ค่าน้ำตาลในเลือด คือ ค่าความเข้มข้นของน้ำตาล หรือระดับกลูโคสในเลือด ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อาหารที่รับประทาน กิจกรรมที่ทำ ความไวของร่างกายต่ออินซูลิน โดยหากค่าน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำกว่าค่าปกติสามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้
[embed-health-tool-bmi]
ค่าน้ำตาลเลือด คืออะไร
ค่าน้ำตาลในเลือด คือ ค่าความเข้มข้นของน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยหลังจากรับประทานอาหาร ร่างกายจะย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาล เเละน้ำตาลนี้ถูกส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายผ่านกระแสเลือด เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้มีแรงในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หากร่างกายขาดหรือมีน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป อาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้า หรืออ่อนเพลียได้
ค่าน้ำตาลในเลือดเกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร
โดยทั่วไปเเล้วจะเเนะนำให้ตรวจค่าน้ำตาลในเลือด หลังจากงดอาหารมาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล ทำให้ทราบถึงความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และช่วยในการติดตามผู้ที่เป็นโรคเบาหวานว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดดีเพียงใด
ค่าน้ำตาลในเลือดแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ
ในบุคคลทั่วไป หากมีค่าน้ำตาลในเลือดน้อยต่ำกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้วมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การอดอาหารเป็นเวลานาน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะพร่องฮอร์โมน ต่อมหมวกไต การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในขนาดสูงไป มีภาวะโรคไต โรคตับอักเสบ ซึ่งทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เหงื่อออกมาก
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยล้า
- อ่อนเเรงแขน-ขา เดินเซ
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด วิตกกังวล
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง พูดไม่ชัด ไม่มีสมาธิ
- อาการชัก และหมดสติ
หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และหาสาเหตุเพิ่มเติม อาจบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม หรือรับประทานลูกอม เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลให้สูงขึ้นก่อน
ค่าน้ำตาลในเลือดปกติ
คือค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ทำการตรวจหลังงดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงแล้วไม่เกิน 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ด้วยการรับประทานที่ดีต่อสุขภาพ ดังนี้
- ผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลไม่สูง เช่น กะหล่ำดอก คะน้า ฝรั่ง แอปเปิ้ล มะเขือเทศ
- ธัญพืชไม่ขัดสี หรืออาหารประเภทแป้งที่ทำจากธัญพืช เช่น ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง
- อาหารที่มีไขมันดี เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง ปลาทู ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน
นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที จะช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายสามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ค่าน้ำตาลในเลือดสูง
คือค่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร 8 ชั่วโมงสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หรือหากตรวจเมื่อไม่ได้งดอาหาร เเล้วมีค่าระดับน้ำตาลสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยอาจมีสาเหตุมาจากการบริโภคกลุ่มอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย มีภาวะบางประการที่ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้การควบคุมจัดการระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกายผิดปกติ นำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจทำให้มีอาการ ได้ดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ/เวียนศีรษะ
- เหนื่อยล้าง่าย อ่อนแรง น้ำหนักลดผิดปกติ
- กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย
- ไม่มีสมาธิ
- แผลหายช้า
- เจ็บหน้าอก หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ไตวาย
- เส้นประสาทเเสื่อมลงทำให้มือชา เท้าชา หรือมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
หากมีอาการดังข้างต้น ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการตรวจละเอียดเพิ่มเติม
วิธีการตรวจค่าน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองเบื้องต้น
ผู้ป่วยเบาหวานสามารถตรวจน้ำตาลในเลือดเบื้องต้นได้เองที่บ้าน โดยใช้เครืองตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว (ที่มีมาตรฐาน) ซึ่งตัวเครื่องจะมีหน้าจอบอกค่าระดับน้ำตาล แถบทดสอบสำหรับหยดเลือด เเละจะต้องมีชุดเข็มทางการเเพทย์สำหรับใช้เจาะเลือดปลายนิ้ว โดยขั้นตอนวิธีตรวจ อาจทำได้ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
- เปิดเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดปลายนิ้วและนำแถบทดสอบระดับน้ำตาลสอดเข้ากับเครื่องตรวจ
- เช็ดแอลกอฮอล์บริเวณปลายนิ้วมือที่จะเจาะเลือด
- ใช้ชุดเข็มสำหรับเจาะเลือดปลายนิ้ว เจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือและบีบปลายนิ้วเบา ๆ ให้เลือดหยดลงบนแถบกระดาษทดสอบ
- ทำความสะอาดปลายนิ้วมือและปิดแผลเบา ๆ เพื่อห้ามเลือด
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดจะปรากฏขึ้นบนจอ
แนะนำให้ทำการจดบันทึกว่าค่าน้ำตาลในเลือดในเเต่ละครั้ง รวมถึงช่วงเวลาที่ทำการตรวจ เช่น ก่อน/หลังจากรับประทานอาหาร หลังการออกกำลังกาย เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา เมื่อไปพบคุณหมอ