การแพ้อาหารในเด็ก เป็นสิ่งที่พบได้บ่อย แต่บางครั้งก็อาจสังเกตได้ยาก ถ้าเป็นภูมิแพ้อาหารแบบล่าช้า หรือภูมิแพ้อาหารแฝง บทความต่อไปนี้ของ Hello คุณหมอ คือข้อมูลที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ เพื่อให้สามารถแยกแยะอาการแพ้ในเบื้องต้นและรับมือได้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
การแพ้อาหารคืออะไร
การแพ้อาหาร หรือภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายปฏิบัติต่ออาหารในฐานะที่เป็นสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตราย โดยจะส่งสัญญาณไปที่ระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างสารแอนติบอดีขึ้นมาเพื่อต่อต้านกลับ เมื่อมีการสัมผัสกับอาหาร ร่างกายก็จะกระตุ้นการปล่อยสารเคมีบางชนิด หนึ่งในนั้นคือฮีสตามีน ซึ่งร่างกายใช้ในการต้านทานตนเอง อาการดังกล่าวทำให้เกิดอาการแพ้ ที่ส่งผลต่อระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ผิวหนัง หรือระบบหลอดเลือดหัวใจ
การแพ้อาหารในเด็ก มีอาการอย่างไรบ้าง
อาการของการแพ้อาหารแบบทันที ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- ผิวหนังแดง
- ลมพิษ
- ผื่นแดงและคัน
- ริมฝีปาก ดวงตา และหน้าบวม
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก จาม น้ำตาไหล
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง
- มีอาการคันในปากหรือคอ
หากภูมิแพ้มีอาการร้ายแรง อาจเกิดเป็นการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งเป็นอันตราย คุณต้องให้ลูกเข้ารับการรักษาทันที หากลูกมีอาการดังต่อไปนี้
- หายใจมีเสียง
- แน่นหน้าอก
- ลิ้นและคอบวม
- ทางเดินหายใจอุดกั้น
- ความดันโลหิตต่ำ ตามด้วยอาการช็อก
- วิงเวียนศีรษะ มึนงง ไม่รู้สึกตัว
ในบางกรณี ภูมิแพ้อาหารอาจตรวจพบได้ยาก เนื่องจากปรากฏอาการน้อยเกินไป อาการเหล่านี้มักเรียกว่าการแพ้อาหารล่าช้า (Delayed allergies) ซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยในเด็กวัยทารก การแพ้อาหารทันทีคือร่างกายมีการปล่อยสารฮิสตามีนออกมา ต่างจากการแพ้อาหารล่าช้าที่สัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันในบางส่วน ซึ่งใช้เวลานานกว่าในการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ การตอบสนองที่ล่าช้าทำให้เป็นเรื่องยากในการระบุว่า อาหารใดเป็นสิ่งกระตุ้น ซึ่งผู้ปกครองอาจให้อาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้แก่ลูกซ้ำแล้วซ้ำอีก กว่าจะรู้ว่าลูกแพ้อาหารชนิดนั้น ซึ่งการแพ้อาหารล่าช้าอาจทำให้เกิดภาวะทางสุขภาพหลายประการ เช่น ผิวหนังอักเสบ กรดไหลย้อน ปวดท้อง การเจริญเติบโตไม่ดี ท้องร่วง และท้องผูก อาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้ หากนำสารก่อภูมิแพ้ออกจากอาหารของทารก อาหารที่เป็นตัวกระตุ้นที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ นม ถั่วเหลือง ไข่ และข้าวสาลี
การแพ้อาหารและการแพ้อาหารแฝง
บ่อยครั้งที่คนมักสับสนระหว่างอาการทั้งสองประการนี้ การแพ้อาหารแฝง (Food intolerance) มีอาการที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือไม่มีการปลดปล่อยฮีสตามีน การแพ้อาหารแฝงมักถูกเข้าใจว่า เป็นความผิดปกติของระบบย่อยอาหารในการย่อยอาหารบางชนิด ภาวะนี้อาจเป็นสิ่งรบกวน แต่ไม่เป็นอันตราย
ข้อควรปฏิบัติหากลูกมีอาการ แพ้อาหาร
เป็นเรื่องง่ายที่จะตรวจพบอาการแพ้อาหารทันที จากการตอบสนองที่รวดเร็ว หากคุณสงสัยว่ามีการแพ้อาหาร ห้ามให้ลูกของคุณสัมผัสหรือกินอาหารนั้น จนกว่าจะพาลูกไปพบคุณหมอ หากลูกของคุณมีปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องร่วง กรดไหลย้อน และคุณคิดว่าอาจเกิดจากการแพ้อาหารที่ล่าช้า ให้จดบันทึกอาหารประจำวันของลูกไว้ หรือควรบันทึกอาหารประจำวันของคุณด้วย หากคุณให้ลูกกินนมแม่ เพื่อดูว่าอาการต่างๆ เกี่ยวข้องกับอาหารชนิดใดหรือไม่ การบันทึกอาหารประจำวันเช่นนี้ยังมีประโยชน์อย่างมาก เวลาพาลูกของคุณไปพบคุณหมอ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]