backup og meta

ฝุ่น มลพิษ PM 2.5 กลับมาอีกครั้ง รับมืออย่างไรให้ห่างไกลโรค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2023

    ฝุ่น มลพิษ PM 2.5 กลับมาอีกครั้ง รับมืออย่างไรให้ห่างไกลโรค

    ฝุ่น มลพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ว่าฝุ่นพีเอ็มเกิดขึ้นได้อย่างไร กระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้อย่างไร และควรดูแลตัวเองอย่างไร อาจช่วยให้สามารถรับมือกับฝุ่นและป้องกันโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากฝุ่นและมลพิษทางอากาศได้ดีขึ้น

    ฝุ่นและมลพิษในอากาศเกิดจากอะไร

    ฝุ่นและมลพิษทางอากาศ อาจแบ่งออกเป็นมลภาวะที่เกิดได้จากแหล่งธรรมชาติและแหล่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่

    มลพิษจากแหล่งธรรมชาติ จะปล่อยสารอันตรายสู่อากาศ เช่น

    • ควันจากไฟป่า (เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติหรือเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น การเผาป่า)
    • เถ้าและก๊าซจากการปะทุของภูเขาไฟ
    • ก๊าซมีเทนที่เกิดจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุในดิน

    มลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้น ชนิดที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

    • มลพิษทางอากาศที่เกี่ยวข้องกับการจราจร เป็นมลภาวะที่มีองค์ประกอบของมลพิษทางอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นรวมอยู่ด้วยกันมากที่สุด เช่น ไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen oxides) ซัลเฟอร์ออกไซด์ (Sulfur oxides)
    • หมอกปนควัน (Smog) เป็นโอโซนที่อยู่ระดับพื้นดิน เกิดขึ้นเมื่อมลพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ โรงไฟฟ้า หม้อไอน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรม โรงกลั่น และแหล่งอื่น ๆ ทำปฏิกิริยาทางเคมีกับแสงแดด
    • ก๊าซพิษ (Noxious gases) ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยมลพิษของยานยนต์และกระบวนการทางอุตสาหกรรม เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide) คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) ไนโตรเจนออกไซด์ (Nitrogen oxides หรือ NOx) ซัลเฟอร์ออกไซด์ (Sulfur oxides หรือ SOx)

    ทั้งนี้ ฝุ่นพีเอ็ม (Particulate matter หรือ PM) โดยเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน และบางกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 30 เท่า ที่เกิดจากปล่องโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ไอเสียจากท่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือจากการจราจรที่แน่นขนัด รวมทั้งการเผาในที่โล่ง และในที่ไม่โล่ง นับเป็นมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นและเป็นปัญหาที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้

    ความแตกต่างระหว่าง หมอก และ ฝุ่น พีเอ็ม

    เมื่อฝุ่นพีเอ็มรวมตัวอยู่ในพื้นที่เดียวกับในปริมาณมาก กลุ่มฝุ่นจะจับตัวอยู่ในอากาศ  ลอยไปมาและทำให้ท้องฟ้าดูมืดครื้ม คล้ายกับหมอกยามเช้า แต่แท้จริงแล้วมีสารมลพิษอื่น ๆ เกาะอยู่ด้วย

    ตามปกติแล้ว หมอกที่เห็นในยามเช้ามักเป็นปรากฏการณ์ปกติที่พบได้ตามแหล่งธรรมชาติหรือในชนบท โดยความแตกต่างของหมอกและฝุ่นพีเอ็ม คือ หมอกเกิดจากการควบแน่นของไอน้ำในอากาศในระดับใกล้พื้นดิน ในขณะที่ ฝุ่นพีเอ็มเป็นมลภาวะที่เป็นพิษและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากสูดดมเข้าไป ฝุ่นจะเดินทางผ่านระบบทางเดินหายใจ ยึดเกาะถุงลมปอด ทั้งยังทะลุเข้าไปในกระแสเลือดได้ ส่งผลให้เกิดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดจนทำให้มีโรคต่าง ๆ ตามมา

    อันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจาก ฝุ่น

    เมื่อหายใจรับฝุ่นและมลพิษทางอากาศเข้าสู่ร่างกายมักเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องสัมผัสกับฝุ่นและมลพิษทางอากาศติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี อาจก่อให้เกิดโรคดังนี้

    • โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) อนุภาคในมลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้ เพราะฝุ่นขนาดเล็กอาจกระตุ้นให้เซลล์ในปอดเกิดการกลายพันธุ์และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสมอยู่ในน้ำเหลืองของปอดอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • โรคหอบหืดกำเริบ (Asthma Attacks) ฝุ่นหรือควันที่สะสมอยู่ในเนื้อเยื่อปอดอาจทำลายอวัยวะให้เสียหาย และทำให้ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ มีอาการกำเริบบ่อยมากขึ้น
    • โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (Chronic Bronchitis) เป็นอาการบวมและอักเสบของหลอดลมที่ทำให้ปอดขับออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ยากขึ้น มักมีสาเหตุจากการที่ร่างกายสัมผัสสารระคายเคืองต่อปอดเป็นเวลานาน เช่น ควันบุหรี่มือสอง มลพิษทางอากาศ ฝุ่น
    • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease หรือ COPD) เป็นโรคที่พบได้บ่อยในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเผชิญกับฝุ่นและมลพิษเป็นเวลาหลายปี และเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง
    • โรคหัวใจ (Heart Disease) ฝุ่นขนาดเล็กที่เดินทางผ่านหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ และเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

    กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นและมลพิษในอากาศ

    กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงจากการสัมผัสและหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกายมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่

    • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอด เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว อาการแน่นหน้าอก โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคหอบหืด
    • ผู้สูงอายุ ที่สัมผัสกับมลพิษทางอากาศ อาจเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมากกว่าคนหนุ่มสาว และเสี่ยงต่อการเกิดความผิดทางระบบประสาทมากขึ้น เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
    • ทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับฝุ่นในขณะตั้งครรภ์เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เสี่ยงต่อภาวะพิการแต่กำเนิดโดยเฉพาะภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิด และหลังคลอดแล้วอาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ
    • เด็กเล็ก เป็นช่วงวัยที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงอวัยวะอย่างปอดและระบบทางเดินหายใจยังอยู่ในช่วงพัฒนา หากได้รับฝุ่นควันที่เป็นพิษเข้าสู่ร่างกายในช่วงนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอวัยวะต่าง ๆ ได้ ได้นอกจากนี้ ฝุ่นยังทำให้เด็กมีปัญหาหายใจผิดปกติขณะนอนหลับและนอนมากขึ้นในช่วงกลางวัน จนนอนได้น้อยในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้เด็ก ๆ พักผ่อนไม่เพียงพอจนอาจกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาทางความคิดและอารมณ์เมื่อเติบโตไปเป็นวัยรุ่น
    • เด็กวัยเรียน นอกจากฝุ่นจะกระทบต่อพัฒนาการของอวัยวะสำคัญอย่างปอดและระบบทางเดินหายใจของเด็กแล้ว  ฝุ่นยังอาจทำให้เด็กวัยเรียนติดเชื้อทางเดินหายใจได้บ่อยขึ้น และอาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่โรงเรียน และทำให้ไม่สบายจนต้องขาดเรียน

    อาการที่เกิดจาก ฝุ่น และมลพิษในอากาศ

    สภาพอากาศที่ย่ำแย่และเต็มไปด้วยมลพิษอาจทำให้ผู้ที่หายใจรับฝุ่นมีอาการผิดปกติ ดังต่อไปนี้

    • น้ำมูกไหล
    • ระคายเคืองตา
    • มีปัญหาในการหายใจระคายเคืองคอและหน้าอก
    • มีเสมหะมากผิดปกติ
    • โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่แล้วมีอาการแย่ลงกว่าเดิม เช่น โรคหัวใจ โรคปอด

    นอกจากนี้มลพิษทางอากาศอย่าง ฝุ่น หมอกควัน ยังจำกัดการมองเห็นเมื่อเดินทางออกไปนอกบ้าน และกระทบต่อทัศนวิสัยขณะขับขี่ อาจทำให้ขับรถหรือไปไหนมาไหนได้ยาก ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

    วิธีรับมือ ฝุ่น และมลพิษในอากาศ

    วิธีรับมือฝุ่นและมลพิษในอากาศอย่างเหมาะสม สามารถทำได้ดังนี้

    • ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับค่าฝุ่นละอองในแต่ละวันในพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ที่เดินทางไปบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองหนาแน่น เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอันตรายจากฝุ่น
    • ในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง หากเป็นไปได้ ควรทำงานที่บ้านแทนการไปออฟฟิศหรือนั่งทำงานในสถานที่ใกล้บ้าน เช่น คาเฟ่ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ นอกจากจะช่วยลดการก่อมลพิษจากการโดยสารยานยนต์แล้ว ยังช่วยลดการสัมผัสกับฝุ่นในอากาศระหว่างเดินทางอีกด้วย
    • สวมหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก และสวมแว่นตาป้องกันฝุ่นเมื่อต้องออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีฝุ่นหนาแน่น
    • อยู่แต่ในบ้าน ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท เพื่อลดการสัมผัสกับฝุ่นให้มากที่สุด และควรใช้เครื่องกรองอากาศ (ถ้ามี) เพื่อลดปริมาณฝุ่นที่อาจสะสมอยู่ในภายในบ้าน
    • งดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น ออกกำลังกายในสวน เพราะการออกกำลังกายจะทำให้หายใจเร็วมากขึ้นและฝุ่นเข้าปอดได้มากขึ้น รวมทั้งควรจำกัดการเล่นนอกบ้านของบุตรหลานโดยเฉพาะในช่วงที่มีฝุ่นพีเอ็มหนาแน่น
    • หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก ไอ มีเสมหะมากผิดปกติ เลือดออกจมูก ควรไปปรึกษาเภสัชกรหรือคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
    • หลีกเลี่ยงการเผาไม้ เผากองหญ้า ที่จะเพิ่มมลพิษทางอากาศให้กับชุมชนใกล้บ้านและที่พักอาศัยของตัวเอง
    • ดื่มน้ำให้มาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา