มะเร็งเป็นโรคที่เซลล์บางส่วนของร่างกายเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยมะเร็งสามารถเริ่มต้นได้เกือบทุกที่ในร่างกายมนุษย์ เช่นเดียวกับมะเร็งต่อมลูกหมากที่สามารถพบเจอได้ในผู้ชาย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นที่จะเป็น ดังนั้น เหล่าผู้ชายควรรู้เกี่ยวกับ การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก ว่ามีวิธีการแบบใดบ้าง
มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดขึ้นได้อย่างไร
มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมากจนกลายเป็นก้อนมะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งเหล่านั้นสามารถแพร่กระจายผ่านกระแสเลือด หรือต่อมน้ำเหลืองไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหาย และถูกทำลาย ต่อมลูกหมากเป็นต่อมเล็ก ๆ ขนาดเท่าวอลนัท ซึ่งอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ และบริเวณด้านหน้าของทวารหนัก
การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก มีวิธีไหนบ้าง
การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก นั้นมีหลายวิธี สามารถดำเนินการตรวจเพิ่มเติมและทำการวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ได้แก่
การซักประวัติ และตรวจร่างกาย
หากแพทย์สงสัยว่าคุณอาจเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์อาจถามเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่ประสบพบเจอ เช่น ปัญหาทางเดินปัสสาวะหรือทางเพศ และระยะเวลาที่เป็น รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นไปได้เกี่ยวกับครอบครัว หรือทางพันธุกรรม ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจร่างกายด้วยการตรวจทางทวารหนักเพื่อคลำหาก้อนมะเร็ง (Digital Rectal Examination หรือ DRE) โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับ PSA
การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับ PSA ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายที่ไม่มีอาการ ระดับ PSA ในเลือดวัดเป็นหน่วยที่เรียกว่า “นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร (ng/mL)’ โดยแอนติเจนต่อมลูกหมาก (Prostate Specific Antigen หรือ PSA) เป็นโปรตีนที่สร้างจากเซลล์ในต่อมลูกหมาก (ทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง) การตรวจนี้จะเป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับ PSA ซึ่งระดับ PSA ส่วนใหญ่อยู่ในน้ำอสุจิ แต่ก็มีปริมาณเล็กน้อยที่อยู่ในเลือด
ผู้ชายส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ ผู้ชายที่มีระดับ PSA ในเลือดต่ำกว่า 4 ng/mL
- ผู้ชายที่มีระดับ PSA ระหว่าง 4-10 มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 1 ใน 4
- แต่ถ้าหากระดับ PSA มากกว่า 10 โอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีมากกว่า 50%
- ซึ่งหากระดับ PSA ของสูง อาจมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อค้นหาว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
การตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก
การเจาะชิ้นเนื้อที่ต่อมลูกหมากเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการวินิจฉัยโรคของต่อมลูกหมากเท่านั้น โดยการตรวจนี้จะต้องสอดเครื่องตรวจอัลตราซาวด์เข้าทางทวารหนัก และใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อโดยการสุ่ม ซึ่งผู้ป่วยอาจจะต้องทนกับความเจ็บเล็กน้อย โดยการเจาะแต่ละครั้งจะถูกทำเพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อประมาณ 6-12 ชิ้น การตรวจชิ้นเนื้อใช้เวลาประมาณ 10 นาที และถูกส่งเข้าไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวินิจฉัย
การตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasound หรือ TRUS)
การตรวจโดยใช้คลื่นเสียง และใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก
การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI)
เป็นเทคโนโลยีการสร้างภาพสามมิติพร้อมกับการทำอัลตราซาวนด์แบบ Real-time ที่ช่วยให้แพทย์เห็นรายละเอียด ตำแหน่งของก้อนมะเร็งในต่อมลูกหมากได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น และสามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจโดยไม่ต้องสุ่ม
หากผู้ชายคนใดรู้สึกเป็นกังวล หรือมีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถไปหาแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัย รวมทั้งขอคำแนะนำ หรือข้อมูลเพิ่มเติม