หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อแปลก ๆ กี่ยวกับโรคเบาหวาน เช่น เมื่อเป็นโรคเบาหวานห้ามกินน้ำตาลเด็ดขาด คนอ้วนเท่านั้นที่จะเป็นเบาหวาน ซึ่งบางครั้ง ความเชื่อเกี่ยวกับเบาหวาน เหล่านี้ อาจไม่เป็นความจริง หากเชื่อเช่นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารน้ำตาลสูงเป็นประจำเพราะคิดว่าตัวเองไม่อ้วน ยังไงก็ไม่เป็นเบาหวาน การรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเบาหวาน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM) คืออะไร
โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus : DM) เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายไม่สามารถดึงกลูโคส ซึ่งเป็นน้ำตาลรูปแบบหนึ่งไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ทำให้กลูโคสสะสมในกระแสเลือด เป็นเหตุให้น้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่นำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์ เพื่อเก็บไว้หรือใช้เป็นพลังงานได้อย่างเพียงพอ หรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคเบาหวานแบ่งออกเป็นกี่ชนิด
ชนิดของโรคเบาหวาน สามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นภาวะที่ร่างกายหยุดการผลิตอินซูลิน ดังนั้น ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลินทุกวัน ส่วนใหญ่แล้วเบาหวานชนิดที่ 1 จะพัฒนาในวัยเด็กหรือวัยรุ่น แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกวัย
เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นผลมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้อย่างเพียงพอ หรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างเหมาะสม หรือที่เรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน เบาหวานชนิดที่ 2 มักจะเกิดขึ้นในคนที่อายุมากกว่า 40 ปีและผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่า วัยหนุ่มสาวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่น
ความเชื่อเกี่ยวกับเบาหวาน
เรามาดูกันว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเบาหวาน ที่คุณทราบจริงหรือเท็จประการใดบ้าง
1. ถ้าครอบครัวไม่เคยมีใครป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ไม่ต้องกังวล
หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น แต่ต่อให้ไม่เคยคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ก็มีสิทธิ์เป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน เนื่องจากเบาหวานสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน พันธุกรรม รวมถึงปัจจัยอื่นอย่างไวรัสบางชนิด ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานได้
2. ถ้าเป็นเบาหวานแล้ว จะไม่สามารถกินน้ำตาลได้อีกตลอดชีวิต
เนื่องจากโรคเบาหวานส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด หลายคนจึงคิดว่าต้องหลีกเลี่ยงน้ำตาล และอาหารที่มีน้ำตาล แต่อย่างไรก็ตาม การกินน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการออกกำลังกาย ก็จะทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถกินน้ำตาลได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องกินในปริมาณที่พอเหมาะ
สำหรับวิธีการควบคุมน้ำตาล คือ ไม่ใช่แค่งดน้ำตาลทราย แต่จำเป็นต้องควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ อาหารที่เป็นแป้ง เช่น ขนมปัง และอาหารที่มีน้ำตาลมาก อย่างลูกอม หรือของหวาน รวมถึงน้ำผลไม้ นม และผลไม้ที่มีคาร์โบไฮเดรตด้วย
3. คนอ้วนเท่านั้นที่เป็นโรคเบาหวาน
ความอ้วน หรือ น้ำหนักเกิน เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ไม่ใช่สาเหตุโดยตรง บางคนที่อ้วนอาจไม่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ขณะเดียวกันผู้ที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติก็สามารถเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถป้องกันได้ และไม่เกี่ยวกับเรื่องน้ำหนัก การไม่ออกกำลังกาย หรือปัจจัยทางการใช้ชีวิตอื่น ๆ
4. ยาเม็ดอินซูลิน ช่วยโรคเบาหวานได้
อินซูลิน เป็นโปรตีนที่ไม่สามารถได้รับจากการกินได้ เนื่องจากถ้ากินเข้าไปกระเพาะอาหารจะย่อยอินซูลินจนหมด ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวาน จึงต้องรับอินซูลินโดยการฉีดเข้าร่างกาย หรือใช้อินซูลินปั๊ม (Insulin pump) บนผิวหนัง
ส่วนยารักษาโรคเบาหวาน จะช่วยให้ร่างกายผลิตอินซูลินมากขึ้น และใช้อินซูลินในร่างกายได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ตับผลิตน้ำตาลในเลือดน้อยลง รวมถึงช่วยจำกัดการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตหลังจากรับประทานอาหารด้วย
5. คุณรู้สึกได้ เวลาที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง
อาการที่พบบ่อยเวลาที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูง ได้แก่ กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง อ่อนเพลีย และสายตาพร่ามัว นอกจากนี้ การมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอาจกระตุ้นให้ตัวสั่น เหงื่อออก หงุดหงิด วิงเวียนศรีษะ และสูญเสียความสามารถในการควบคุมการเคลื่อนไหว
แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานก็จะไม่สามารถรับรู้ถึงปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากสมองสามารถปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงและต่ำ โดยที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่รู้สึก ดังนั้น จึงต้องตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ไม่ควรวัดจากความรู้สึกของตนเอง
6. การออกกำลังกายไม่ช่วยป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การออกกำลังกาย ถือเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากการออกกำลังกายช่วยเผาผลาญกลูโคส และทำให้เซลล์ไวต่ออินซูลินมากขึ้น
นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการ New England Journal of Medicine ให้ข้อมูลว่า การกินยารักษาโรคเบาหวานอาจไม่เพียงพอ ควรออกกำลังกายควบคู่ด้วย เนื่องจากผลการวิจัยพบว่า การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์โดยการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน 58% ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่กินยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน 31% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินยาหลอก