสียงดัง ตะโกน หรือการหายใจแรง ๆ อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายและสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้น เพื่อทำให้สภาพแวดล้อมปลอดภัยยิ่งขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้

    • หลีกเลี่ยง 3Cs คือ หลีกเลี่ยงพื้นที่ปิด (Closed) หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด (Crowded) และหลีกเลี่ยงการพบปะใกล้ชิดกับผู้อื่น (Close contact)
    • หากไม่สามารถหลีกเลี่ยง 3Cs ควรป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศเมื่ออยู่ในอาคาร

    หากรู้สึกไม่สบาย หรืออาจมีอาการของโควิด 19 ควรปฏิบัติ ดังนี้

    • หากมีอาการไข้ ไอแห้ง และหายใจลำบาก ให้ไปพบคุณหมอทันที หรือโทรติดต่อโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
    • อยู่บ้านและแยกตัวเองออกจากคนในครอบครัวเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากต้องอยู่ร่วมกับครอบครัว เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
    • เรียนรู้และทำความรู้จักกับอาการโควิด 19 ตั้งแต่อาการเริ่มต้นและอาการรุนแรง เพื่อประเมินสุขภาพ และเฝ้าระวังตนเอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 02/11/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา