อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตับอ่อน มีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ด้วยการลำเลียงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานต่อไป สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยกว่าปกติหรือไม่ผลิตอินซูลิน จำเป็นต้องได้รับอินซูลินทดแทน ด้วยการรับประทานหรือฉีดอินซูลินเข้าสู่ผิวหนังเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น เบาหวานขึ้นตา ความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาว่า ฉีดอินซูลิน ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง ควรฉีดอินซูลินด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด
[embed-health-tool-bmi]
อินซูลินสำคัญอย่างไร
อินซูลิน เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงาน และช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ
หากปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงเกินความต้องการของร่างกาย อินซูลินจะลำเลียงน้ำตาลส่วนเกินไปไว้ยังตับ เพื่อสะสมเป็นพลังงานสำรองหรือที่เรียกว่าไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งสามารถแปลงกลับเป็นน้ำตาลได้เมื่อร่างกายขาดแคลนพลังงาน
ทำไมผู้ป่วยเบาหวานต้อง ฉีดอินซูลิน
ตับอ่อนของผู้ป่วยเบาหวานมักผลิตอินซูลินไม่ได้หรือได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่อง ส่งผลให้ร่างกายมีระดับน้ำในเลือดที่สูงกว่าปกติ และเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องฉีดอินซูลินทดแทน เพื่อทำหน้าที่เสมือนฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนในการลำเลียงน้ำตาลไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย
ฉีดอินซูลิน ผลข้างเคียง มีอะไรบ้าง
เมื่อฉีดอินซูลิน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้
- เกิดอาการคัน บวม หรือมีรอยแดง บริเวณผิวหนังที่ฉีดอินซูลิน
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากอินซูลินช่วยให้ร่างกายผู้ป่วยเบาหวานดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเป็นพลังงานได้มากขึ้น โดยพลังงานส่วนเกินจะถูกเก็บในรูปของไขมัน และไขมันสะสมที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำหนักตัวโดยรวมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- ผิวหนังบริเวณที่ฉีดอินซูลินบวมหรือบางลง เนื่องจากระดับไขมันใต้ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงหลังจากฉีดอินซูลิน
นอกจากนั้น หากมีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที
- แพ้อินซูลิน หากผู้ป่วยเบาหวานแพ้อินซูลินอาจทำให้เกิดอาการผื่นแดง คันตามร่างกาย หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียน มีอาการบวมตามใบหน้า ลิ้น หรือคาง
- เกิดภาวะโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) เนื่องจากการฉีดอินซูลิน ผลข้างเคียง อาจทำให้โพสแทสเซียมในเลือดลดต่ำลง เนื่องจากอินซูลินมีคุณสมบัติขับโพแทสเซียมจากเลือดไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้ ควรสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะโพสแทสเซียมต่ำ คือ เป็นตะคริว ไม่มีแรง หัวใจเต้นผิดปกติ ท้องผูก
- เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) มักพบในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่บริโภคอาหารน้อยเกินไป หรือออกกำลังกายหักโหมซึ่งไม่สมดุลกับระดับอินซูลินที่ร่างกายได้รับ อาการที่เป็นสัญญาณเตือนภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ได้แก่ อารมณ์แปรปรวน มือสั่น เวียนศีรษะ สับสน สายตาพร่าเบลอ หรืออยากอาหารเป็นพิเศษ
ข้อควรระวังในการฉีดอินซูลิน
การฉีดอินซูลินมีข้อควรระวัง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- ก่อนฉีดอินซูลิน ควรสอบถามคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการฉีดอินซูลิน ผลข้างเคียง อาการแพ้อินซูลิน รวมถึงประสิทธิภาพของอินซูลินเมื่อใช้ร่วมกับยาตัวอื่นที่รับประทานอยู่ เนื่องจากยาที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของอินซูลินมีหลายชนิด เช่น แอสไพริน (Aspirin) เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) ยาขับปัสสาวะ ไนอะซิน (Niacin) ออกทรีโอไทด์ (Octreotide)
- ไม่ควรเปลี่ยนยี่ห้อหรือชนิดของอินซูลินที่ใช้โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ
- ไม่ควรฉีดอินซูลิน เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เพราะจะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงไปอีก และอาจเป็นสาเหตุของอาการชักหรือหมดสติได้ ทั้งนี้ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยเบาหวานมักมีอาการวิงเวียนหรือง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
- ร่างกายของเด็กและผู้สูงอายุมักไวต่อฤทธิ์ของอินซูลิน ดังนั้น หากผู้ป่วยเบาหวานเป็นเด็กหรือผู้สูงอายุ ควรระมัดระวังมากกว่าปกติ เพราะเมื่อฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะลดต่ำกว่าปกติอย่างรวดเร็ว
- ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานหญิงระยะให้นมบุตร อินซูลินสามารถแพร่กระจายไปยังน้ำนมและส่งผ่านไปยังทารกได้ ดังนั้น ก่อนให้นมบุตรควรปรึกษาคุณหมอก่อน