backup og meta

ปัจจัยเสี่ยง โรคมะเร็ง และการดูแลสุขภาพ

ปัจจัยเสี่ยง โรคมะเร็ง และการดูแลสุขภาพ

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติและกลายพันธุ์เป็นก้อนเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือเซลล์มะเร็ง แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเซลล์กลายพันธุ์เพราะเหตุใด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ เช่น รูปแบบการใช้ชีวิต อาหาร การสัมผัสกับสารเคมี แสงแดด สภาพแวดล้อม ความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด ดังนั้น การสร้างสุขนิสัยที่เหมาะสมอาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้

โรคมะเร็ง คืออะไร

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์ในร่างกายกลายพันธุ์จนเจริญเติบโตและแบ่งตัวเร็วและมากผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอกชนิดร้าย หรือก้อนมะเร็ง โรคมะเร็งมีหลายชนิด โดยมักตั้งชื่อตามอวัยวะที่พบเซลล์มะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า มะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของโลก ในปี พ.ศ. 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลก และชนิดของมะเร็งที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งเต้านม

แม้จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเซลล์ในร่างกายกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้เพราะเหตุใด แต่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเกิดจากการสูบบุหรี่ โรคอ้วน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานผักและผลไม้น้อย และขาดการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ เช่น การสัมผัสสารเคมี ความผิดปกติของยีนแต่กำเนิด ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น อาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งได้

ปัจจัยเสี่ยง โรคมะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง มีด้วยกันหลายประการ ดังนี้

การสูบบุหรี่

ในควันบุหรี่มีสารเคมีอย่างน้อย 70 ชนิดที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ เช่น นิโคติน (Nicotine) คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ทาร์หรือน้ำมันดิน โดยสารเคมีจะเข้าสู่กระแสเลือดและไหลไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งยังอาจทำลายดีเอ็นเอ ทำให้สูญเสียการควบคุมและคำสั่งในการสร้างเซลล์ ส่งผลให้เซลล์เติบโตผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็ง การสูบบุหรี่อาจเป็นสาเหตุที่พบบ่อยของมะเร็งปอด ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งในอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น กระเพาะปัสสาวะ เม็ดเลือด ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หลอดอาหาร ไต ตับ ตับอ่อน ปอด หลอดลม ปาก ลำคอ กล่องเสียง

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะย่อยแอลกอฮอล์ให้กลายเป็นสารเคมีอะซีตัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ที่ทำลายดีเอ็นเอ ขัดขวางกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นฟูความเสียหายในร่างกาย เมื่อดีเอ็นเอเสียหาย เซลล์จะขาดการควบคุม ส่งผลให้เซลล์เริ่มเติบโตมากผิดปกติและเกิดเป็นเนื้องอกชนิดร้ายแรงหรือก้อนมะเร็งได้

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากและลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม เป็นต้น

การมีน้ำหนักตัวมากเกินหรือเป็นโรคอ้วน

น้ำหนักเกินและโรคอ้วนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และมีระดับอินซูลินสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

การมีน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งไต มะเร็งมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของหลอดอาหาร มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งตับ มะเร็งในช่องท้อง มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งสมอง มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินและผ่านวัยหมดประจำเดือนมาแล้วยังอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้ด้วย

การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

การติดเชื้อไวรัสดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้

  • ฮิวแมนพาพิลโลมาไวรัส (Human Papillomavirus: HPV) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก และอาจเชื่อมโยงกับมะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น
  • ไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ
  • ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein-Barr: EBVX) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ไวรัสเอชไอวี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งซาร์โคมา (Sarcoma)
  • ไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวทีเซลล์ (T-cell) ในผู้ใหญ่
  • เชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอชไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H. pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

การสืบทอดทางพันธุกรรม

หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็ง อาจเพิ่มความเสี่ยงที่ยีนกลายพันธุ์จะถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นอกจากนี้ หากครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเหล่านี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของยีนที่สืบทอดทางพันธุกรรมอาจไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งเสมอไป

เพื่อลดและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อทราบว่ามีคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะหากพบเซลล์มะเร็งจะได้รักษาแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคมะเร็ง และลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น เลิกบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ก็เป็นวิธีที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้เช่นกัน

วิธีลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

การดูแลสุขภาพเป็นประจำและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงมะเร็งด้วยวิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้

  • เลิกบุหรี่ บุหรี่มีสารเคมีมากมายที่เป็นสารก่อมะเร็งซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ การเลิกบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสองจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้เซลล์ผิดปกติ จนนำไปสู่โรคมะเร็งได้
  • จำกัดปริมาณในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้หญิงควรดื่มไม่เกินวันละ 1 แก้ว และผู้ชายไม่ควรดื่มเกินวันละ 2  แก้ว เช่น เบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุรากลั่น 1½ ออนซ์
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การเลือกรับประทานอาหารที่หลากหลายและสมดุลอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด ทั้งยังมีส่วนช่วยรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพด้วย การเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ได้ และการจำกัดปริมาณในการรับประทานเนื้อแดง เช่น เนื้อวัว ไก่ หมู เนื้อแปรรูป อาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมากได้เช่นกัน
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดีต่อสุขภาพ การมีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งหลายชนิด จึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพอยู่เสมอ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักผลไม้ ธัญพืช เลือกอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ เช่น นมไขมันต่ำ เนื้อไม่ติดมัน และควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น ไส้กรอก เค้ก เบคอน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายอาจช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ โดยควรออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น เต้นแอโรบิค เดินเร็ว ว่ายน้ำ วันละอย่างน้อย 30 นาที 5 สัปดาห์/วัน หรือหากออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นสูง เช่น การวิ่ง กระโดดเชือก ขี่จักรยาน ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 10-30 นาที 4 วัน/สัปดาห์
  • ปกป้องผิวจากแสงแดด แสงแดดมีรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อผิว อาจทำให้ผิวไหม้และเกิดมะเร็งได้ ก่อนออกนอกอาคารทุกครั้ง ควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF30 ขึ้นไป สวมเสื้อผ้าแขนยาว ขายาวเพื่อกันรังสียูวี สวมหมวกปีกกว้างเพื่อปกป้องใบหน้าและลำคอ และหลีกเลี่ยงการออกนอกอาคารในช่วงเวลาที่แสงแดดจัด คือ ในช่วง 11.00 น. ถึง 15.00 น.
  • จัดการความเครียด ความเครียดอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ การปรับสมดุลชีวิตและการจัดการกับความเครียดด้วยกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ งานอดิเรก ร้องเพลง วาดรูป โยคะ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยจนเกิดความเครียดสะสม
  • นอนหลับให้เพียงพอ การนอนหลับช่วยให้ร่างกายมีเวลาในการซ่อมแซมและพักฟื้น ทั้งยังช่วยผ่อนคลายความเครียดและความเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งวันได้ด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cancer. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cancer. Accessed January 4, 2022

Risk Factors for Cancer. https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk. Accessed January 4, 2022

Am I more at risk if my relatives have cancer?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/lifestyle/am-i-more-at-risk-if-my-relatives-have-cancer/.  Accessed January 4, 2022

Risk factors and cancer. https://www.cdc.gov/cancer/risk_factors.htm. Accessed January 4, 2022

Causes and risk factors. https://www.macmillan.org.uk/cancer-information-and-support/worried-about-cancer/causes-and-risk-factors. Accessed January 4, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/01/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำความรู้จัก ชนิดมะเร็งผิวหนัง

เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทางเลือกในการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/01/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา