มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากอันดับ 1 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในคนไทย มะเร็งตับแบ่งได้ทั้งหมด 4 ระยะ โดยระยะที่ 4 คือ มะเร็งตับระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นระยะที่เซลส์มะเร็งลุกลามอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง ทั้งนี้ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น หากมีสัญญาณเตือน ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและชีวิตที่ยืนยาว
[embed-health-tool-heart-rate]
มะเร็งตับระยะสุดท้าย คืออะไร
มะเร็งตับระยะสุดท้ายเป็นมะเร็งระยะลุกลาม โดยเนื้องอกได้เกิดขึ้นที่ตับและแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง หรืออวัยวะที่อยู่ห่างไกล มะเร็งระยะสุดท้ายยังสามารถแบ่งย่อยเป็นอีก 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะ 4A อาจมีเนื้องอกมากกว่าหนึ่งก้อน และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองแต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
- ระยะ 4B อาจมีเนื้องอกมากกว่าหนึ่งก้อน ซึ่งอาจจะแพร่กระจายหรือยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง แต่อาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ปอด กระดูก
อาการ มะเร็งตับระยะสุดท้าย
มะเร็งตับมักไม่ค่อยแสดงอาการในระยะแรก และส่วนมากมักแสดงอาการออกมาในระยะสุดท้าย ซึ่งอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- ปวดท้อง เจ็บท้อง
- อาการคันตามตัว
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เมื่อยล้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว
- ตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
- ภาวะที่มีน้ำในช่องท้อง หรือที่เรียกว่า “ท้องมาน”
- ม้ามโต ท้องโต ท้องบวมไม่ทราบสาเหตุ
- คลำเจอก้อนแข็งบริเวณท้องส่วนบน หรือใต้ชายโครงด้านขวา
ซึ่งมะเร็งตับระยะสุดท้ายอาจมีอาการอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวมาข้างต้น
การรักษา มะเร็งตับระยะสุดท้าย
โดยปัจจัยที่ใช้ในการรักษามะเร็งตับ คือ ขนาดของเนื้องอก จำนวนเนื้องอก การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง แต่โดยส่วนมากมะเร็งตับระยะสุดท้ายอาจมีการรักษาด้วยวิธีดังนี้
- การใช้ยา โดยอาจใช้ตัวยาอะทีโซลิซูแมบ (Atezolizumab) เบวาซิซูแมบ (Bevacizumab) ซึ่งเป็นโมโนโคลนัลแอนติบอดี (mAbs) นำมาฉีดตามกำหนดในระยะ 2-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน หากตัวยาเหล่านี้ใช้ไม่ได้ผล อาจใช้ตัวยาอื่น เช่น โซราฟีนิป (Sorafenib) ที่ออกฤทธิ์ช่วยชะลอและยับยั้งการเกิดหรือการกระจายของเซลล์มะเร็ง อิพิลิมูแมบ (Ipilimumab) เป็นการใช้เฉพาะผู้ป่วยบางคนที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาจากตัวยาชนิดอื่น ซึ่งมีฤกษ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับมะเร็ง
- การฉายรังสี โดยมี 2 ประเภท คือ การฉายรังสีระยะไกลจากภายนอก (External Beam Radiation Therapy หรือ EBRT) เป็นการฉายรังสีจากภายนอกร่างกายไปยังมะเร็ง โดยจะฉายรังสี 5 วันต่อสัปดาห์ และการฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic Body Radiation Therapy หรือ SBRT) เป็นการใช้ปริมาณรังสีสูงในการรักษา โดยใช้รังสีขนาดเล็กหลายทิศทางในการกำหนดพิกัด 3 มิติ เพื่อให้รังสีพุ่งไปสู่ตำแหน่งของมะเร็ง
มะเร็งตับระยะสุดท้ายอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจช่วยให้บรรเทาอาการของโรคให้ทุเลาลง และอาจช่วยยืดอายุของผู้ป่วย รวมถึงคุณภาพชีวิต ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้าย ควรหาเรื่องพูดคุย เฝ้าระวังไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการวิตกกังวล และพยายามสร้างพลังบวกให้แก่ผู้ป่วย