backup og meta

Swab คืออะไร มีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

    Swab คืออะไร มีกี่แบบ แตกต่างกันอย่างไร

    สวอป (Swab) เป็นคำซึ่งได้ยินบ่อย ๆ หลังจากการระบาดของโควิด-19 หมายถึง การใช้ไม้ป้ายเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากร่างกายเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีรูปแบบการสวอปและรูปแบบการตรวจโรคที่แตกต่างกันไป

    Swab มีกี่แบบ

    การสวอปเพื่อตรวจการติดเชื้อโควิด-19 โดยทำผ่านจมูก มี 2 แบบ ดังต่อไปนี้

    การสวอปโพรงจมูกด้านหน้า (Nasal Swab)

    การสวอปโพรงจมูกด้านหน้า คือ การสวอปเพื่อเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุโพรงจมูก โดยสอดแท่งสวอปเข้าไปในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง (บางกรณีอาจทำทั้ง 2 ข้าง) ลึกประมาณ 2 เซนติเมตร จากนั้นหมุนแท่งสวอปเป็นเวลา 10-15 วินาที ก่อนดึงแท่งสวอปออกมาเพื่อนำตัวอย่างสารคัดหลั่งจากร่างกายไปเข้าขั้นตอนตรวจ ทั้งนี้ ก่อนสวอปควรล้างมือให้สะอาดและห้ามสัมผัสปลายแท่งสวอปโดยเด็ดขาด

    หากผู้ตรวจต้องการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง อาจใช้การสวอปโพรงจมูกด้านหน้า เพราะทำได้ไม่ยาก สะดวก และได้ผลที่ค่อนข้างชัดเจน

    การสวอปด้านหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal Swab)

    การสวอปด้านหลังโพรงจมูก คือ การป้ายเอาตัวอย่างจากเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูกไปตรวจ โดยเริ่มจากการสอดแท่งสวอปเข้าไปในจมูกจนชนกับส่วนหลังของโพรงจมูก หรือความลึกราวปลายจมูกถึงใบหู ซึ่งลึกกว่าการสวอปแบบแรก จากนั้น เก็บตัวอย่างด้วยการหมุนแท่งสวอป 2-3 ครั้ง แล้วค่อย ๆ ดึงออกมา

    การสวอปด้านหลังโพรงจมูก อาจสร้างความอึดอัดแก่ผู้โดนตรวจได้มากกว่ากการสวอปโพรงจมูกด้านหน้า อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาจเก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกเพียงข้างเดียว หากพิจารณาว่าเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งได้เพียงพอแล้ว

    การสวอปด้านหลังโพรงจมูกด้วยตัวเองอาจไม่เหมาะกับผู้ที่เคยผ่าตัดไซนัสหรือฐานกะโหลก หรือผู้มีภาวะสมองยื่นออกมาเนื่องจากกะโหลกศีรษะไม่ปิด

    การ Swab เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19

    การเก็บตัวอย่างด้วยการสวอปเพื่อหาการติดเชื้อโควิด-19 จะนำไปใช้สำหรับการตรวจดังต่อไปนี้

    การตรวจแบบ RT-PCR

    การตรวจ RT-PCR (Real-Time Polymerase Chain Reaction) เป็นการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างการสวอป ทั้งจากโพรงจมูกส่วนหน้าหรือหลังโพรงจมูก เพื่อหาสารพันธุกรรมที่เรียกว่า กรดไรโบนิวคลีอิก (Ribonucleic Acid หรือ RNA) ที่พบได้ในเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโควิด-19

    สำหรับขั้นตอนการตรวจ ผู้ตรวจจะแยกสารพันธุกรรมออกจากตัวอย่างสวอปก่อน จากนั้นใช้เครื่อง PCR หรือ Thermal Cycler เพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม ร่วมกับการเติมสารเคมีพิเศษและเอนไซม์เข้าไปในหลอดทดสอบ ซึ่งมีสารพันธุกรรมจากการเก็บตัวอย่างอยู่

    เมื่อเครื่อง Thermal Cycler ทำงานเสร็จแล้ว สารพันธุกรรมจากตัวอย่างจะมีจำนวนมากขึ้น หากพบสารของ SARS-CoV-2 หนึ่งในสารเคมีในหลอดทดสอบจะสว่าง

    การตรวจแบบ RT-PCR พบได้ที่สถานพยาบาลเท่านั้น ใช้เวลารอผลประมาณ 24-72 ชั่วโมง รวมถึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในประเทศไทยประมาณ 2,000-4,000 บาท แล้วแต่สถานพยาบาล

    การตรวจแบบ Rapid Antigen Test

    การตรวจแบบ Rapid Antigen Test เป็นการตรวจเชื้อแบบเร่งด่วน เพื่อหาโปรตีนจำเพาะหรือแอนติเจนของ SARS-CoV-2 ด้วยชุดตรวจเฉพาะที่เรียกว่า Antigen Test Kit (ATK) การตรวจแบบนี้สามารถทำเองได้ที่บ้าน และมักนิยมใช้ตัวอย่างจากการสวอปโพรงจมูกด้านหน้ามากกว่า เนื่องจากผู้ตรวจสามารถทำได้ง่ายด้วยตัวเอง ซึ่งการทดสอบทำได้โดยจุ่มตัวอย่างสารคัดหลั่งจากการสวอปลงไปในน้ำยาตรวจที่มาพร้อมกับชุดตรวจ จากนั้นหยดน้ำยาที่ผสมแล้วลงบนตลับทดสอบ แล้วรออ่านผล โดยผลจะแสดงภายใน 15 นาที

    ปัจจุบัน ชุดตรวจ ATK สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา ในราคาไม่แพง โดยองค์การเภสัชกรรมเปิดขาย ATK เพียงชุดละ 35 บาท

    ความแม่นยำในการตรวจด้วยการ Swab

    การสวอปเป็นเพียงการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง หากสงสัยว่าติดโควิด-19 ควรไปสวอปกับผู้เชี่ยวชาญหรือทำอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผลที่แสดงมีความแม่นยำ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวิธีการตรวจเชื้อ การตรวจแบบ RT-PCR นั้นแม่นยำกว่าการใช้ชุดตรวจ ATK หากผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก แสดงว่าติดโควิด-19 และหากผลเป็นลบ แสดงว่าไม่ติดโควิด-19 หรือตอนถูกเก็บตัวอย่างอาจยังไม่ติดเชื้อ

    ขณะเดียวกัน หากชุดตรวจ ATK แสดงผลเป็นบวก ผู้ตรวจจำเป็นต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง หากผลจากการตรวจ ATK เป็นลบ ผู้ตรวจควรใช้ชุดตรวจใหม่ตรวจเองอีกครั้งในอีก 3-5 วัน

    นอกจากนี้ ชุดตรวจ ATK อาจแสดงผลแบบอ่านค่าไม่ได้ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดระหว่างตรวจ หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ผู้ตรวจควรตรวจตัวเองอีกครั้งด้วยชุดตรวจใหม่ เพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/01/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา