backup og meta

มาทำความรู้จักกับ อาการลูคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2021

    มาทำความรู้จักกับ อาการลูคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว

    โรคมะเร็ง เพียงแค่ได้ยินชื่อนี้หลายคนคงรู้สึกกลัว และเป็นกังวล เพราะโรคมะเร็งนั้นมีหลากหลายชนิด ทั้งมีระยะที่แตกต่างกันไปใน ซึ่งขึ้นอยู่กับบริเวณที่เซลล์มะเร็งเกิดขึ้น โดยส่วนมากโรคมะเร็งนั้น มักจะไม่ค่อยแสดงอาการใด ๆ ออกมาให้เห็นในระยะเริ่มแรก หรือบางครั้งอาการที่แสดงออกมา อาจทำให้คุณคิดว่า อาจไม่ใช่อาการของโรคมะเร็ง และรักษาอาการที่เกิดขึ้นเพียงให้ทุเลาลง แต่วันนี้ Hello คุณหมอจะพาไปรู้กับ อาการลูคีเมีย หรืออาการของโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว ว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้สังเกตตัวเองกัน

    มะเร็งเม็ดเลือดขาว คืออะไร

    มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคมะเร็งที่ภาวะของไขกระดูก หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell) ทำงานผิดปกติ มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์เหล่านี้แบบไม่มีหยุด ซึ่งสิ่งนี้เป็นการรบกวนการทำงานในการสร้างเม็ดเลือดปกติของร่างกายภายในไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ และเกล็ดเลือดลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกผิดปกติ ติดเชื้อง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งยังสามารถลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของอวัยวะได้อีกด้วย

    อาการลูคีเมีย มีอะไรบ้างให้คุณได้สังเกตเห็น

    อาการของ มะเร็งเม็ดเลือดขาว นั้น มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ซึ่งอาการส่วนใหญ่ที่พบ ก็คือ

    • มีไข้ และหนาวสั่น
    • มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
    • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • ต่อมน้ำเหลือง ตับหรือม้ามโต
    • มีเลือดออกง่ายผิดปกติ เช่น เลือดออกตามไร้ฟัน เลือดกำเดาไหลง่าย หากเป็นผู้หญิงอาจมีประจำเดือนมามาก
    • รู้สึกเจ็บ หรือปวดกระดูกภายใน
    • การติดเชื้อซ้ำ ๆ เช่น แผลในปาก เจ็บคอ ไอ ปัสสาวะบ่อย
    • เบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง
    • เกิดรอยช้ำ หรือจ้ำเขียวต่าง ๆ บนร่างกาย

    อาการลูคีเมียในวัยเด็กกับในผู้ใหญ่ แตกต่างกันหรือไม่

    โดยทั่วไปอาการ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ อาการลูคีเมีย ในวัยเด็กกับผู้ใหญ่นั้น มีอาการที่เหมือนกัน แต่อาจแตกต่างกันไปในบางกรณี โดยอาการของเด็กที่แสดงออกมานั้น อาจจะมีอาการที่ทรมานมากกว่าผู้ใหญ่

    การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

    การวินิจฉัยโรคมีหลากหลายประเภท ซึ่งการตรวจสามารถระบุได้ว่าคุณเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทไหน โดยการวินิจฉัยมีดังนี้

  • การตรวจเลือด – เป็นการตรวจเบื้องต้น เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดแล้วนำไปตรวจดูว่ามีระดับเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดมีความผิดปกติหรือไม่
  • การเจาะตรวจไขกระดูก – แพทย์จะทำการใช้เข็มดูด และตัดชิ้นเนื้อบริเวณหลังกระดูกสะโพก หรือหลังกระดูกเชิงกราน เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของเซลล์เม็ดเลือดขาว ระยะเวลาในการเจาะประมาณ 10-15 นาที
  • การตรวจชิ้นเนื้อ – อาจทำให้พบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เข้าไปในเยื่อหุ้มสมอง และไขสันหลัง
  • การตรวจภาพถ่ายรังสีทรวงอก – การตรวจภาพถ่ายรังสีหน้าอกเพื่อตรวจหัวใจ ปอด และดูว่ามีต่อมน้ำเหลืองโตที่หน้าอก หรือไม่
  • การรักษาโรค มะเร็งเม็ดเลือดขาว

    วิธีการรักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาว ขึ้นอยู่กับประเภทของมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งมีวิธีการรักษา ได้แก่

  • เคมีบำบัด หรือคีโม คือ การใช้ยาต้านมะเร็งเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการใช้ยาเคมีบำบัดอาจมีผลข้างเคียงบางอย่างต่อร่างกาย เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ ฯลฯ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาในรูปแบบรับประทาน ยาฉีด หรือใช้ทั้ง 2 ชนิดควบคู่กันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของ มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก แพทย์จะใช้เคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดทำลายไขกระดูกที่มีเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้น แพทย์จะนำเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดหรือไขกระดูกของตัวผู้ป่วย ญาติพี่น้อง หรือผู้บริจาคที่สเต็มเซลล์เข้ากันได้ มาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยหลังจากได้รับรักษาแล้ว
  • การฉายรังสีบำบัด การใช้รังสีเอกซเรย์เข้าไปทำลาย และหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาโดยฉีดสารบางอย่างเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้ว่าเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นเป็นเซลล์ผิดปกติ หลังจากนั้น ก็ทำลายเซลล์ ซึ่งอาจส่งผลทำให้มีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ตามมา
  • การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเซลล์ปกติ ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียง เช่น อาการบวม ท้องอืด น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน 
  • หากคุณรู้เกี่ยวกับอาการลูคีเมียแล้ว อย่าเพิกเฉยว่าอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรร้ายแรง แต่ความจริง เราไม่สามารถรู้ตัวได้เลยว่า มะเร็งกล้ำกรายเข้ามาในร่างกายเราเมื่อใด ฉะนั้น ทางที่ดีหากคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา