backup og meta

มะเร็งปอด สาเหตุ อาการ และการรักษา

มะเร็งปอด สาเหตุ อาการ และการรักษา

มะเร็งปอด (Lung Cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เนื้อเยื่อในปอดเจริญเติบโตผิดปกติ และส่งผลกระทบต่อปอดและระบบทางเดินหายใจส่วนอื่น ๆ และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ รวมถึงเข้าพบคุณหมอทันทีหากสังเกตพบอาการผิดปกติ เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

มะเร็งปอด คืออะไร

โรคมะเร็งปอด เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เนื้อเยื่อในปอดเติบโตในอัตรารวดเร็วอย่างผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดเนื้องอก หน้าที่ของปอด คือช่วยในการหายใจและจ่ายออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) โรคมะเร็งปอดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด โรคมะเร็งปอดทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมและนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่

โรคมะเร็งปอดมีหลายประเภท โดยแต่ประเภทที่พบบ่อยที่สุดถูกตั้งชื่อตามขนาดของเซลล์ในก้อนเนื้อมะเร็ง

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer : SCLC) ภาวะนี้หมายถึงเซลล์มะเร็งดูมีขนาดเล็กเมื่อตรวจดูจากกล้องจุลทรรศน์ ภาวะนี้พบได้ค่อนข้างยาก ประมาณ 1 ใน 8 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งปอดจะเป็นมะเร็งชนิดเซลล์เล็ก โดยมะเร็งปอดประเภทนี้สามารถเติบโตและพัฒนาตัวได้อย่างรวดเร็ว
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer : NSCLC) ภาวะนี้หมายถึงเซลล์มะเร็งมีขนาดใหญ่กว่ากรณีของมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก คนส่วนใหญ่มักจะเป็นมะเร็งปอดประเภทนี้มากกว่า (ประมาณ 7 ใน 8 ราย) มะเร็งชนิดนี้พัฒนาตัวไม่เร็วเท่ามะเร็งชนิดเซลล์เล็ก ดังนั้น การรักษาจึงแตกต่างกัน

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็กประเภทอื่น ๆ ที่พบได้น้อยกว่า ได้แก่ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Pleomorphic) เนื้องอกคาร์ซินอยด์ในระบบประสาทต่อมไร้ท่อ (Carcinoid Tumor) เนื้องอกนอกต่อมน้ำลาย มะเร็งต่อมน้ำลาย (Salivary Gland Carcinoma) และ มะเร็งชนิดที่พบไม่บ่อยและมีลักษณะไม่เหมือนมะเร็งชนิดอื่น ๆ (Unclassified Carcinoma)

โรคมะเร็งปอด พบได้บ่อยเพียงใด

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) โรคมะเร็งปอด เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของการเสียชีวิตของประชากร 1.59 ล้านรายทั่วโลกในปี พ.ศ. 2555 และคาดว่าตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีต่อไป มะเร็งปอดสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกวัย และสามารถจัดการควบคุมได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงลง กรุณาปรึกษาคุณหมอเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ โรคมะเร็งปอด

ในขณะที่อาการส่วนใหญ่ของ โรคมะเร็งปอด จะเกิดขึ้นในปอด แต่เป็นไปได้ว่าอาจพบอาการในส่วนอื่นๆ ในร่างกายได้เช่นกัน นั่นเป็นเพราะมะเร็งได้กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยความรุนแรงของอาการเหล่านี้แตกต่างกันไป บางรายอาจไม่รู้สึกว่าเกิดอาการใด ๆ หรือแค่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยตามปกติ อย่างไรก็ตาม อาการบางอย่างที่ควรสังเกตและเฝ้าระวัง ได้แก่

  • รู้สึกอึดอัดหรือปวดบริเวณทรวงอก
  • อาการไอเรื้อรัง หรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป
  • หายใจลำบาก
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • เลือดออกมาพร้อมเสมหะ
  • เสียงแหบ
  • กลืนอาหารลำบาก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกเหนื่อยมาก
  • อาการอักเสบหรือมีเลือดคั่งในปอด
  • ต่อมน้ำเหลืองบวมหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นภายในทรวงอกบริเวณระหว่างปอด

โรคมะเร็งปอด เป็นภาวะรุนแรงที่สามารถนำไปสู่อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ อาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นเมื่อเกิด โรคมะเร็งปอด ได้แก่

  • หายใจติดขัด
  • ไอเป็นเลือด
  • อาการปวด ซึ่งอาจเกิดจากโรคมะเร็งปอดระยะลุกลาม
  • ของเหลวคั่งในทรวงอก เช่น ภาวะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural Effusion)
  • มะเร็งที่แพร่กระจายไปส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย (Metastasis)

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการใด ๆ ตามที่ระบุข้างต้น หรือมีคำถาม โปรดปรึกษาคุณหมอ ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาคุณหมอ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์

สาเหตุ

สาเหตุของโรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด เกิดขึ้นจากสารพิษที่เข้าสู่ปอด สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการสูบบุหรี่ ไปป์ หรือซิการ์ ความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่สูบ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้ลดลงได้หากเลิกสูบบุหรี่

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ โรคมะเร็งปอด

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่สามารถก่อให้เกิด โรคมะเร็งปอดได้ เช่น

  • เคยหรือกำลังสูบบุหรี่
  • การได้รับควันบุหรี่มือสอง
  • มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
  • ได้รับรังสีบำบัดเพื่อรักษาอาการอื่นๆ ที่อาจส่งผลกับบริเวณทรวงอกได้
  • ได้รับสารพิษต่างๆ เช่น แร่ใยหิน โครเมียม นิกเกิล สารหนู เขม่า หรือน้ำมันดินในสถานที่ทำงาน
  • ได้รับก๊าซกัมมันตรังสีเรดอนในบ้านหรือสถานที่ทำงาน
  • อาศัยในสภาวะแวดล้อมที่มีมลพิษ
  • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากพันธุกรรมหรือติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus หรือ HIV)
  • รับประทานอาหารเสริมเบตาแคโรทีน และสูบบุหรี่จัด

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ ไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย โรคมะเร็งปอด

เพื่อตรวจสอบว่าเป็น โรคมะเร็งปอด หรือไม่ คุณหมอจะประเมินอาการและทำการตรวจร่างกาย เช่น ฟังการหายใจ เพื่อดูว่าอาจเกิดเนื้องอกในทรวงอกหรือไม่ แล้วคุณหมอจะสอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ว่า สูบบุหรี่หรือไม่หรือมีใครในครอบครัวสูบบุหรี่หรือเปล่า และยังอาจสอบถามเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อตรวจสอบว่าได้รับควันหรือสารพิษอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อปอดหรือไม่

เพื่อเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรคนี้ คุณหมอจะขอตรวจร่างกาย อาจเป็นการตรวจถ่ายภาพแบบทั่วไป (Spiral CT Scan, PET scan) เพื่อตรวจปอด หรือการตรวจในห้องปฏิบัติการที่เรียกว่าการตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ (Sputum Cytology) เพื่อหาเนื้องอก การตรวจถ่ายภาพจะแสดงจุดบนภาพถ้ามีเนื้องอก

ขณะที่การตรวจหาเซลล์มะเร็งในเสมหะ (Sputum Cytology) จะตรวจตัวอย่างเสมหะที่ออกมาจากปอด เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง สามารถขอให้คุณหมออธิบายได้ถ้าไม่ทราบวิธีอ่านผลตรวจ

เพื่อให้ได้ผลตรวจที่แม่นยำที่สุด คุณหมออาจขอตัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อไปตรวจ หมายความว่าคุณหมอจะตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อปอดชิ้นเล็กๆ และนำไปส่องตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเซลล์มะเร็ง การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อปอดสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การส่องกล้องหลอดลม (Bronchoscopy) ด้วยการใช้ท่อบาง ๆ สอดผ่านปากหรือรูจมูกลงไปที่ปอดเพื่อเก็บตัวอย่าง
  • การเจาะดูดด้วยเข็มเล็ก (Needle aspiration) การสอดเข็มเล็กๆ  ผ่านทางผิวหนังไปยังปอด เพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์ขนาดเล็ก คุณหมอจะทำให้บริเวณนั้นชาก่อนจึงไม่รู้สึกเจ็บ
  • การเจาะโพรงเยื่อหุ้มปอด (Thoracentesis) ใช้เข็มเช่นกัน แต่แทนที่จะเก็บเซลล์จากปอด คุณหมอจะดูดของเหลวโดยรอบบริเวณปอดแทน เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง
  • การผ่าตัดเปิดทรวงอก (Thoracotomy) นี่เป็นการผ่าตัดใหญ่เพื่อตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด มักจะถูกนำไปใช้ในกรณีที่วิธีการวินิจฉัยหรือรักษาแบบอื่นใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น

การรักษา โรคมะเร็งปอด

การรักษามะเร็งปอดมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็งปอดและระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดชนิดเซลล์ชนาดไม่เล็กสามารถรับการรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีบำบัด การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) หรือหลายวิธีผสมกัน ในขณะที่ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กตามปกติจะได้รับการรักษาด้วยวิธีการใช้รังสีบำบัดและเคมีบำบัด

  • การผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่คุณหมอจะผ่าตัดเนื้อเยื่อมะเร็งออก
  • เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาพิเศษเพื่อลดขนาดหรือขจัดมะเร็ง ยานี้อาจเป็นเม็ดยาที่รับประทานหรือยาที่ฉีดเข้าเส้นเลือด หรือบางครั้งอาจใช้ทั้งสองอย่าง
  • รังสีบำบัด ด้วยการใช้รังสีพลังงานสูง (คล้ายกับเอ็กซ์เรย์) เพื่อกำจัดมะเร็ง
  • การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) เป็นการใช้ยาเพื่อขัดขวางการเติบโตหรือการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ยานี้อาจเป็นเม็ดยาที่รับประทานหรือยาที่ฉีดเข้าเส้นเลือด

การรักษาที่เหมาะสมสำหรับจะขึ้นกับประเภทและระยะของมะเร็งปอด และอาจได้รับการรักษามากกว่าหนึ่งวิธี

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อรับมือกับโรคมะเร็งปอด

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้รับมือกับโรคมะเร็งปอดได้

เลิกสูบบุหรี่ทันที

สิ่งแรกที่ควรทำหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น โรคมะเร็งปอด คือ การทิ้งซองบุหรี่ และหยุดสูบบุหรี่ทันที ถ้าเป็น โรคมะเร็งปอด จากการได้รับควันมือสอง ควรพูดคุยกับคนที่สูบบุหรี่และบอกให้พวกเขาเลิกสูบ ถ้าได้รับสารพิษจากการทำงาน ให้พูดคุยกับผู้จัดการหรือเจ้านายเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับตัวเอง และเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครป่วยเพราะเหตุนี้อีก

จัดการควบคุมความเจ็บปวด

การจัดการความเจ็บปวดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการจัดกับการกับ โรคมะเร็งปอด อาจได้รับยาเพื่อรักษาความเจ็บปวด และต้องใช้ทันทีที่รู้สึกเจ็บปวด อาจขอการบำบัดจากคุณหมอเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด หรืออาจขอวิธีการดูแลตัวเองเพื่อควบคุมความเจ็บปวด ต้องจำไว้ว่าการควบคุมความเจ็บปวดนั้นเป็นไปได้ หรืออาจทำให้หายเจ็บปวดได้ด้วยซ้ำ

การรักษาความเจ็บปวดอื่น ๆ ที่อาจเป็นตัวช่วยได้เช่นกัน ได้แก่

  • เทคนิคผ่อนคลาย
  • การฝึกควบคุมร่างกายตนเองเพื่อสร้างสมดุลภายใน (Biofeedback)
  • การทำกายภาพบำบัด
  • การประคบร้อนหรือเย็น
  • ออกกำลังกายและนวด

นอกจากนี้ การสนับสนุนจากครอบครัว เพื่อน ๆ และกลุ่มให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ ก็เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจที่ดีเยี่ยม เพื่อให้สามารถจัดการกับความเจ็บปวดหลังการรักษามะเร็งได้

การจัดการกับอาการหายใจลำบาก

หากมีอาการหายใจลำบากเมื่อเป็นโรคมะเร็งปอด อาจจัดการกับอาการหายใจลำบาก ได้ดังนี้

  • เทคนิคช่วยหายใจ เทคนิคเหล่านี้ได้รับการออกแบบเพื่อช่วยให้หายใจได้อย่างง่ายดาย และถูกนำไปใช้สำหรับคนที่มีอาการหายใจลำบาก ที่ไม่ใช่เกิดจากโรคมะเร็งปอดเท่านั้น เทคนิคเหล่านี้ยังสามารถช่วยให้รู้สึกสงบและผ่อนคลายได้
  • การบำบัดโดยใช้ออกซิเจน การหายใจออกซิเจนบริสุทธิ์เข้าไปทำให้แน่ใจได้ว่าปอดไม่จำเป็นต้องทำงานหนักมากเพื่อจ่ายออกซิเจนให้แก่เลือด จึงสามารถบรรเทาความผิดปกติในการหายใจได้
  • การจัดการของเหลวบริเวณปอด ของเหลวบริเวณปอดอาจกดปอดและทำให้หายใจลำบาก ในกรณีเหล่านี้จะมีการระบายของเหลวในปอดออกเพื่อช่วยให้หายใจง่ายขึ้น

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ

ควรการออกกำลังกายและเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่อย่าออกกำลังกายจนเกินกำลัง นอกจากนี้ การเรียนรู้วิธีการควบคุมการหายใจระหว่างออกกำลังกายก็มีความสำคัญกับผู้ป่วยมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Lung cancer. http://www.cancer.gov/publications/patient-education/wyntk_lung.pdf. Accessed July 20, 2016

Lung cancer. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lung-cancer/basics/definition/con-20025531. Accessed July 20, 2016

Non-Small Cell Lung Cancer Treatment (PDQ®)–Patient Version. http://www.cancer.gov/types/lung/patient/non-small-cell-lung-treatment-pdq. Accessed July 20, 2016

Small Cell Lung Cancer Treatment (PDQ®)–Patient Version. http://www.cancer.gov/types/lung/patient/small-cell-lung-treatment-pdq. Accessed July 20, 2016

How Is Lung Cancer Diagnosed and Treated? http://www.cdc.gov/cancer/lung/basic_info/diagnosis_treatment.htm. Accessed July 20, 2016

Lung Cancer. http://nihseniorhealth.gov/lungcancer/symptomsanddiagnosis/01.html. Accessed July 20, 2016

Lung Cancer: Lifestyle Management. http://www.nationaljewish.org/healthinfo/conditions/lungcancer/lifestyle/. Accessed July 20, 2016

Cancer. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs297/en/. Accessed July 20, 2016

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/12/2023

เขียนโดย พิมพร เส็นติระ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ที่ควรรู้และใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น

การรักษามะเร็งปอด มีกี่วิธี แล้วมีผลข้างเคียงหรือไม่อย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พิมพร เส็นติระ · แก้ไขล่าสุด 12/12/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา