โรคมะเร็ง เกิดจากเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติจนพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง โรคมะเร็งมีหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งบางชนิดอาจไม่แสดงอาการในระยะแรก การตรวจสุขภาพเป็นประจำและการตรวจคัดกรองด้วยการ ตรวจเลือดหามะเร็ง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะอาจช่วยให้ทราบถึงการก่อตัวของเซลล์มะเร็ง รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะภายในว่าได้รับผลกระทบจากมะเร็งหรือไม่
สัญญาณเตือนโรคมะเร็งที่ควรเข้าตรวจคัดกรอง
สัญญาณเตือนของโรคมะเร็งที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็ง มีดังนี้
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่พบได้บ่อย
- มีไข้นานเกิน 3 วัน โดยเฉพาะหากมีไข้นานหลายสัปดาห์ และมีเหงื่อตอนกลางคืน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- รู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา แม้จะนอนหลับพักผ่อนแล้วก็ยังไม่หายเหนื่อย
- อาการไอ เสียงแหบ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง และมะเร็งต่อมไทรอยด์
- ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น ผิวเหลืองหรือแดงผิดปกติ มีอาการคัน เป็นผื่น อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งตับ มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต หรือหากมีตุ่มนูน ไฝ ปาน ขึ้นใหม่บนผิวหนัง อาจเกิดจากโรคมะเร็งผิวหนัง
- เป็นแผลเรื้อรังหรือแผลหายช้า อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งผิวหนัง หรือหากเป็นแผลในปากเรื้อรัง อาจเกิดจากโรคมะเร็งในช่องปาก ซึ่งความเสี่ยงโรคนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นหากสูบบุหรี่ เคี้ยวยาสูบ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เลือดออกผิดปกติ เช่น มีเลือดปะปนในอุจจาระ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ มะเร็งทวารหนัก หรือหากปัสสาวะมีเลือดผสม อาจเป็นเพราะมีเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ
- โลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดจากเซลล์มะเร็งทำลายไขกระดูกที่เป็นอวัยวะสำคัญในการผลิตเม็ดเลือดแดง จึงทำให้ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ มะเร็งที่อาจทำให้โลหิตจาง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารหรือระบบทางเดินอาหาร เช่น ไม่อยากอาหาร กลืนอาหารลำบาก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- มีปัญหาด้านการมองเห็นและการได้ยิน
การตรวจเลือดหามะเร็ง มีกี่รูปแบบ
การตรวจเลือดหามะเร็งที่คุณหมอนิยมใช้อาจมีดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เป็นวิธีการทดสอบที่พบบ่อยที่สุด โดยคุณหมอจะเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาปริมาณ ความเข้มข้น และลักษณะหรือรูปร่างของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด หากพบความผิดปกติ คุณหมออาจดูดและเจาะเนื้อเยื่อไขกระดูกไปส่งตรวจ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเม็ดเลือด
- การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker tests) สารบ่งชี้มะเร็ง คือ สารที่เซลล์มะเร็งปล่อยออกมา พบได้มากในปัสสาวะและกระแสเลือด คุณหมออาจใช้วิธีนี้ในกรณีที่ตรวจวินิจฉัยมะเร็งได้ยากเท่านั้น เช่น เมื่อผู้ป่วยไม่แสดงอาการแต่อาจมีสารบ่งชี้มะเร็งในเลือดสูง
- การตรวจโปรตีนในกระแสเลือด (Blood protein testing) เป็นการทดสอบด้วยการใช้อิเล็กโตรโฟรีซิส (Electrophoresis) เพื่อตรวจหาโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจใช้ในกรณีที่ต้องการการยืนยันผลการวินิจฉัย เนื่องจากผลการทดสอบอื่น ๆ ไม่แน่ชัด
- การตรวจหาเซลล์มะเร็งแบบเจาะลึก (Circulating tumor cell tests) เป็นการตรวจเลือดที่ยังอาจไม่ได้รับความนิยมมากในสถานพยาบาล แต่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาแล้วว่าสามารถใช้ในการตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ออกจากตำแหน่งและเซลล์ที่อยู่ในกระแสเลือด เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมากได้
ความเสี่ยงการตรวจเลือดหามะเร็ง
การตรวจเลือดหามะเร็ง อาจเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- มีเลือดออกและมีรอยช้ำบริเวณที่ถูกเข็มเจาะ
- รู้สึกปวด บวมเล็กน้อย
- อาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม หากรู้สึกวิงเวียนศีรษะควรแจ้งให้คุณหมอทราบในทันที
- อาจติดเชื้อ แต่เป็นความเสี่ยงที่พบได้ค่อนข้างยาก
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเลือดหามะเร็ง
คุณหมออาจแนะนำให้เตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเลือดหามะเร็งด้วยการงดอาหาร วิตามิน ยา หรืออาหารเสริมบางชนิด งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มชาสมุนไพรและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมงก่อนถึงวันกำหนดตรวจเลือด โดยดื่มได้แต่เพียงน้ำเปล่า เพื่อป้องกันสารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจนทำให้ผลลัพธ์การตรวจเลือดคลาดเคลื่อน
การตรวจหามะเร็งด้วยวิธีอื่น
นอกจากวิธีตรวจเลือดหามะเร็งแล้ว คุณหมออาจตรวจหามะเร็งด้วยวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- อัลตร้าซาวด์ การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนที่กระทบกับเนื้อเยื่อในร่างกายและสร้างภาพโครงสร้างของร่างกายออกมาปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับการตรวจหาก้อนเนื้อ เนื้องอก ปัญหาการทำงานของต่อมลูกหมาก มดลูก รังไข่
- ซีที สแกน (CT Scan) การสแกนด้วยการเอกซเรย์ ซึ่งจะแสดงผลภาพโครงสร้างไปยังคอมพิวเตอร์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูก กล้ามเนื้อ เนื้องอก ภาวะลิ่มเลือด มะเร็ง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ รวมไปถึงตรวจสุขภาพเพื่อหาอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ อาการผิดปกติหลังจากผ่าตัด สตรีตั้งครรภ์อาจต้องหลีกเลี่ยงการตรวจนี้ เพื่อป้องกันทารกในครรภ์ได้รับรังสีขณะตรวจ
- เอกซเรย์ วิธีที่รวดเร็วและสะดวกที่สุด โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการสร้างภาพโครงสร้างภายในร่างกายออกมาเป็นภาพขาวดำ การเอกซเรย์เหมาะสำหรับการตรวจโรคข้ออักเสบ หลอดเลือดอุดตัน ปัญหาทางเดินอาหาร ปอดบวม มะเร็งเต้านม มะเร็งกระดูก แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น คลื่นไส้ คัน ลมพิษ ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียนศีรษะ
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นเครื่องขนาดใหญ่ที่คุณหมออาจให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียงตรวจ ก่อนจะค่อย ๆ เคลื่อนผู้ป่วยเข้าไปสแกนด้วยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ เพื่อสร้างภาพอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกาย สามารถตรวจสอบได้ทุกส่วน เช่น หน้าอก สมอง ไขสันหลัง กระดูก ตับ มดลูก ต่อมลูกหมาก ข้อต่อ
- การตรวจด้วยสารกัมมันตรังสี (Nuclear Scan) คุณหมอจะฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าหลอดเลือดและสแกนด้วยเครื่องตรวจจับกัมมันตรังสีที่ไหลทั่วร่างกาย เพื่อสร้างภาพอวัยวะบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม สตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้คุณหมอทราบก่อนเข้ารับการตรวจวิธีนี้ เพราะคุณหมออาจจำเป็นต้องใช้การตรวจหามะเร็งด้วยวิธีอื่นแทน เช่น การอัลตร้าซาวด์ เพื่อความปลอดภัยของทารก
- การส่องกล้องตรวจ เป็นการส่องกล้องผ่านทางจมูก ปาก หรือบริเวณใกล้เคียงที่สังเกตเห็นความผิดปกติ เพื่อตรวหาเซลล์มะเร็ง เนื้องอก ติ่งเนื้อ โดยคุณหมออาจตรวจควบคู่กับการเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นรายละเอียดและความผิดปกติภายในได้มากขึ้น การส่องกล้องอาจมีหลายรูปแบบ ได้แก่
- การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) เพื่อตรวจดูความผิดปกติตามทางเดินหายใจจนถึงปอด บางคนอาจได้รับการเอกซเรย์ทรวงอกด้วย ความเสี่ยงของวิธีนี้อาจส่งผลให้มีไข้เล็กน้อย เลือดออก ปอดยุบ
- การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) ใช้ตรวจหาปัญหาที่เกิดขึ้นภายในถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับและตับอ่อน โดยการสอดกล้องขนาดเล็กที่เรียกว่า เอนโดสโคป ผ่านช่องปากลงไปในลำคอ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อในท่อน้ำดี การอุดตันของท่อตับอ่อน เนื้องอก อย่างไรก็ตาม สตรีตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการตรวจด้วยวิธีนี้ เพราะอาจส่งผลให้ทารกได้รับรังสีจนเสี่ยงพิการแต่กำเนิด
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นการตรวจโดยการส่องกล้องซึ่งติดไว้บริเวณปลายท่อขนาดเล็กเอาไว้เข้าไปบริเวณลำไส้โดยตรง เหมาะสำหรับการตรวจคัดกรองหาติ่งเนื้อ มะเร็งลำไส้ และความผิดปกติอื่น ๆ ภายในช่องท้อง เช่น ท้องร่วงเรื้อรัง อาการปวดท้องรุนแรง
- การส่องกล้องในกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) วิธีนี้อาจมีให้เลือก 2 รูปแบบ คือการสอดกล้องที่ติดอยู่บริเวณปลายท่อยาวชนิดยืดหยุ่นได้ และการสอดกล้องที่ติดอยู่บริเวณปลายท่อยาวชนิดแข็ง ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอและภาวะสุขภาพของผู้ป่วย นิยมใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โดยเฉพาะในผู้ที่เสี่ยงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด
- การตรวจชิ้นเนื้อ คุณหมออาจให้ยาระงับประสาทหรือฉีดยาชา เพื่อคลายความกังวล ก่อนกรีดแผลขนาดเล็กบริเวณที่พบความผิดปกติ แล้วนำเนื้อเยื่อออกมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ บางครั้งคุณหมออาจนำชิ้นเนื้อออกมาพร้อมกับวิธีการส่องกล้อง หรือใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดเนื้อเยื่อ