backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง (Pet allergy)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 16/03/2021

ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง (Pet allergy)

หากคุณลองสังเกตตนเองแล้วพบว่า ตนเองหรือคนรอบข้าง มักมีอาการคัดจมูก หรือจามคล้ายหวัดทุกครั้งที่อยู่ใกล้สัตว์เลี้ยง ก็สามารถเป็นไปได้ว่าคุณอาจกำลังประสบกับสัญญาณแรกเริ่มของอาการของ โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง (Pet allergy) และอาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย รวมถึงเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

คำจำกัดความ

ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง (Pet allergy) คืออะไร

ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง (Pet allergy) คือ อาการแพ้ที่เกิดจากระบบการป้องกันภูมิคุ้มกันของคุณ ที่ทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอมจากสัตว์เลี้ยงที่ผ่านเข้าไป เช่น ขนสัตว์ ละอองน้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น โดยเฉพาะกับผู้ที่มักนิยมเลี้ยงสุนัข และแมว ตลอดจนถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่มีขนยาวเป็นพิเศษร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยบางคนสามารถมีอาการภูมิแพ้กำเริบได้ตั้งแต่ในระดับเบา จนถึงระดับรุนแรงอย่างโรคหอบหืดได้เลยทีเดียว

ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยงสามารถพบบ่อยได้เพียงใด

ส่วนใหญ่แล้วอาการของ โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง มักเกิดขึ้นได้กับผู้ที่เลี้ยงสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะกับผู้ที่เลี้ยงแมว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะประสบได้มากกว่าผู้ที่เลี้ยงสุนัขได้มากกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว

อาการ

อาการของ โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง

โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่ที่คุณสามารถสังเกตได้นั้น มีดังต่อไปนี้

  • คัดจมูก
  • จาม
  • น้ำมูกไหล
  • ไอ
  • คันจมูก ในช่องปาก และลำคอ
  • ผิวที่ได้รับการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงมีอาการบวม หรือผด ผื่นแดงขึ้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น หายใจไม่ออก

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง

ปกติแล้วระบบภูมิคุ้มกันของคุณมักมีการผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody) ซึ่งแอนติบอดีนี้จะทำหน้าที่ปกป้องคุณเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ในร่างกาย อาทิเช่น เชื้อแบคทีเรีย ฝุ่น เชื้อไวรัส เป็นต้น

ดังนั้น ขณะที่คุณเกิดอาการแพ้ขึ้นจากการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ระบบภูมิคุ้มกันของคุณจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาเพื่อเผยปฏิกิริยาออกมาให้คุณทราบว่าสารนี้คือสารก่อภูมิแพ้ที่คุณควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งก่อนเกิดอันตรายแก่สุขภาพขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิด ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง

โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง ถือว่าเป็นเรื่องปกติอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากคุณหรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติของโรคหอบหืดอยู่แต่เดิม การสัมผัส หรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงเกินไป ถือได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้คุณมีอาการภูมิแพ้ขึ้นในเวลาถัดมา

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง

แพทย์อาจเริ่มจากการสอบถามรายละเอียดว่าอาการที่คุณประสบมาจากสัตว์ชนิดใด จากนั้นแพทย์จะดำเนินการทดสอบภูมิแพ้จากผิวหนังของคุณด้วยการนำโปรตีนจากสัตว์เข้าสู่ร่างกาย เพื่อดูมีว่าปฏิกิริยาใด ๆ หรือไม่ เช่น ผื่นแดง อาการคัน เป็นต้น

ในบางกรณีสำหรับผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดทดแทน เนื่องจากมีสภาพผิวหนังที่ไม่พร้อม เพื่อนำมาตรวจหาแอนติบอดีที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น

การรักษา โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง

เมื่อผ่านการวินิจฉัยแพทย์อาจทำการให้ยาตามอาการที่ผู้ป่วยแต่ละบุคคลประสบ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ เป็นต้น หรืออาจแนะนำเป็นการใช้การรักษาด้วยเทคนิคอื่น ๆ ดังนี้

  • ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการฝึกระบบภูมิคุ้มกันของคุณไม่ให้ไวต่อสารก่อภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น แต่อาจจำเป็นต้องมีการเข้ารับการรักษาอย่างเป็นประจำต่อเนื่องตามใบนัดแพทย์
  • ล้างจมูก โดยอาจเป็นการใช้น้ำเกลือเข้าไปทำความสะอาด เพื่อลดการระคายเคืองภายในช่องจมูก

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษา ภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง

หากคุณมีอาการของ โรคภูมิแพ้สัตว์เลี้ยง แต่ยังมีความประสงค์อยากเลี้ยงพวกเขาไว้ คุณอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อก่อให้เกิดการอยู่อาศัยร่วมกันได้ระหว่างคุณและสัตว์เลี้ยงของคุณ ด้วยแนวทางปฏิบัติดังนี้

  • หมั่นทำความสะอาดแหล่งที่อยู่อาศัยสม่ำเสมอ
  • เปลี่ยนพรม ผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน หรือสิ่งของที่มีพื้นผิวค่อนข้างสะสมเชื้อโรค แบคทีเรีย
  • อาบน้ำสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
  • จัดพื้นที่ของสัตว์เลี้ยงให้อยู่เป็นหลักแหล่ง
  • ควรติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเอาไว้ เพื่อกรองสารก่อภูมิแพ้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 16/03/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา