มะเร็งรังไข่ เป็น มะเร็งอวัยวะเพศสืบพันธุ์ของผู้หญิง ในประเทศไทยเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับที่ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในผู้หญิงไทย โดย ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่ มีหลายประการ เช่น พันธุกรรม อายุ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งรังไข่เสมอไป การหมั่นสังเกตปัจจัยเสี่ยง อาจช่วยลดการเกิดของโรคได้มากยิ่งขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่
ปัจจัยต่อไปนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่
- อายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่จะพบได้บ่อยมากขึ้นเมื่ออายุประมาณ 40-45 ปี ขึ้นไป หรือวัยหมดประจำเดือน แต่มะเร็งรังไข่บางชนิดอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุน้อยได้
- พันธุกรรม เกิดจากยีนที่บกพร่องที่เกิดจากการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม ได้แก่ BRCA1 BRCA2 เป็นกลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ในเซลล์ปกติ หากยีนเกิดการทำงานผิดปกติอาจทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่สูงขึ้น รวมไปถึงบุคคลที่มีประวัติครอบครัวหรือญาติที่ใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้
- ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร หรือภาวะมีบุตรยาก ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรตอนอายุ 35 ปีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่มากกว่าบุคคลที่เคยตั้งครรภ์หรือมีบุตร เนื่องจากเมื่อผู้หญิงมีการตกไข่ การซ่อมแซมคอร์ปัสลูเทียม หรือถุงน้ำที่ไข่ขับออกมา สามารถทำให้เกิดการกลายพันธ์ุและแปรเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งรังไข่ได้
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปเจริญเติบโตผิดที่นอกโพรงมดลูก โดยอาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก รวมถึงอาจเล็ดลอดเข้าไปในช่องท้องและเจริญเติบโตอยู่ตามอวัยวะอื่น ๆ เช่น เยื้อบุช่องท้อง ผนังลำไส้ รังไข่
- รักษาด้วยฮอร์โมนหลังวัยหมดประจำเดือน เป็นการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนมากกว่า 5 ปีหลังหมดประจำเดือน โดยการใช้เอสโตรเจนเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับโปรเจสเตอโรน อาจมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ใช้
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบ เช่น
- การรับประทานอาหาร หากรับประทานอาหารจำพวกเนื้อแดง อาหารแปรรูป เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่ได้ เนื่องจากอาหารแปรรูปอาจมีสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ที่อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่
- การใช้แป้งทัลคัม คือแป้งที่มีองค์ประกอบของสารทัลค์ ซึ่งเป็นสารแร่ใยหินที่มีแมกนิเซียม ซิลิคอน และออกซิเจน หากใช้กับบริเวณอวัยวะเพศหรือบนผ้าอนามัย สารเหล่านี้อาจเข้าไปสู่ช่องคลอด มดลูก และท่อนำไข่ไปยังรังไข่ได้ ที่อาจเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งได้ โดยยังมีงานวิจัยที่กล่าวถึงผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวัง
- การสูบบุหรี่ อาจไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่โดยรวม แต่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง หรือโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย
การป้องกัน และการลด ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่
เนื่องจากมะเร็งรังไข่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่วิธีเหล่านี้อาจช่วยป้องกัน และลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่ได้ เช่น
- การใช้ยาคุมกำเนิด ผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดอาจลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ แต่ยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นอาจต้องหารือกับคุณหมอว่ามีผลประโยชน์หรือความเสี่ยงมากกว่ากันในสถานการณ์นั้น ๆ ผู้หญิงที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮฮร์โมนรวม อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยมีการวิจัยพบว่าหากรับประทานนานเท่าไรยิ่งลดความเสี่ยงลง และยังคงลดอยู่หากหยุดรับประทานไปแล้ว 10 ปี
- การตรวจภายในและพบสูตินารีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวหรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่
- การตั้งครรภ์ มีการสมมุติฐานว่า ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเท่าไร อาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งรังไข่ ดังนั้นการมีบุตรช่วยให้ห่างไกลจากการตกไข่ และฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลา 9 เดือน ในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามการตั้งครรภ์อาจไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดในการลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่
- การตัดมดลูก เป็นการเอามดลูกออกโดยที่ไม่ได้ตัดรังไข่ทิ้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่
รวมไปถึงการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้อย่างเป็นประจำอาจจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่