ระยะของมะเร็ง เป็นดัชนีชี้วัดความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่จะบอกว่ามะเร็งที่เป็นอยู่นั้นมีระดับความอันตรายมากน้อยเพียงใด ยิ่งระยะของมะเร็งอยู่ในลำดับต้น ๆ ก็ยิ่งมีค่าความเสี่ยงน้อย แต่ถ้าหากระยะของมะเร็งมีตัวเลขความเสี่ยงที่สูง นั่นอาจหมายถึงอันตรายต่อชีวิตที่ต้องระวัง บทความนี้ของ Hello คุณหมอ จะพาทุกท่านมารู้จักกับ ระยะของโรคมะเร็ง และความสำคัญของมะเร็งในแต่ละระยะค่ะ
ระยะของมะเร็ง คืออะไร
ระยะของโรคมะเร็ง (Cancer Stage) คือ ระบบตัวชี้วัดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โดยหลังจากผู้ป่วยได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยเนื้องอก เนื้อร้าย เซลล์มะเร็ง หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง เพื่อทราบความเสี่ยงว่ามีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งหรือไม่ เมื่อทำการตรวจคัดกรองเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะใช้หน่วยที่เรียกว่า ระยะของโรคมะเร็ง ในการแจ้งผลแก่ผู้เข้ารับการตรวจคัดกรอง เพื่ออธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่าชิ้นเนื้อดังกล่าวเป็นมะเร็งในระยะใด และเนื้อร้ายดังกล่าวมีขนาดเท่าใด เกิดขึ้นที่ใด มีการแพร่กระจายหรือไม่ สามารถทำการรักษาได้หรือไม่ หรือมีความเสี่ยงใด ๆ จากเนื้องอกนั้นหรือไม่
ระยะของมะเร็ง สำคัญอย่างไร
ระยะของโรคมะเร็ง เป็นหน่วยวัดที่มีประโยชน์ทั้งต่อแพทย์และผู้ป่วย ดังนี้
- แพทย์สามารถรู้ถึงขนาด และตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง
- แพทย์สามารถวินิจฉัยและระบุแนวทางในการรักษามะเร็งต่อผู้ป่วยได้
- ระยะของโรคมะเร็ง ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงของมะเร็ง และประเมินโอกาสในการรักษาได้
- แพทย์สามารถกำหนดระยะเวลาในการรักษา และระยะเวลาในการพักฟื้นตัวหลังเข้ารับการรักษาได้
- ผู้ป่วยมีข้อมูลสำหรับประกอบการตัดสินใจเพื่อเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์
- ผู้ป่วยได้รับทราบถึงระดับความรุนแรงของมะเร็งที่ตนเองเป็น โดยอาจจะอยู่ในระดับที่ไม่มีความรุนแรง ระดับที่ต้องรับการผ่าตัด ระดับที่มีเริ่มเป็นอันตราย หรือระดับที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วนที่สุด
ระยะของมะเร็ง มีกี่ระดับ
ระยะของโรคมะเร็ง โดยทั่วไปจะมีการแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
- ระยะ 1 คือมะเร็งในระยะเริ่มต้น ที่เซลล์มะเร็งหรือเนื้องอกที่มีขนาดเล็กที่ไม่ได้มีความรุนแรงอะไร ยังไม่ได้ฝังตัวลึกลงไปในเซลล์ ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง และยังไม่อยู่ในจุดที่เป็นอันตราย สามารถผ่าตัดเอาเนื้องอกออกเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้องอกขยายตัวใหญ่ขึ้นจนอาจกลายเป็นมะเร็งได้ในอนาคต
- ระยะที่ 2 มะเร็งหรือเนื้องอกเริ่มมีขนาดใหญ่มากกว่าระยะที่ 1 เนื้องอกเริ่มเติบโตฝังลึกลงในเนื้อเยื่อ เริ่มมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ
- ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อใกล้เคียง และเริ่มมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันด้วย
- ระยะที่ 4 เป็นมะเร็งที่มีขนาดใหญ่มาก เซลล์มะเร็งฝังลึกในเนื้อเยื่อที่เป็นต้นกำเนิด และแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง เซลล์มะเร็งได้ลุกลามเป็นวงกว้างไปยังอวัยวะอื่น ๆ ทั้งที่อยู่ใกล้เคียงจุดกำเนิด และอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป
การนับระยะของมะเร็งด้วยระบบ TNM
นอกจากการนับ ระยะของโรคมะเร็ง ตั้งแต่ระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 4 แล้ว อีกหนึ่งระบบการนับระยะของโรคมะเร็งที่นิยมใช้คือ การนับระยะของมะเร็งด้วยระบบ TNM (TNM system) โดยจะใช้ตัวอักษร 3 ตัว เป็นตัวบอกระยะของโรคมะเร็ง ดังนี้
- Tumor แทนด้วยอักษร T ใช้สำหรับอธิบายตำแหน่งและขนาดของมะเร็ง ทั้งมะเร็งที่อยู่ในจุดกำเนิด และมะเร็งที่เริ่มมีการแพร่กระจายไปเนื้อเยื่อใกล้เคียง ซึ่งขนาดของมะเร็งจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ แบ่งเป็น 1 2 3 และ 4 โดยจะเขียนตัวอักษร T ขึ้นต้น และเขียนตัวเลขที่บอกขนาดของมะเร็งจะตามหลัง เช่น T1 T2 T3 T4 ยิ่งตัวเลขหลัง T มีค่าสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งหมายถึงขนาดของมะเร็งที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น
- Node แทนด้วยอักษร N จะหมายถึงต่อมน้ำเหลือง เพื่อดูว่ามะเร็งในระยะตั้ง 1-4 มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ ซึ่งจะมีตัวเลขบอกระดับตั้งแต่ 0-3 เช่น N0 หมายถึงไม่พบมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง
- Metastasis แทนด้วยอักษร M ใช้เพื่อระบุว่ามะเร็งมีการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ไกลจากมะเร็งจุดกำเนิดหรือไม่ โดยจะมีอยู่ด้วยกันสองค่าหลัก ๆ คือ M0 ไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็งในระยะไกล และ M1 มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ไกลจากจุดกำเนิด
ยกตัวอย่างการอ่านค่ามะเร็งด้วยระบบ TNM เช่น T2 N1 M0 หมายถึง มีเซลล์มะเร็งขนาดเล็กแพร่กระจายอยู่ในต่อมน้ำเหลือง แต่ยังไม่ลุกลามไปอวัยวะอื่น ๆ
ประโยชน์ของการตรวจมะเร็ง
การที่เราจะรู้ ระยะของโรคมะเร็ง ได้ หมายความว่าจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง หรือไปตรวจเนื้องอกในกรณีที่ตรวจพบเนื้องอกในร่างกาย ผลการตรวจจะแจ้งให้ทราบว่า มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งในระยะใด มะเร็งมีขนาดเท่าไหร่ มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งหรือไม่ ตลอดจนแนวทางการรักษา และโอกาสในการรักษามะเร็งด้วย
อย่างไรก็ตาม หลายคนมักถือคติ “ไม่ตรวจเท่ากับไม่ป่วย” หรือ “ไปตรวจก็เสียเงินเปล่า ๆ” เหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เกิดความชะล่าใจ จนเซลล์มะเร็งอาจมีการลุกลามไปสู่ระยะที่ยากต่อการรักษาให้หายเป็นปกติ และเป็นอันตรายแก่ชีวิต ดังนั้น หากมีโอกาสควรหาเวลาไปเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะการตรวจมะเร็งเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ มีประโยชน์ต่อตัวผู้เข้ารับการตรวจมากมาย ดังนี้
- การตรวจคัดกรองมะเร็งจะช่วยให้ทราบความเสี่ยงว่ามีเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งหรือไม่
- หากตรวจพบเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถที่จะทำการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งเติบโตและลุกลามจนเป็นอันตราย
- การตรวจคัดกรองมะเร็งจะช่วยให้พบมะเร็งได้ก่อนที่จะมีอาการ เพราะบางครั้งมะเร็งที่มีอาการ อาจหมายถึงมะเร็งเริ่มอยู่ในระยะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว
- การตรวจคัดกรองมะเร็งจะช่วยให้พบมะเร็งได้ก่อนที่จะมะเร็งจะมีการแพร่กระจายหรือลุกลามไปไกล
- การตรวจพบมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดขั้นตอนการรักษา และลดระยะเวลาในการฟื้นตัว เพราะมะเร็งมีขนาดเล็ก ขั้นตอนการผ่าตัดหรือรักษาไม่ยุ่งยาก ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว
- ประโยชน์ข้อสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งคือ ยิ่งตรวจพบมะเร็งเร็วเท่าไหร่ ก็หมายถึงโอกาสในการรอดชีวิตมากเท่านั้น