การรักษามะเร็งกระดูก เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งกระดูก ดังนั้น ก่อนเข้ารับการรักษา คุณควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการรักษาแต่ละประเภท เพื่อเตรียมพร้อมในการรับการรักษามะเร็งกระดูกต่อไป วันนี้เราจึงมีความรู้ดี ๆ มาแชร์ เพื่อให้คุณเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งกระดูกของคุณ
ระยะมะเร็งกระดูก
การกำหนดระยะของมะเร็ง เป็นวิธีที่จะช่วยการกำหนดแนวทางการรักษาในการรักษาได้ดีที่สุด เมื่อกำหนดระยะของมะเร็งแล้ว จะทำให้แพทย์สามารถประเมินและกำหนดแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูกแต่ละบุคคล สำหรับปัจจัยที่แพทย์ใช้ในการกำหนดระยะของมะเร็งกระดูก มีดังนี้
- ขนาดของเนื้องอก
- มะเร็งเจริญเติบโตเร็วแค่ไหน
- จำนวนกระดูกที่ได้รับผลกระทบ
- การแพร่กระจายของมะเร็ง
การรักษามะเร็งกระดูก มีอะไรบ้าง
เมื่อแพทย์ทำการกำหนดระยะมะเร็งกระดูกของผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะเริ่มทำการรักษาแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วย
- ชนิดของมะเร็งกระดูก
- ตำแหน่งและขนาดของมะเร็งกระดูก
- อายุและสุขภาพของผู้ป่วย
การรักษามะเร็งกระดูกจะทำการรักษาเพื่อควบคุมอาการและเนื้องอกไม่ให้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ และทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงไปด้วย
ในขั้นต้น การรักษามะเร็งกระดูกเป็นอะไรที่ซับซ้อนและต้องใช้การพิจารณาจากแพทย์ในหลายส่วน การให้ยารักษาหรือวิธีการรักษาต่าง ๆ ย่อมต้องคำนึงถึงสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย เนื่องจาก
- การให้เคมีบำบัดและรังสีอาจส่งผลต่อหัวใจและไตของผู้ป่วย
- การรักษาอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ในอนาคต จึงต้องปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะรับการรักษา
- หากกระดูกอ่อนแอ กระดูกอาจแตกหักได้ระหว่างการรักษา แพทย์จะทำการใส่เฝือกหรือใช้ไม้ค้ำยัน เพื่อรองรับกระดูกก่อน
เมื่อพิจารณาในส่วนต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว วิธีการรักษามะเร็งกระดูกก็มีด้วยกันหลายวิธี ดังนี้
การผ่าตัด
การผ่าตัดมะเร็งกระดูกมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับตำแหน่งของมะเร็ง
การผ่าตัดรักษาแขนขา
แพทย์จะทำการกำจัดส่วนที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็งกระดูกออก และอาจเอาส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบออกด้วยเล็กน้อย เพื่อลดโอกาสเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำ กระดูกที่ถูกกำจัดออกจะมีการแทนที่ด้วยการปลูกถ่ายโลหะหรือการปลูกถ่ายกระดูก นั่นคือ การนำกระดูกที่แข็งแรงจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมาแทนที่ในส่วนที่หายไป เมื่อผ่าตัดเรียบร้อยแพทย์จะสั่งจ่ายยา เพื่อระงับความเจ็บปวดและลดการติดเชื้อในกระดูกกับอวัยวะเทียม
การผ่าตัดโดยการตัดแขนขาออก
ในบางกรณี มะเร็งมีประมาณมากเกินไปจนทำให้การผ่าตัดเอามะเร็งทั้งหมดออกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อแขนขา จึงจำเป็นต้องตัดออก หลังจากการผ่าตัดแพทย์จะสั่งจ่ายยา เพื่อลดความเจ็บปวดและแนะนำวิธีดูแลบริเวณผ่าตัด หลังจากแผลผ่าตัดหายดีแล้วคุณอาจจะได้รับการใส่ขาหรือแขนเทียม เพื่อทดแทนและช่วยให้คุณใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น
การผ่าตัดส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
- กระดูกเชิงกราน จะได้รับการผ่าตัดเอาส่วนที่เป็นมะเร็งและบริเวณโดยรอบออก เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นอีกและอาจมีการปลูกถ่ายกระดูกใหม่ด้วย
- กรามหรือกระดูกโหนกแก้ม แพทย์จะทำการเอากระดูกที่เป็นมะเร็งออกและนำกระดูกจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกายมาทดแทน แต่บริเวณใบหน้าเป็นส่วนที่บอบบาง การทำการผ่าตัดจึงอาจเป็นไปได้ยาก ผู้ป่วยบางคนจึงต้องรับการรักษาแบบอื่นแทน
- กระดูกสันหลังหรือกะโหลกศีรษะ หากไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ แพทย์อาจใช้การฉายรังสีร่วมด้วย หรือใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษา
เคมีบำบัด
เป็นการใช้ยาเพื่อทำลายหรือชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง อาจใช้ก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของเนื้องอกทำให้ง่ายต่อการรักษา อาจใช้หลังจากการผ่าตัด หลังฉายรังสี เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่ หรือใช้เพื่อรักษาแบบประคองอาการหยุดการเจริญเติบโต ควบคุมอาการของโรคมะเร็งระยะลุกลาม
ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับชนิดของยาและตำแหน่งของมะเร็งที่อยู่ในร่างกาย นอกจากนั้น ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เบื่ออาหาร ผมร่วง แผลในปาก ท้องผูก เป็นต้น
การรักษาด้วยรังสี
เป็นการใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง มักใช้กับมะเร็งกระดูกชนิดอีวิงซาร์โคมา (Ewing Sarcoma) ซึ่งการรักษาด้วยรังสีนั้นจะใช้เมื่อ
- ใช้ก่อนผ่าตัด เพื่อลดขนาดเนื้องอก
- ใช้หลังผ่าตัดหรือหลังเคมีบำบัด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เหลือ
- ช่วยควบคุมมะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
- ช่วยควบคุมความเจ็บปวด
หลังจากการรักษามะเร็งกระดูกด้วยวิธีการต่าง ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุก ๆ 3-12 เดือน เพื่อตรวจให้แน่ใจว่ามะเร็งจะไม่กลับมาอีก