backup og meta

covid vaccine ความแตกต่างของวัคซีนแต่ละประเภท

covid vaccine ความแตกต่างของวัคซีนแต่ละประเภท

โควิด 19 (COVID-19) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในขณะนี้ ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะโรค วัคซีน (covid vaccine) จึงอาจเป็นวิธีป้องกันโควิด 19 ที่เหมาะสมที่สุด ณ ขณะนี้ วัคซีนจะช่วยพัฒนาภูมิคุ้มกันโดยเลียนแบบการติดเชื้อ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สร้างแอนติบอดีในการต่อต้านเชื้อโรค แต่ปัจจุบันมีวัคซีนหลายประเภททั้ง ไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซิโนแวค SinoVac) และ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ที่มีกระบวนการผลิต ผลข้างเคียง และความเหมาะสมในการใช้ที่แตกต่างกัน จึงควรทำความเข้าใจวัคซีนแต่ละประเภท เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนเข้ารับการฉีด

ประเภทของ covid vaccine

covid vaccine แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  1. mRNA Vaccine ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด 19 ช่วยกระตุ้นให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนสไปค์ (Spike Protein) ของเชื้อไวรัส เป็นการจำลองลักษณะของไวรัสเข้ามาในร่างกายโดยที่ไม่มีการติดเชื้อ ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อไวรัส ได้แก่ Pfizer และ Moderna
  2. วัคซีนไวรัสเวคเตอร์ (Viral Vector Vaccine) เป็นวิธีส่งสารพันธุกรรมของเชื้อ SARS-CoV-2 เข้าไปในไวรัสพาหะ จากนั้นนำมาฉีดเข้าร่างกายเพื่อให้ร่างกายรับรู้ถึงสารแปลกปลอม และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เริ่มผลิตแอนติบอดี รวมถึงกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่น ๆ ให้ต่อสู้กับเชื้อโรค ได้แก่ AstraZeneca และ Johnson & Johnson
  3. วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein-based Vaccine) เป็นวิธีสร้างโปรตีนเชื้อไวรัสและนํามาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตีบอดีต่อต้านโปรตีนสไปค์ (Spike Protein) ของไวรัสโรคโควิด19 ได้แก่ Novavax
  4. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เป็นวิธีนำเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มาเลี้ยงและถูกทำให้ตาย จากนั้นนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน เหมือนได้รับเชื้อไวรัสโดยตรงแต่ไม่ทำให้เกิดโรค ได้แก่ SinoVac และ Sinopharm

ความแตกต่างของวัคซีน

Pfizer และ Moderna

  • วัคซีน Pfizer อาจเหมาะกับคนที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป เป็นวัคซีนชนิด mRNA อาจมีความปลอดภัย เนื่องจาก ไม่มีไวรัสที่มีชีวิตที่ก่อให้เกิดโควิด 19 และเป็นส่วนผสมที่พบในอาหารหลายชนิด เช่น ไขมัน น้ำตาล เกลือ รวมทั้งมีส่วนผสมสารพันธุกรรมของไวรัส RNA ของโควิด  19 เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะช่วยให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีตามธรรมชาติเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค ประสิทธิภาพ 95% ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส ควรได้รับการฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 3 สัปดาห์
  • วัคซีน Moderna อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่อาจมีความปลอดภัยและเป็นส่วนผสมที่พบในอาหารหลายชนิด เช่น ไขมัน น้ำตาล เกลือ รวมทั้งมีส่วนผสมสารพันธุกรรม RNA  ของโควิด 19 เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ประมาณ 95% ป้องกันการป่วยรุนแรง ควรได้รับการฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 4 สัปดาห์

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

  • บริเวณที่ฉีดเจ็บปวด ผิวสีแดงและบวม
  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า เจ็บกล้ามเนื้อ
  • มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน

ข้อควรระวังสำหรับวัคซีน Pfizer และ Moderna

  • อาการแพ้อย่างรุนแรงต่อวัคซีนที่ฉีดครั้งก่อน
  • อาการแพ้ในทันทีภายใน 4 ชั่วโมงหลังจากได้รับการฉีด อาจทำให้มีอาการลมพิษ บวม หรือหายใจมีเสียงหวีด และหายใจลำบาก
  • เป็นภูมิแพ้หลังจากสัมผัสส่วนประกอบของวัคซีน เช่น โพลิเอทิลีนไกลคอล (PEG) วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เพื่อเป็นตัวทำละลายในสารอื่น
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนครั้งก่อน

AstraZeneca

วัคซีน AstraZeneca เหมาะในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกาย ทำให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีเพื่อต่อสู้กับไวรัส อาจมีความปลอดภัยเนื่องจากไม่มีส่วนผสมที่ทำให้เกิดโควิด 19 มีประสิทธิภาพ 63.09% ต่อการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่แสดงอาการ ควรได้รับการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง เว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง 4-12 สัปดาห์

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

ผลข้างเคียงมักมีอาการรุนแรงในเข็มแรก และมีอาการน้อยลงในเข็มที่สอง ทั้งนี้ อาการอาจขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน สำหรับอาการที่พบบ่อย มีดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น ปวด บวม แดง หรือมีรอยฟกช้ำบริเวณที่ได้รับการฉีด
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดข้อหรือปวดกล้ามเนื้อ

อาการที่อาจเกิดขึ้นในบางคน ดังนี้

  • หน้ามืด
  • หายใจถี่หรือหายใจมีเสียง
  • อาการบวมที่ริมฝีปาก ใบหน้า หรือลำคอ
  • การเต้นของหัวใจอาจเปลี่ยนแปลง
  • ผื่นหรือลมพิษ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง

หากมีไข้หรืออาการปวดให้รับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการ

ข้อควรระวังสำหรับวัคซีน AstraZeneca

  • ควรหลีกเลี่ยงหากมีอาการแพ้ส่วนผสมของวัคซีน AstraZeneca เช่น แอล-ฮิสติดีน (L-histidine) เอทานอล (Ethanol) เกลือแกง (Sodium Chloride) ไดโซเดียม เอเดเทต ไดไฮเดรต แมกนีเซียมคลอไรด์เฮกซาไฮเดรต (Magnesium Chloride Hexahydrate)
  • อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งพบได้น้อยหลังจากฉีดวัคซีน AstraZeneca ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 3 สัปดาห์แรกหลังการฉีดวัคซีน บางกรณีเป็นอันตรายถึงชีวิต

SinoVac และ Sinopharm

วัคซีน SinoVac และ Sinopharm อาจเหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนร่างกายจะต่อต้านสิ่งแปลกปลอมด้วยการสร้างแอนติบอดีเพื่อต่อต้านไวรัส ควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีระยะห่างเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สอง 3-4 สัปดาห์ ประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมในการป้องกันโรคอยู่ที่ประมาณ 78%

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

  • มีไข้ ปวดหัว เหนื่อยล้า
  • ปวด บวมและแดงบริเวณที่ฉีด
  • ท้องเสีย
  • อาจทำให้เกิดผผลข้างเคียงรุนแรงที่พบได้น้อย ได้แก่ คลื่นไส้รุนแรง ความผิดปกติทางระบบประสาท หรือเรียกว่า โรคไข้สมองอักเสบเฉียบพลัน และโรคลิ่มเลือดอุดตัน

ข้อควรระวังสำหรับวัคซีน SinoVac และ Sinopharm

  • ผู้ที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ส่วนประกอบของวัคซีน จึงควรให้ข้อมูลประวัติภูมิแพ้กับคุณหมอก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันการแพ้ส่วนประกอบ
  • ผู้ที่มีอุณภูมิร่างกายสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าอาการไข้จะลดลง
  • อาจมีข้อมูลด้านความปลอดภัยจำกัดสำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จึงควรสังเกตอาการและได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ประเภทของวัคซีน Covid-19. https://r8way.moph.go.th/r8wayadmin/page/uploads_file/20210422084154.pdf. Accessed November 1, 2021

Comirnaty (Pfizer). https://www.health.gov.au/initiatives-and-programs/covid-19-vaccines/approved-vaccines/pfizer. Accessed November 1, 2021

Pfizer-BioNTech. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Pfizer-BioNTech.html#:~:text=Based%20on%20evidence%20from%20clinical,evidence%20of%20being%20previously%20infected. Accessed November 1, 2021

Moderna COVID-19 Vaccine. https://www.fda.gov/emergency-preparedness-and-response/coronavirus-disease-2019-covid-19/moderna-covid-19-vaccine. Accessed November 1, 2021

Moderna. https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/Moderna.html. Accessed November 1, 2021

Information for UK recipients on COVID-19 Vaccine AstraZeneca (Regulation 174). https://www.gov.uk/government/publications/regulatory-approval-of-covid-19-vaccine-astrazeneca/information-for-uk-recipients-on-covid-19-vaccine-astrazeneca. Accessed November 1, 2021

Vaxzevria (AstraZeneca). https://www.health.gov.au/initiatives-and-programs/covid-19-vaccines/approved-vaccines/astrazeneca. Accessed November 1, 2021

The Oxford/AstraZeneca COVID-19 vaccine: what you need to know. https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-oxford-astrazeneca-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know. Accessed November 1, 2021

The Sinopharm COVID-19 vaccine: What you need to know. https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinopharm-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know. Accessed November 1, 2021

The Sinovac-CoronaVac COVID-19 vaccine: What you need to know. https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinovac-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know. Accessed November 1, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/11/2021

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

กักตัว 14 วัน เช็กอาการโควิด-19 และการดูแลตัวเอง

โควิด 19 อาการ สาเหตุ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 03/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา