ในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเดลต้า (Delta) และโอไมคริน (Omicron) อาจทำให้การท่องเที่ยวและสังสรรค์ช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันคริสมาสต์ วันปีใหม่ มีความน่ากังวลและลำบากมากกว่าปกติ ผู้ที่กำลังวางแผนจะเดินทางท่องเที่ยว หรือปาร์ตี้กับคนกลุ่มใหญ่ ควรศึกษาเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตัวเองจาก เชื้อไวรัส รวมถึงวิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และช่วยลดการแพร่กระจายของโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้น
เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้จากการไอ จาม สูดลมหายใจรับเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อบนสิ่งของรอบตัวก่อนนำมือไปจับตา ปาก จมูก ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อนำไปสู่อาการเจ็บป่วย ผู้ที่ติด เชื้อไวรัส อาจมีอาการ ดังนี้
อาการทั่วไปเมื่อติดเชื้อไวรัสโควิด-19
- มีไข้สูงเกิน 37.5 องศา
- หนาวสั่น
- อาการไอ เจ็บคอ
- คัดจมูก หายใจลำบาก
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต้นแรง
- วิงเวียนศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องร่วง
- สูญเสียการรับรู้รสชาติและการได้กลิ่น
อาการเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะยาว (long-haul Covid)
- โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ เมื่อเชื้อโควิด-19 อยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดโรคปอดบวม ซึ่งปอดทั้ง 2 ข้างอาจเต็มไปด้วยของเหลว ทำให้หายใจลำบาก และนำออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ยากขึ้น
- ลิ่มเลือด เชื้อไวรัสโควิด-19 อาจทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อนก่อให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจไปอุดตันหลอดเลือด จนทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้น้อยลง โดยเฉพาะหัวใจ สมอง เสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดปกติ โรคหลอดเลือดสมอง หมดสติ การทำงานของตับและไตบกพร่อง
- กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 บางรายอาจมีอาการแย่ลง เนื่องจากไวรัสเดินทางลงสู่ปอด และทำลายถุงลมที่นำส่งออกซิเจนเข้าสู่เลือด จนทำให้ออกซิเจนในเลือดมีระดับต่ำ หายใจลำบาก และอาจจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดการรักษา
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โดยปกติภูมิคุ้มกันในร่างกายทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัส แบคทีเรีย และเกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่แสดงออกมาในรูปแบบอาการไอ จาม การเจ็บป่วย แต่สำหรับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชนิดรุนแรง อาจกระตุ้นการผลิตไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งโดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันเมื่อร่างกายติดเชื้อ ออกมาในปริมาณมากเกินไป และส่งผลให้เนื้อเยื่อในร่างกายเกิดความเสียหายจนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตต่ำ การทำงานของอวัยวะบางส่วนของร่างกายล้มเหลว หลอดเลือดได้รับความเสียหาย
- กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ เป็นภาวะที่พบได้ยากซึ่งสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ที่อาจเกิดขึ้นทันทีหรือหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเซลล์ในร่างกายโดยไม่ได้ตั้งใจก่อให้เกิดการอักเสบสร้างความเสียหายให้แก่ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ปอด หากสังเกตว่าตนเองไข้ขึ้น ตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ มีผื่นขึ้นบนผิวหนัง ปวดท้อง ท้องเสีย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ผิวและริมฝีปากซีดเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เทา ควรเข้าพบคุณหมอในทันที
วิธีป้องกันตัวเองจาก เชื้อไวรัส โควิด-19
วิธีป้องกันตัวเองจาก เชื้อไวรัส ทำได้ดังนี้
-
รักษาสุขอนามัยมากขึ้น
ช่วงเทศกาลเป็นวันที่มีผู้คนจำนวนมากออกมาท่องเที่ยว รับประทานอาหาร พบปะสังสรรค์ ซึ่งไม่อาจรู้ได้เลยว่าใครที่มีเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่บ้าง เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัส อาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา และไม่รู้ตัวว่าตนเองติดเชื้อ เพื่อความปลอดภัยจึงควรรักษาสุขอนามัยตัวเองมากขึ้น ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันละอองของสารคัดหลั่งที่ลอยมากับอากาศจากผู้ติดเชื้อที่ไอ และจาม ใช้เจลที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสิ่งรอบตัว เช่น การจับลูกบิดประตู ปุ่มลิฟต์ เสาในรถไฟฟ้าหรือรถประจำทาง และควรอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายในทันทีหลังจากกลับเข้าบ้าน
-
ทำความสะอาดบ้าน สิ่งรอบตัว
การทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะพื้นที่ หรือสิ่งของที่สัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลูกบิดประตู โต๊ะ โซฟา พรม เตียง หมอน สวิตช์ไฟ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์ มือถือ เสื้อผ้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการรับเชื้อไวรัสที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าบนพื้นผิวต่าง ๆ
-
ฉีดวัคซีน
ปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 ที่เปิดให้ประชาชนเข้ารับการฉีดตามเกณฑ์อายุและภาวะทางสุขภาพที่คุณหมอกำหนด ได้แก่ ซิโนแวค (Sinovac) ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) แอสตร้าเซนเนกา (AstraZeneca) ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) สำหรับใครที่วางแผนการเดินทางท่องเที่ยวหรือสังสรรค์ การฉีดวัคซีนอาจเป็นวิธีป้องกันอีกหนึ่งทางเลือกที่อาจช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน และบรรเทาช่วยลดโอกาสการเกิดอาการรุนแรงเมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัสโควิด-19
-
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในร้านแบบปิด
ควรเลือกร้านอาหารที่มีการระบายอากาศได้ดี และมีมาตรการจำกัดจำนวนคน เพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการ อีกทั้งไม่ควรใช้ช้อน ส้อม จาน แก้วน้ำ หลอด เดียวกัน ควรมีช้อนกลางในแต่ละเมนูอาหาร โดยเฉพาะร้าน สุกี้ หมูกระทะ ชาบู และควรหลีกเลี่ยงคาราโอเกะ เพราะอาจใช้อุปกรณ์ที่สัมผัสกับสารคัดหลั่งน้ำลายโดยตรง เพราะอาจก่อให้เกิดการรับเชื้อโควิด-19 เข้าผ่านทางเดินปาก หรือทางเดินหายใจได้ง่าย
-
เตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง
ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว รถสาธารณะ หรือเครื่องบิน ก็ควรระมัดระวังตัวเอง และเตรียมความพร้อมทุกเมื่อเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยอาจทำได้ ดังนี้
-
- สวมใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้อื่น
- ทำความสะอาดมือทุกครั้งด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสกับสิ่งรอบตัว เช่น ราวบันได ปุ่มลิฟต์ ประตูรถ
- หลีกเลี่ยงการนำมือไปสัมผัสใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณ จมูก ปาก ตา
- ไม่ควรรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบนยานพาหนะ เพราะอาจจำเป็นต้องถอดหน้าออกออก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส
- ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันการติดเชื้อไวรัส จากผู้ดูแลบนยานพาหนะขณะเดินทาง
- สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ควรเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้พร้อม ไม่ควรแวะตามจุดพักบ่อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการพบเจอผู้คนระหว่างการเดินทาง หากจำเป็นต้องแวะพักระหว่างทางควรล้างมือหรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังจากสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ
- ผู้ที่เดินทางด้วยรถสาธารณะอาจจำเป็นต้องเว้นระยะห่าง นอกจากนี้ ควรเลือกบริษัทขนส่งที่มีมาตรฐาน สะอาด และมีการฆ่าเชื้อเบาะนั่ง หน้าต่าง ประตู ราวจับสม่ำเสมอ
-
ศึกษาข้อมูลของที่พัก
ก่อนการเดินทางควรศึกษาข้อมูลการรักษาสุขอนามัยในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของที่พักหรือ โรงแรม เช่น มาตรการการเข้าพัก การทำความสะอาดฆ่าเชื้อสิ่งรอบตัว ชำระเงินแบบไร้การสัมผัส พนักงานบริการมีการฉีดวัคซีนแล้วหรือไม่ พนักงานสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่
วิธีป้องกันการแพร่ เชื้อไวรัส โควิด-19
หลังจากกลับจากท่องเที่ยวหรือสังสรรค์ในช่วงเทศกาล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
-
กักตัวและเฝ้าระวังอาการ
ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่อาจรับมาโดยไม่รู้ตัว ควรกักตัว 14 วัน ภายในบ้านที่เป็นห้องแยก ให้ห่างไกลจากบุคคลอื่นในครอบครัว หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน สวมใส่หน้ากากอนามัยหากจำเป็นต้องพบเจอหน้าคนในครอบครัว และเฝ้าระวังอาการผิดปกติ เช่น อาการไอ หายใจลำบาก ไข้ขึ้นสูงเกิน 37.5 องศา หากมีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสจากคุณหมอทันที
-
ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19
เนื่องจากบางคนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจไม่เผยอาการเจ็บป่วย ดังนั้น หลังจากกลับจากการเดินทางหรือสังสรรค์ควรซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Test Antigen มาตรวจด้วยตัวเองเบื้องต้น หรือเข้ารับการตรวจตามจุดบริการรับตรวจโควิด และโรงพยาบาลทั่วประเทศ
-
ใส่หน้ากากอนามัย
การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี อาจช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสได้ โดยควรเลือกซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสวมหน้ากากปิดครอบคลุมตั้งแต่จมูกถึงคางและไม่ควรเลือกหน้ากากที่มีวาล์วเพราะอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายได้