backup og meta

เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทางเลือกในการรักษา

เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทางเลือกในการรักษา

มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งโรคร้ายที่เหล่าผู้ชายทุกคนควรพึงระวัง เพราะเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในเพศชายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้หลายวิธี แต่วันนี้ Hello คุณหมอ ขอเสนอแนะ เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก อีกวิธีการรักษา ไปดูกันเลย

เคมีบำบัด คืออะไร

เคมีบำบัด (chemotherapy) คือ การใช้ยาเพื่อทำการรักษาโรคมะเร็ง โดยยาเคมีบำบัดนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดขนาดและชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย โดยมีตัวยาหลากหลายชนิด แพทย์จะทำการวินิจฉัยดูอาการ และระยะ เพื่อรักษา อาจใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรือมากกว่านั้น

ประเภทของ เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

งานวิจัยเผยว่า docetaxel เป็นยาเคมีบำบัดแรกที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก และในปัจจุบันยาเคมีบำบัดสำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากที่ใช้บ่อย คือ docetaxel (Taxotere) ซึ่งมักให้ร่วมกับ prednisone ซึ่งเป็นยาสเตียรอยด์ หากการรักษา docetaxel ไม่ได้ผล แพทย์อาจใช้ cabazitaxel ที่เป็นกลุ่มตัวยาเดียวกันกับ docetaxel โดยยาเคมีบำบัดอื่น ๆ ที่อาจใช้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ได้แก่ mitoxantrone doxorubicin vinblastine paclitaxel

วิธีการให้ เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

โดยส่วนใหญ่แล้วการให้เคมีบำบัดนั้นจะใช้วิธีการ “ฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ” เป็นการให้ยาทีละรอบเพื่อช่วยให้ร่างกายมีเวลาฟื้นตัว แต่ละรอบใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง หรือบางครั้งอาจจะเป็น “ยารับประทาน” เคมีบำบัดอาจทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวลดลง ดังนั้นผู้ป่วยจะได้รับการตรวจเลือดก่อนทำในแต่ละครั้ง ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องตรวจเลือดเพื่อตรวจดูว่าตับและไตทำงานได้ดีเพียงใด เนื่องจากตับและไตจะทำลายยาเคมีบำบัดและกำจัดออกจากร่างกาย หากตับและไตทำงานไม่ปกติ ยาจะคงอยู่ในร่างกายนานขึ้นและอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงมากขึ้นตามด้วย ดังนั้นผู้ป่วยควรมาตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง

ประโยชน์ของการรักษาด้วยเคมีบำบัด

ประโยชน์ของเคมีบำบัดอาจทำให้มะเร็งหดตัวหรือชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ โดยไม่ได้หวังผลในการทำให้โรคหายขาด การรักษาด้วยเคมีบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากอาจมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพิ่มขึ้น ใช้เวลาไม่นาน และที่สำคัญผู้ป่วยไม่จำเป็นที่จะต้องนอนที่โรงพยาบาล

ผลข้างเคียงของ เคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด อาการของแต่ละบุคคลอาจจะแตกต่างกันไป เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนได้รับปริมาณยา การใช้ยาร่วมกัน และการตอบสนองต่อยาแตกต่างกัน แต่สำหรับผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดของเคมีบำบัด ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ผมร่วง
  • แผลในปาก
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องเสีย ท้องร่วง
  • เหนื่อยล้า (เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง)
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อ (เนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง)
  • ช้ำหรือเลือดออกง่ายขึ้น (เนื่องจากเกล็ดเลือดลดลง)
  • ภาวะมีบุตรยาก (อาจเป็นผลข้างเคียงถาวรที่เกิดจากเคมีบำบัด)

ผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากอาจจะรู้สึกหงุดหงิดกับผลข้างเคียงของการรักษา การปฏิบัติบางอย่างอาจช่วยลดปัญหาได้ เช่น การหาวิธีบรรเทาความเครียด โดยการฟังเพลง เดินเล่น หากิจกรรมหรืองานอดิเรก ออกกำลังกายเบา ๆ แบบโยคะ และพูดคุยกับแพทย์ที่ให้การรักษากับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Role of chemotherapy in prostate cancer. https://www.ajandrology.com/article.asp?issn=1008-682X;year=2018;volume=20;issue=3;spage=221;epage=229;aulast=Nader. Accessed August 13, 2021

Prostate Cancer. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470550/. Accessed August 13, 2021

Chemotherapy for Prostate Cancer. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/prostate-cancer/chemotherapy-for-prostate-cancer. Accessed August 13, 2021

Prostate Cancer: Chemotherapy. https://www.webmd.com/prostate-cancer/guide/prostate-cancer-chemotherapy. Accessed August 13, 2021

Treatments Chemotherapy. https://prostatecanceruk.org/prostate-information/treatments/chemotherapy. Accessed August 13, 2021

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2021

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธี การตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายที่เหล่าผู้ชายควรรู้

มะเร็งต่อมลูกหมาก สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา