backup og meta

เครื่องวัดน้ำตาล คืออะไร ใช้งานอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    เครื่องวัดน้ำตาล คืออะไร ใช้งานอย่างไร

    เครื่องวัดน้ำตาล คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยการวิเคราะห์เลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 สามารถทำเองได้ที่บ้าน และควรหมั่นวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินสุขภาพของตนเอง ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน หากพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ ควรรีบปรึกษาคุณหมอ

    เครื่องวัดน้ำตาล คืออะไร 

    เครื่องวัดน้ำตาล คือ อุปกรณ์ทดสอบระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานรักษาและหมั่นดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยในปัจจุบันการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทำได้เองที่บ้าน สามารถซื้อเครื่องวัดน้ำตาลได้ตามร้านขายยา ทั้งนี้ คุณสมบัติของเครื่องวัดน้ำตาลอาจขึ้นอยู่กับยี่ห้อและราคา

    ค่าระดับน้ำตาลในเลือด 

    ระดับน้ำตาลในเลือดที่ปกติ คือประมาณ 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากค่าที่ตรวจได้สูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม การควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และ 2 โดยระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารควรอยู่ที่ประมาณ 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และระดับน้ำตาลหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมงควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

    นอกจากนี้ การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคส (Fasting Plasma Glucose หรือ FPG) เป็นการทดสอบน้ำตาลในเลือดหลังจากงดอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ยกเว้นการดื่มน้ำเปล่าเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการทดสอบ ซึ่งมักจะทดสอบก่อนรับประทานอาหารเช้า เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ โดยค่าปกติ คือ น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากระดับประมาณ 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจบ่งชี้ได้ว่าเริ่มมีอาการภาวะก่อนเบาหวาน ทั้งนี้ หากระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายความว่าเป็นโรคเบาหวาน 

    ทำไมถึงต้องวัดน้ำตาลในเลือด 

    ประโยชน์ของการทดสอบวัดน้ำตาลในเลือด มีดังนี้ 

    • รู้ระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงหรือต่ำ
    • ติดตามผลของยารักษาโรคเบาหวานต่อระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการประเมินผลการรักษา
    • เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง เมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการออกกำลังกายว่ามีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่ 
    • ช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หากผลตรวจมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือระดับต่ำเกินไป เพื่อรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

    เมื่อไรควรตรวจน้ำตาลในเลือด 

    ความถี่ของการตรวจน้ำตาลในเลือดขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวานและการรักษา ดังนี้ 

    • เบาหวานชนิดที่ 1 อาจจะต้องตรวจเลือดในน้ำตาลประมาณ 4-10 ครั้ง/วัน เช่น 
      • ก่อนรับประทานอาหาร 
      • ก่อนและหลังออกกำลังกาย 
      • ก่อนนอน 

    ทั้งนี้ หากมีอาการป่วย เปลี่ยนการใช้ยา รวมถึงการเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันที่เคยทำ ควรตรวจน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้นและจดบันทึก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลง 

  • เบาหวานชนิดที่ 2 หากรักษาด้วยอินซูลิน คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจน้ำตาลในเลือดหลายครั้งต่อวัน ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของอินซูลินที่ใช้ โดยทดสอบก่อนรับประทานอาหารและก่อนนอน ทั้งนี้ หากฉีดอินซูลินหลายครั้ง อาจต้องทดสอบก่อนรับประทานอาหารเช้าและอาหารเย็น สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้รักษาด้วยอินซูลิน อาจไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจน้ำตาลในเลือดทุกวัน 
  • บุคคลที่ควรใช้เครื่องวัดน้ำตาล 

    ผู้ที่ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น 

  • ผู้ที่เคยมีประวัติน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
  • ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รักษาด้วยอินซูลินและไม่ได้รักษาด้วยอินซูลิน 
  • ผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคไต
  • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • วิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด

    ขั้นตอนการทดสอบน้ำตาลในเลือด มีดังนี้ 

    • ล้างมือให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการปนเปื้อนของอาหารหรือสารที่สัมผัสก่อนหน้านั้น ซึ่งอาจส่งผลทำให้เครื่องวัดน้ำตาลแสดงค่าผิดพลาดได้
    • ใส่แถบทดสอบลงในเครื่องวัดน้ำตาล 
    • นำเข็มหรือปากกาที่ใช้สำหรับเจาะเลือดโดยเฉพาะ จิ้มที่บริเวณปลายนิ้ว
    • บีบหยดเลือดลงบนแถบทดสอบ   
    • รอผลการทดสอบประมาณ 1 นาที
    • จดผลบันทึกในการทดสอบวัดระดับน้ำตาลทุกครั้ง
    • ทิ้งเข็มเจาะเลือดที่ใช้แล้วในที่ที่เหมาะสม โดยเก็บใส่ภาชนะที่มิดชิด เช่น ขวด แล้วนำไปทำลาย  
    การตรวจวัดระดับน้ำตาลควรปฏิบัติตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้ ไม่ควรใช้เครื่องวัดน้ำตาลรวมกับผู้อื่น เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อต่าง ๆ ได้ เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ หากมีปัญหาสุขภาพอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคโลหิตจาง โรคเกาต์ อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา