backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2021

มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colon Cancer or Colorectal Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นที่ลำไส้ใหญ่ หรือบริเวณส่วนปลายสุดของลำไส้ที่เรียกว่า ไส้ตรง พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการ เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่รับประทานผักผลไม้ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้

คำจำกัดความ

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร

มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) บางครั้งเรียกว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer) ขึ้นอยู่กับที่จุดเกิดโรค มะเร็งชนิดนี้พบที่ลำไส้ใหญ่ หรือบริเวณส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ ที่เรียกว่า ไส้ตรง ใกล้กับทวารหนัก

มะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้บ่อยเพียงใด

มะเร็งสำไส้ใหญ่สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยองค์กรอนามัยโลกเผยว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ทั้งในเพศชายและหญิง (รองจากเนื้องอกในปอด) โรคนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ชายและผู้หญิงเท่า ๆ กัน แต่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้เมื่ออายุน้อยกว่า

อาการ

อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

อาการทั่วไปของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีดังนี้

  • เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
  • ท้องร่วง
  • ท้องผูก
  • รู้สึกว่ายังมีอุจจาระคั่งอยู่หลังจากที่ขับถ่ายเสร็จ
  • มีเลือดปนในอุจจาระ
  • ปวดที่ช่องท้อง
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • รู้สึกแน่นในท้อง แม้จะไม่ได้รับประทานอะไรเลย
  • อาเจียน
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • หมอคลำพบก้อนเนื้อในช่องท้อง หรือบริเวณสันหลัง
  • สูญเสียธาตุเหล็กอย่างอธิบายไม่ได้ในผู้ชาย และหลังจากหมดวัยทองในผู้หญิง

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีสัญญาณหรืออาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรเข้าพบคุณหมอทันที สำหรับผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี หรืออาจต้องบ่อยกว่านั้น หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น คนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

สาเหตุ

สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากสาเหตุใด อย่างไรก็ตาม การเกิดเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็เหมือนการเกิดเซลล์มะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ กล่าวคือ เซลล์ลำไส้ใหญ่ผิดปกติ จึงเจริญเติบโตและแบ่งตัวรวดเร็วกว่าที่ควรเป็น จึงอาจทำให้เกิดก้อนเนื้อ หรือเนื้องอก และหากเป็นเนื้องอกร้าย ก็จะเรียกว่า มะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ปัจจัยต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

  • อายุมากขึ้น ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนจากสัตว์ อาหารไขมันอิ่มตัวสูง อาหารที่มีเส้นใยต่ำมาก หรืออาหารที่มีแคลอรี่สูง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก
  • เคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งมดลูก
  • มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ
  • น้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน
  • สูบบุหรี่ เนื่องจากมีงานศึกษาวิจัยที่ระบุว่า การสูบบุหรี่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งทวารหนัก
  • การไม่ค่อยออกกำลังกาย
  • มีติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง แล้วไม่รักษา จนอาจทำให้ติ่งเนื้องอกกลายเป็นมะเร็งในที่สุด
  • เป็นโรคโครห์น (Crohn) หรือโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจร่างกายสามารถตรวจจับติ่งเนื้องอกก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งได้ และหากตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรก โอกาสในการรักษาให้หายได้ก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ

การตรวจตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยเพื่อหาการปะปนของเลือด สามารถเข้ารับการตรวจที่สถานพยาบาล หรืออาจใช้อุปกรณ์สำหรับเก็บตัวอย่างอุจจาระที่บ้าน แล้วนำไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการก็ได้

การตรวจเลือดในอุจจาระไม่ได้แม่นยำ 100 % และอาจตรวจไม่พบโรคมะเร็งใด ๆ เพราะอุจจาระอาจไม่ได้มีเลือดปนทุกก้อน และแม้จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจไม่ได้ถ่ายอุจจาระปนเลือดทุกครั้ง จึงอาจทำให้ผลตรวจออกมาเป็นลบหรือไม่พบมะเร็ง แม้จะเป็นมะเร็งอยู่ก็ตาม

นอกจากนี้ เลือดที่ปนในอุจจาระอาจมาจากสาเหตุอื่นหรืออาการอื่น เช่น ริดสีดวงทวาร การรับประทานอาหารบางอย่างที่ทำให้ดูเหมือนมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ไม่มีเลือดออกในบริเวณนั้น

การตรวจดีเอ็นเอในอุจจาระ

วิธีนี้จะวิเคราะห์ร่องรอยดีเอ็นเอหลายชนิดที่อยู่ในก้อนเนื้อหรือเนื้องอกภายในลำไส้ใหญ่ผลัดเซลล์ออกมาในอุจจาระ ก่อนที่เนื้องอกนั้น ๆ จะกลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างอุจจาระที่บ้าน โดยทำตามคำแนะนำของคุณหมอ จากนั้นจึงนำตัวอย่างอุจจาระที่ได้ไปส่งที่สถานพยาบาล เพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป

วิธีนี้สามารถตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ได้แม่นยำมากกว่าการตรวจหาติ่งเนื้องอก แต่ก็ไม่สามารถทำให้ตรวจพบการกลายพันธ์ุของดีเอ็นเอทั้งหมดที่อาจบ่งชี้ว่ามีเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ได้

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

คุณหมอจะใช้กล้องส่องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidscope) ที่มีลักษณะเรียว ยาว มีหลอดไฟ และยืดหยุ่นได้ เพื่อตรวจสอบลำไส้ส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนคดของผู้ป่วย (เป็นส่วนท้ายของลำไส้ใหญ่ก่อนถึงลำไส้ส่วนปลาย)

การตรวจโดยทั่วไปใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีและไม่เจ็บแต่อย่างใด แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัว และอาจเสี่ยงการเกิดรูบนผนังลำไส้ได้ หากหมอตรวจพบติ่งเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ หมอจะใช้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ต่อไป เพื่อวิเคราะห์ลำไส้ใหญ่ทั้งหมด และเอาติ่งเนื้องอกที่ปรากฏอยู่ออกมา หลังจากนั้น จะนำติ่งเนื้องอกมาตรวจสอบผ่านกล้องจุลทรรศน์

กล้องส่องลำไส้จะตรวจพบได้แค่ติ่งเนื้องอกหรือมะเร็งที่ปรากฎตรงตรงปลายส่วนที่สามของลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่เท่านั้น หากมีเนื้องอกหรือมะเร็งในกระเพาะอาหาร กล้องจะตรวจไม่พบ

การเอ็กซเรย์สวนแป้งแบเรียม

คุณหมอจะใส่แป้งย้อม ที่เรียกว่า แบเรียม (Barium) เข้าไปในอุจจาระของผู้ป่วยด้วยการใช้ยาสวนทวารหนัก แป้งแบเรียมจะไปเคลือบผนังลำไส้ สร้างภาพของลำไส้ตรง ลำไส้ใหญ่ และส่วนเล็กของลำไส้เล็ก ทำให้มองเห็นภาพได้บนฟิล์มเอกซเรย์

ในบางครั้ง คุณหมออาจใช้วิธีนี้ร่วมกับการส่องกล้องเพื่อตรวจจับติ่งเนื้องอกขนาดเล็กที่การเอกซ์เรย์สวนแป้งแบเรียมอาจพลาดไป หากการเอ็กซ์เรย์สวนแป้งแบเรียมตรวจจับอะไรก็ตามที่ผิดปกติ คุณหมออาจจะแนะนำวิธีการส่องกล้องเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่

คุณหมอจะใช้กล้องส่องมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colonoscope) ซึ่งมีขนาดยาวกว่ากล้องส่องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscope) กล้อง Colonoscope เป็นกล้องที่เรียวยาวและยืดหยุ่น มีท่อต่อกับกล้องวิดีโอและจอภาพ วิธีนี้จะช่วยให้คุณหมอเห็นลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงส่วนปลายได้ทั้งหมด ติ่งเนื้องอกใด ๆ ก็ตามที่พบระหว่างการตรวจ จะถูกตัดออกมา หรืออาจมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อมาตรวจพิสูจน์ ซึ่งไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด

แม้วิธีนี้จะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่ผู้ป่วยบางคนก็อาจได้รับยากล่อมประสาทระดับอ่อน เพื่อให้รู้สึกสงบ ผู้ป่วยอาจได้รับยาระบายแบบน้ำจำนวนมาก เพื่อทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ วิธีนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การตกเลือด การเกิดรูบนผนังลำไส้ แต่ก็เกิดขึ้นได้ยากมาก

คอมพิวเตอร์สแกนลำไส้ใหญ่ 

เครื่องสแกนด้วยคอมพิวเตอร์ ถูกนำมาใช้ในการสร้างรูปภาพของลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยจำเป็นต้องทำความสะอาดลำไส้ใหญ่เพื่อให้การตรวจนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากเจอสิ่งผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยจึงค่อยรับการส่องกล้องแบบปกติต่อไป การศึกษาพบว่า การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์อาจเป็นทางเลือกที่รุนแรงน้อยกว่า เจ็บน้อยกว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และอาจให้การตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำกว่า

สแกนด้วยอัลตราซาวด์

คลื่นเสียงจะถูกนำมาใช้เพื่อช่วยแสดงให้เห็นว่าของมะเร็งลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายหรือไม่

การตรวจด้วยเครื่อง MRI

MRI (Magnetic resonance imaging) จะทำให้เห็นภาพลำไส้แบบสามมิติ ซึ่งอาจช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้สะดวกขึ้น

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

การรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ขนาดและตำแหน่งของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง โอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกครั้ง ภาวะสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยวิธีที่นิยมใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่

การผ่าตัด

เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด ศัลยแพทย์จะผ่าเอาเนื้อร้ายที่ติดเชื้อและต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงออก เพราะต่อมน้ำเหลืองเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้มะเร็งจะลุกลามออกไป

ศัลยแพทย์จะเย็บลำไส้ให้ติดกันเหมือนเดิม ในบางกรณี อาจต้องตัดลำไส้ตรงส่วนปลายลำไส้ใหญ่อออกทั้งหมด จากนั้น จะใส่ถุงทวารเทียมเข้าไปกักเก็บอุจจาระ และช่วยในการระบายของเสีย ปกติแล้วจะใช้เพียงชั่วคราว แต่หากไม่สามารถเย็บปิดส่วนปลายลำไส้ได้ ก็อาจต้องใช้ถุงทวารเทียมถาวร

หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ในระยะเริ่ม ๆ คุณหมออาจรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

เคมีบำบัด

เคมีบำบัด (Chemotherapy) คือ การใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์ก่อมะเร็ง ถือเป็นวิธีรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย บางครั้งอาจมีการให้เคมีบำบัดก่อนก่อนการผ่าตัด เพราะอาจช่วยให้ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลงได้

งานวิจัยพบว่า การให้เคมีบำบัดกับผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นรุนแรง สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นมะเร็งอีกครั้ง และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

รังสีบำบัด

รังสีบำบัด (Radiotherapy) เป็นการใช้คลื่นรังสีพลังงานสูงในการทำลายเซลล์มะเร็ง และช่วยป้องกันเซลล์มะเร็งแตกตัว วิธีนี้นิยมใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectal cancer) และอาจใช้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเนื้องอก หรือหลังการผ่าตัด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ซ้ำ ซึ่งบางครั้งอาจมีการให้เคมีบำบัดร่วมด้วย

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

  • ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะหากเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมาก่อน หรือเป็นโรคโครห์น หรือมีอายุเกิน 60 หรือมีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุก 5-10 ปี
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี รับประทานเนื้อแดงและเนื้อสัตว์ที่ผ่านการแปรรูปให้น้อยที่สุด งดไขมันอิ่มตัว และบริโภคไขมันดี เช่น อะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันปลา ถั่ว
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางเป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี ระวังอย่าให้น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด รวมไปถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทหวารหนัก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ปราโมทย์ วงศ์คำ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2021

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา