ภูมิแพ้ถั่วเหลือง (Soy Allergy)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ภูมิแพ้ถั่วเหลือง (Soy Allergy)

คำจำกัดความ

ภูมิแพ้ถั่วเหลือง คืออะไร

ภูมิแพ้ถั่วเหลือง (Soy Allergy) เป็นภูมิแพ้อาหารที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป อาการแพ้ถั่วเหลือง มักเริ่มตั้งแต่วัยทารก โดยมีปฏิกิริยาต่อผลิตภัณฑ์สำหรับทารก ที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสมหลัก แม้ว่าเด็กส่วนมากจะหายจากภูมิแพ้ถั่วเหลืองเมื่อโตขึ้น แต่บางคนก็ยังมีอาการแพ้จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ อาการหรือสัญญาณบ่งชี้ว่ามีอาการแพ้ถั่วเหลืองได้แก่ เกิดผื่นคันบริเวณรอบปากและในปาก ในกรณีที่เกิดอาการแพ้อย่างหนักหรือเกิดอาการแพ้เฉียบพลันและรุนแรง (Anaphylaxis) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากคุณหรือลูกของคุณมีปฏิกิริยาแพ้ถั่วเหลือง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หรือทำการทดสอบอาการแพ้ เพื่อยืนยันว่ามีอาการภูมิแพ้ถั่วเหลืองจริงไหม หากมีอาการป่วยเป็นภูมิแพ้ถั่วเหลือง ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีถั่วเหลืองทั้งหมด

ภูมิแพ้ถั่วเหลือง เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

ภูมิแพ้ถั่วเหลืองเป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไป โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อะไรคืออาการของ ภูมิแพ้ถั่วเหลือง

ส่วนใหญ่แล้ว อาการภูมิแพ้ถั่วเหลือง จะทำให้รู้สึกอึดอัด แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรง น้อยครั้งที่ปฏิกิริยาแพ้ถั่วเหลืองจะเป็นเรื่องที่น่ากลัว หรืออันตรายถึงชีวิต สัญญาณและอาการแพ้อาหาร มักจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีถึงหลายชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร ที่มีสารก่อภูมิแพ้

อาการแพ้เฉียบพลันและรุนแรง (anaphylaxis) ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับผู้ที่แพ้ถั่วเหลือง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการหอบหืด อาจจะมีโอกาสมีอาการรุนแรงกว่าปกติ หรือมีอาการแพ้อาหารอย่างอื่น นอกเหนือจากถั่วเหลือง อาการแพ้เฉียบพลันและรุนแรง มักมีสัญญาณบ่งชี้และอาการที่รุนแรงยิ่งกว่าได้แก่

  • หายใจลำบาก เนื่องจากลำคอบวม
  • ช็อก และความดันโลหิตตกอย่างรุนแรง
  • หัวใจเต้นแรง
  • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดหรือหมดสติ

อาจมีอาการที่ไม่ได้ระบุถึงข้างต้น หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์

เมื่อไหร่ที่ฉันควรไปโรงพยาบาล

ปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาคุณเป็นประจำ หรือแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ หากคุณมีอาการแพ้อาหารหลังจากรับประทานอาหารเพียงไม่นาน อาจเป็นไปได้ที่จะมีอาการแพ้ ให้รีบไปโรงพยาบาลระหว่างที่ยังมีอาการแพ้อยู่ และเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน หากคุณมีอาการหรือสัญญาณของอาการแพ้ที่รุนแรงเกิดขึ้น เช่น

  • หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นเร็วและแผ่ว
  • วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
  • น้ำลายไหล และกลืนไม่ได้
  • รอยแดง และรู้สึกร้อนทั่วร่างการ

สาเหตุ

อะไรเป็นสาเหตุของ ภูมิแพ้ถั่วเหลือง

การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ก่อให้เกิดการแพ้อาหาร สำหรับการแพ้ถั่วเหลือง ระบบภูมิคุ้มกันจะระบุว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองบางชนิดเป็นอันตราย จึงกระตุ้นการสร้างแอนติบอดี อิมมูโนโกบูลินชนิดอี (immunoglobulin E หรือ IgE) เพื่อต้านโปรตีนจากถั่วเหลือง (สารก่อภูมิแพ้) ครั้งต่อไปที่คุณรับประทานถั่วเหลือง แอนติบอดีชนิดนี้จะจดจำและส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มหลั่งสารฮิสตามีน (histamine) และสารเคมีชนิดอื่นในเลือด ซึ่งสารฮิสตามีนและสารเคมีชนิดอื่นในร่างกายจะก่อให้เกิดอาการและสัญญาณของอาการแพ้ที่ต่างกันไป สารฮิสตามีนมีส่วนในการตอบสนองต่อภูมิแพ้โดยมาก เช่น น้ำมูกไหล คันตา คอแห้ง ผื่นคัน ลมพิษ คลื่นไส้ ท้องเสีย หายใจลำบาก และช็อกเพราะแพ้อย่างรุนแรง

โรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากการกระตุ้นของโปรตีนในอาหาร (Food protein-induced entercolitis syndrome หรือ FPIES)

สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร สามารถก่อให้เกิดอาการที่บางครั้งเรียกว่า การแพ้อาหารที่เกิดขึ้นภายหลัง แม้ว่าอาหารใดๆ ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นได้ แต่ถั่วเหลืองถือเป็นหนึ่งในอาหารทั่วไป ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ปฏิกิริยาแพ้ซึ่งโดยปกติแล้วคืออาเจียนหรือท้องเสีย มักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง มากกว่าที่จะเป็นไม่กี่นาที หลังจากรับประทานตัวกระตุ้น

โรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากการกระตุ้นของโปรตีนในอาหาร มักจะหายเป็นปกติเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งต่างจากการแพ้อาหารประเภทอื่น เช่นเดียวกับการแพ้ถั่วเหลืองทั่วไป การป้องกันปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นควรต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีถั่วเหลือง

ปัจจัยเสี่ยง

อะไรที่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่จะแพ้ถั่วเหลือง

มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ถั่วเหลือง เช่น

  • ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว คุณเสี่ยงที่จะแพ้ถั่วเหลือง หรืออาหารประเภทอื่นเพิ่มขึ้น หากคนในครอบครัวของคุณส่วนมาก แพ้สารต่างๆ เช่น เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (hay fever) หอบหืด ผื่นคัน หรือผิวหนังอักเสบ
  • ภูมิแพ้ถั่วเหลืองเกิดขึ้นในบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะวัยหัดเดินและทารก
  • ภูมิแพ้ชนิดอื่น ในบางกรณี ผู้ที่แพ้ข้าวสาลี พืชตระกูลถั่ว นม หรืออาหารชนิดอื่น อาจเป็นภูมิแพ้ถั่วเหลืองได้เช่นกัน

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย ภูมิแพ้ถั่วเหลือง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้จะดูประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์อาจขอให้คุณเก็บประวัติการรับประทานอาหาร และจดไม่เฉพาะอาหารที่คุณรับประทาน แต่รวมถึงอาการที่เกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารด้วย

นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้อาจแนะนำให้คุณทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยการสะกิด (skin-prick test) หรือตรวจเลือด ทั้งสองวิธีใช้เพื่อตรวจดูการทำงานของแอนติบอดีอิมมูโนโกบูลินชนิดอีต่อโปรตีนจากถั่วเหลือง

ในการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังด้วยการสะกิด แพทย์จะหยดของเหลวที่มีโปรตีนจากถั่วเหลืองในปริมาณน้อย ที่หลังหรือต้นแขน จากนั้น จึงสะกิดผิวหนังด้วยหมุดขนาดเล็กที่ฆ่าเชื้อแล้ว เพื่อให้ของเหลวไหลซึมเข้าผิวหนัง รอยแดงหรือบวมที่เกิดขึ้นภายใน 15-20 นาทีหลังจากนั้น เป็นการบ่งชี้ถึงการเป็นภูมิแพ้ของคุณ ในการตรวจเลือด ตัวอย่างเลือดจะถูกส่งไปห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจดูการทำงานของแอนติบอดีอิมมูโนโกบูลินชนิดอี แพทย์จะรายงานผลด้วยค่าที่เป็นตัวเลข

หากการทดสอบเหล่านี้ยังไม่ให้ผลที่แน่ชัด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ อาจต้องการที่จะทดสอบการแพ้อาหารด้วยการรับประทาน โดยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมทางการแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการทดสอบให้รับประทานอาหารที่มีถั่วเหลืองในปริมาณน้อย เพื่อดูอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอาจรุนแรง การทดสอบจึงต้องทำในโรงพยาบาลหรือศูนย์ทดสอบที่มีเครื่องมือฉุกเฉินและยาที่พร้อมให้บริการเท่านั้น

การรักษาภูมิแพ้ถั่วเหลือง

วิธีเดียวที่จะป้องกันปฏิกิริยาแพ้ถั่วเหลือง คือหลีกเลี่ยงถั่วเหลืองและโปรตีนจากถั่วเหลือง

การใช้ยา อย่างเช่นยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) อาจช่วยลดสัญญาณบ่งชี้และอาการของการแพ้ถั่วเหลืองได้ การกิรยาต้านฮิสตามีนหลังจากสัมผัสกับถั่วเหลือง อาจช่วยควบคุมปฏิกิริยาและช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายจากอาการแพ้ได้

ยาต้านฮิสตามีนที่มีขายตามร้านขายยา ได้แก่ ยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือชื่อทางการค้าว่ายาเบนาดริล (Benadryl) และอื่นๆ ยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) หรือชื่อทางการค้าว่ายาคลอร์ไตรมีตอน (Chlor-Trimeton) และอื่นๆ ยาเซทิริซีน (Cetirizine) หรือชื่อทางการค้าว่ายาซีร์เทค (Zyrtec) และอื่นๆ รวมถึงยาลอราทาดีน (loratadine) หรือชื่อทางการค้าว่ายาอะลาเวอร์ต (Alavert) ยาคลาริทิน (Claritin) และอื่นๆ

แม้คุณจะพยายามเป็นอย่างมาก แต่คุณก็อาจรับประทานถั่วเหลืองโดยไม่รู้ตัว หากคุณมีอาการแพ้ที่รุนแรง คุณอาจจำเป็นต้องฉีดสารเอพิเนฟรีน (epinephrine) อย่างเร่งด่วนและไปที่ห้องฉุกเฉิน

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองแบบไหนที่ช่วยจัดการกับภูมิแพ้ถั่วเหลืองได้

ไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองต่อไปนี้ อาจช่วยให้คุณจัดการกับภูมิแพ้ถั่วเหลืองได้

  • พกหลอดฉีดสารเอพิเนฟรีน (epinephrine) เช่น เอพิเพน (EpiPen) ออวีคิว (Auvi-Q) และอื่นๆ ติดตัวเสมอ มั่นใจว่าคุณรู้ว่าเมื่อไหร่ที่จะใช้ และจะใช้สารฉีดแบบพกพาอย่างไร
  • สวมใส่สร้อยข้อมือทางการแพทย์ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้ของคุณ เพื่อให้ผู้อื่นทราบเกี่ยวกับอาการแพ้ของคุณ

หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

โฆษณา
โฆษณา
โฆษณา
โฆษณา