backup og meta

Rapid Test โควิด-19 ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน ตรวจเจอโอมิครอนหรือไม่

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    Rapid Test โควิด-19 ต้องตรวจบ่อยแค่ไหน ตรวจเจอโอมิครอนหรือไม่

    Rapid Test คือการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน สามารถตรวจเองได้โดยใช้ชุดตรวจเฉพาะ แม้ผลตรวจอาจไม่แม่นยำเท่ากับการตรวจแบบ PCR แต่ถือว่าเป็นการคัดกรองโควิด-19 เบื้องต้น หากตรวจด้วยชุดตรวจแล้วพบว่าตัวเองติดเชื้อ หรือได้ผลเป็นบวก ควรรีบไปตรวจด้วยวิธี PCR อีกครั้งที่สถานพยาบาล หากผลออกมาว่าติดโควิด-19 จริงจะได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสม ปัจจุบัน Rapid Test สามารถตรวจพบโรคโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน นักวิจัยยังคงตั้งคำถามถึงความแม่นยำในการตรวจด้วย Rapid Test เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัส ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มหรืออยู่ในชุมชนแออัด และตรวจการติดเชื้อหากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง

    ชนิดของ Rapid Test

    Rapid Test มี 2 แบบ ดังนี้

    1. Rapid Antigen Test

    คือการสวอบ (Swab) หรือเก็บสารคัดหลั่งจากในโพรงจมูกหรือลำคอไปตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) หรือเอทีเค การตรวจด้วยวิธีนี้มีความแม่นยำในกรณีที่ตรวจผู้ติดเชื้อมาแล้ว 5-14 วัน หรือมีเชื้อในร่างกายมากพอ

    การตรวจโควิด-19 ด้วย ATK สามารถทราบผลได้ใน 15 นาที โดยชุดตรวจในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาหรือคลินิก

     2. Rapid Antibody Test

    คือการเจาะเลือดจากปลายนิ้วหรือท้องแขนไปตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ เพื่อให้ทราบว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ การตรวจด้วยวิธีนี้จะแม่นยำก็ต่อเมื่อติดเชื้อมาแล้ว 1-3 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายของผู้ติดเชื้อจะเริ่มสร้างแอนติบอดีในช่วงนั้น

    ในประเทศไทย ยังไม่มีชุดดตรวจสำหรับ Rapid Antibody Test วางขายทั่วไป สามารถเข้ารับการตรวจ Rapid Antibody Test ได้ที่สถานพยาบาลเท่านั้น

    ตรวจ Rapid Test ด้วยตัวเอง ทำอย่างไร

    คนทั่วไปสามารถหาซื้อชุดตรวจ ATK จากร้านขายยามาตรวจเองได้ โดยก่อนใช้ชุดตรวจ ควรล้างมือให้สะอาด และตรวจสอบวันหมดอายุที่ระบุข้างกล่องชุดตรวจให้เรียบร้อยก่อน หากชุดตรวจยังไม่หมดอายุ ก็สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนการตรวจดังต่อไปนี้ได้

  • นำอุปกรณ์ในชุดตรวจทั้งหมดออกมาจากกล่อง
  • นำตลับทดสอบออกมาจากถุงซีล วางบนพื้นผิวที่สะอาด ทั้งนี้ หลังนำตลับทดสอบออกมาจากบรรจุภัณฑ์แล้ว ควรตรวจภายใน 30 นาที
  • เทน้ำยาตรวจลงในหลอดดูดหรือหลอดเก็บตัวอย่างจนถึงจุดที่กำหนด หรือชุดตรวจ ATK บางยี่ห้ออาจเป็นหลอดดูดหรือหลอดเก็บตัวอย่างที่บรรจุน้ำยาตรวจไว้ในหลอดอยู่แล้ว
  • นำก้านสวอบออกมาจากห่อซีล โดยห้ามสัมผัสปลายหรือก้านส่วนนิ่มโดยเด็ดขาด
  • เงยหน้าเล็กน้อย แล้วแหย่ก้านสวอบเข้าไปให้ชนผนังโพรงจมูก หรือลึกราว 2.5 เซนติเมตร
  • หมุนก้านสวอบ 3-4 ครั้ง ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที แล้วค่อยดึงออกจากจมูก
  • จุ่มก้านสวอบลงในหลอดบรรจุน้ำยาตรวจ แล้วหมุนวนประมาณ 5 ครั้ง
  • หยดน้ำยาตรวจที่ผสมกับสารคัดหลั่งแล้วลงบนตลับทดสอบ 2-3 หยด หรือตามปริมาณที่ระบุ
  • รอผลการตรวจประมาณ 15-20 นาที
  • การอ่านผลตรวจ Rapid Test

    ชุดตรวจ ATK แสดงผลได้ 3 แบบ ดังนี้

    1. ผลเป็นบวก

  • หมายถึงติดเชื้อโควิด-19 ตลับทดสอบแสดงเส้นสีชมพูตรง C และ T หากตลับทดสอบแสดงผลเป็นเส้นสีชมพูเข้มตรง C และเส้นสีชมพูจาง ๆ ตรง T ก็นับว่าผลเป็นบวกเช่นกัน
  • กรณีทราบผลเป็นบวก ควรรีบเข้ารับการตรวจโควิด-19 ที่โรงพยาบาลอีกรอบ เพื่อให้แน่ใจว่าติดโควิด-19 จริง ๆ หรือกักตัวที่บ้านทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปสู่ผู้อื่น
  • 2. ผลเป็นลบ

    • หมายถึงไม่ติดเชื้อโควิด-19 ในตอนที่ตรวจ หรือมีเชื้อน้อยเกินไปจนทำให้ชุดตรวจตรวจไม่พบ
    • กรณีทราบผลเป็นลบ ควรรอ 3-5 วันแล้วจึงตรวจหาเชื้อด้่วยชุดตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้ง แต่ในระหว่างนั้น อาจแยกตัวจากผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหากมีเชื้อโควิด-19 ในร่างกาย

    3. ผลตรวจมีปัญหา

    • อาจหมายถึงตรวจสอบผิดพลาด ตลับทดสอบจะไม่แสดงเส้นสีชมพูเลย หรืออาจแสดงเส้นสีชมพูแค่ตรง T
    • กรณีผลตรวจมีปัญหา จำเป็นต้องทดสอบซ้ำอีกครั้งด้วยชุดตรวจชุดใหม่ ห้ามใช้ชุดตรวจเดิมซ้ำ 

    ควรตรวจ Rapid Test บ่อยแค่ไหน

    การตรวจ Rapid Test ควรทำในกรณีต่อไปนี้

    • มีอาการต้องสงสัยของโควิด-19 เช่น มีไข้ ไอ อ่อนเพลีย สูญเสียความสามารถในการได้กลิ่นหรือรับรส
    • มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยหรือผู้มีความเสี่ยง พูดคุยกับบุคคลอื่นในระยะประชิด หรือใช้เวลาร่วมกันในสถานที่ปิด
    • จำเป็นต้องทำงานหรือเข้าไปในสถานที่เสี่ยง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สำนักงาน กองถ่าย
    • ชุดตรวจ ATK แสดงผลเป็นลบ และต้องการความมั่นใจว่าผลที่แสดงถูกต้อง

    Rapid Test สามารถตรวจเจอโควิด-19 สายพันธ์ุโอมิครอนได้หรือไม่

    ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ระบุว่า ชุดตรวจ ATK สามารถตรวจเจอเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนได้ แต่ความไวในการตรวจจับเชื้ออาจลดลง

    การศึกษาเบื้องต้นจากมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ชี้ว่า ชุดตรวจ ATK แต่ละยี่ห้อมีความไวต่อความเข้มข้นของเชื้อโอมิครอนในระดับที่แตกต่างกัน

    จากการทดสอบในห้องทดลอง พบว่า ชุดตรวจ Flowloex ของบริษัท ACON Biotech ตรวจจับโอมิครอนได้ไวที่สุดใน 7 ยี่ห้อที่นำมาทดสอบ รองมาเป็นชุดตรวจ Tigsun ของบริษัทไท่เก๋อเคอซิ่น (Tigsun) และ Panbio COVID-19 Ag Rapid Test Device ของบริษัทแอบบอตต์ (Abbott) ตามลำดับ

    ปัจจุบันชุดตรวจของทั้ง 3 บริษัท ได้รับการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทยแล้วและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา